ลงทุนเวลา…สร้างชีวิตลูก

เมื่อสมัยลูกยังเล็กผมได้ไปร่วมงานโรงเรียนในโอกาสวันพ่อ ผมสังเกตเห็นว่ามีเด็กหลายคนคุณพ่อไม่ได้มาร่วมงานด้วย บางคนก็เป็นคุณแม่ หรือญาติผู้ใหญ่มาทำหน้าที่เป็นคุณพ่อ เป็นไปได้ว่าคุณพ่อของเด็กอาจมีภาระหน้าที่การงานมากจนไม่สามารถปลีกตัวมาร่วมงานได้ หรือคุณพ่อบางคนอาจไม่ได้อยู่ด้วยกับเด็ก แต่จะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นเด็ก ๆ ที่คุณพ่อไม่ได้มาร่วมงานส่วนใหญ่จะดูเงียบ ๆ ไม่สดใสร่าเริงเหมือนเด็กที่คุณพ่อมาอยู่ในงานด้วย

ถ้าถามเด็กคงได้คำตอบว่าทุกคน “ต้องการ” ให้พ่อมาร่วมงานวันพ่อ เพราะการที่พ่อไม่มาร่วมงานจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ย่อมเกิดความรู้สึกแปลกแยกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานนั้นเหมือนกับเพื่อนคนอื่น ๆ

ในกรณีที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อ และพ่อไม่สามารถมาร่วมงานได้ จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม อาทิ ไปทำงานต่างจังหวัด ต่างประเทศ หย่าร้าง หรือเสียชีวิต ฯลฯ แม่และผู้ปกครองควรอธิบายให้เด็กได้เข้าใจ และมั่นใจในความรักของทุกคนในครอบครัวที่มีอยู่ เพื่อทำให้เด็กรู้สึกว่า แม้พ่อไม่ได้มาด้วยเด็กก็ไม่รู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย แต่เข้าใจและยอมรับในสถานะของตน

ในอีกมุมหนึ่ง ในกรณีที่คุณพ่อยังอยู่กับลูก แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับลูกมากเพียงพอ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของภรรยาเป็นหลัก จนละเลยความรู้สึกและความต้องการเติมเต็มในความรักความอบอุ่นของลูก เช่น ไม่ปลีกตัวไปร่วมงานในวันพ่อ เพราะเห็นงานสำคัญกว่า หรือในช่วงวันปกติ มักกลับดึกและไม่ค่อยมีเวลาช่วยทำการบ้าน ส่วนในวันหยุด อาจเล่นกับลูก ๆ บ้าง พาไปเที่ยวบ้าง ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันบ้าง แต่ในความเป็นจริง ผมอยากบอกว่า หากพ่อยังอยู่กับลูก ควรเห็นความสำคัญในการใช้เวลากับลูก และควรใช้ช่วงเวลาที่มีคุณค่านี้อย่างมีคุณภาพ

คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับแม่และมีงานวิจัยจำนวนไม่น้อย ศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของแม่ต่อพัฒนาการของเด็กพบว่า เด็กที่ขาดแม่เลี้ยงดูจะมีความบกพร่องในการพัฒนาหลายด้าน เช่น ในวัยทารกอาจทำให้เด็กเลี้ยงไม่โต ภูมิคุ้มกันไม่ดี ติดเชื้อง่าย และเสียชีวิตได้ เป็นต้น แต่ขณะเดียวกันพบว่า พ่อเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากต่อชีวิตของเด็กมากเช่นกัน

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ชัดว่า เด็กที่มีพ่อเข้ามาช่วยเลี้ยงดูตั้งแต่เล็ก จะเป็นคนที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความกล้าหาญ ไม่ขลาดกลัว มีความเชื่อมั่นในตนเอง รักการผจญภัย ชอบที่จะออกไปค้นหาและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเมื่อโตขึ้นจะมีทักษะทางสังคมที่ดีกว่าเด็กที่พ่อไม่ค่อยเข้ามาดูแล

เว็บไซต์ Childwelfare.com ของกระทรวงสาธารณสุข สหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Health and Human Services) ยืนยันว่า พ่อนั้นมีบทบาทต่อการเรียนรู้ของลูกมาก เด็ก ๆ ที่พ่อมีส่วนร่วมในเรื่องการศึกษาจะมีผลการเรียนที่ดีกว่า งานวิจัยหลายชิ้นยังพบด้วยว่า ลูกที่พ่อมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดู และเล่นด้วยตั้งแต่ลูกยังเป็นทารกนั้น จะมี IQ สูงกว่า รวมทั้งมีความสามารถด้านภาษาและการเรียนรู้ที่ดีกว่าอีกด้วย ส่วนลูกวัยเตาะแตะที่พ่อมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูนั้น จะมีความพร้อมในการเรียนมากกว่า มีทักษะภาษาดีกว่า และมีการเรียนรู้ที่เร็วกว่า มีผลการเรียนดีกว่า รวมทั้งยังใจเย็นและรับมือกับความเครียดและกังวลใจเกี่ยวกับการเรียนได้ดีกว่าเด็กที่พ่อไม่มีส่วนร่วม

การใช้เวลาของพ่อกับลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม จะส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็ก ตลอดช่วงวัย ตั้งแต่ วัยเด็ก วัยรุ่น และต่อเนื่องถึงวัยผู้ใหญ่  เด็กที่มีพ่อเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้ทั้งลูกชายและลูกสาวนั้นมีการพัฒนาทางเพศที่ถูกต้อง เหมาะสม โดยเฉพาะลูกสาวสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับผู้ชายได้อย่างดีอีกด้วย

พ่อควรใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ

ในฐานะพ่อ แม้ว่าจะมีภาระหน้าที่การงานมากมาย ผมเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อควรจัดสรรเวลาเพื่อการดูแลลูกอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ลูกเติบโตและสมบรูณ์พร้อมในการเผชิญชีวิตต่อไปในภายภาคหน้า ซึ่งการใช้เวลาให้เกิดผลดีต่อลูกมากที่สุด อาจไม่ต้องเสียเวลามาก แต่ใช้เวลาที่มีนั้นอย่างมีคุณภาพ อาทิ

ช่วยเลี้ยง พ่อควรตั้งใจและเต็มใจที่จะมีส่วนช่วยเลี้ยงลูก ทุกเวลาที่มีโอกาส เช่นเมื่อลูกยังเป็นทารกให้ช่วยป้อนนม อุ้มกล่อมนอน เปลี่ยนผ้าอ้อม ยินดีตื่นขึ้นมากลางดึกเมื่อลูกร้อง เป็นต้น การที่คุณพ่อช่วยเลี้ยงดูนอกจากเป็นการแบ่งเบาภาระคุณแม่แล้ว ยังทำให้สัมพันธภาพภายในครอบครัวดี ส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยอีกด้วย เมื่อลูกโตขึ้น ให้หาเวลาทำหน้าที่สอนการบ้าน ให้คำปรึกษาการเรียนของลูก อาจตั้งเวลากลับบ้าน หรือสื่อสารกันทางสื่อออนไลน์ แม้ต้องทำงานไปด้วย ก็ควรปลีกเวลาให้กับลูกด้วย การที่พ่อให้ความเอาใจใส่ในการเรียนของลูก คอยถามไถ่เรื่องการเรียนของลูก มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่โรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ลูกรับรู้ว่าพ่อเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ ส่งผลให้เขารักการเรียนด้วยตนเองในที่สุด

ช่วยเล่น การเล่นถือเป็นช่วงเวลาผ่อนคลาย และสร้างความสัมพันธ์ได้อย่างดี มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า เด็ก ๆ จะชอบเล่นกับพ่อ มากกว่าเล่นกับแม่ เพราะการเล่นของพ่อจะน่าตื่นเต้น สนุกสนาน ท้าทาย โลดโผน เหมือนเล่นของเล่นในสวนสนุก แตกต่างจากการเล่นของแม่ ที่มักจะเรียบง่าย และระมัดระวัง เพราะกลัวลูกได้รับอันตราย

ที่สำคัญ การเล่นกับพ่อจะช่วยฝึกเด็ก ในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง ดังนั้นพ่อจึงควรหาเวลาเล่นกับลูกอยู่เสมอ ในสมัยที่ลูกของผมยังเด็ก แม้ภาระการงานของผมจะมาก ผมจะจัดเวลาเล่นกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าลูกอยากจะเล่นอะไรผมจะเล่นกับพวกเค้าด้วยอย่างเต็มที่ นอกจากเป็นการส่งเสริมพัฒนาการของลูกแล้ว ยังนำมาซึ่งความสุขแก่ลูกและตัวผมเองด้วยเช่นกัน

ช่วยอบรมสั่งสอน บทบาทการอบรมสั่งสอนทักษะความสามารถต่าง ๆ รวมถึงคุณธรรมจริยธรรมเป็นหน้าที่โดยตรงของพ่อแม่ เด็กคือกระจกเงาคุณลักษณะชีวิตของพ่อแม่ เด็กเป็นคนดี แนวโน้มมาจากพ่อแม่ที่อบรมสั่งสอนลูกเป็นอย่างดี พ่อจึงควรทำหน้าที่ชี้ให้ลูกรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เพราะเหตุใด ถ้าลูกทำไม่ถูกต้อง ต้องเรียกมาอบรม ตักเตือน สั่งสอน ไม่ปล่อยให้เด็กทำผิดพลาด แต่ควรสอนด้วยอารมณ์ปกติ ใช้เหตุผล แม้ลงโทษก็ต้องใช้วิธีที่เหมาะสม ทำด้วยความรักและอธิบายเหตุผล เพื่อทำให้เด็กไม่ต่อต้าน ยอมรับและไม่กลับไปทำผิดอีก

ในการอบรมสั่งสอน ให้หลีกเลี่ยงไม่ใช้วิธีบ่น ตำหนิ ตอกย้ำความผิดของเด็ก หรือลงโทษด้วยความรุนแรง ทั้งทางคำพูดและการกระทำ เพราะแทนที่จะเกิดผลดี อาจส่งผลตรงกันข้ามคือ การต่อต้านในที่สุด

ช่วยแนะนำ ประสบการณ์ของพ่อแม่จะมีส่วนช่วยลูกได้อย่างมากในการให้คำแนะนำในเรื่องสำคัญต่างๆ เช่น การเรียนต่อ การเลือกอาชีพ ที่ทำงาน การเลือกคู่ครอง เป็นต้น พ่อจึงควรทำหน้าที่ให้คำแนะนำในการตัดสินใจเรื่องสำคัญต่าง ๆ

ช่วยให้รู้ว่า พ่อแม่เป็นใคร ทำอะไร ลูกอยากเป็นส่วนหนึ่งของพ่อแม่ อยากรู้ว่าพ่อแม่ทำงานอะไร ใช้ชีวิตที่ทำงานอย่างไร ทำงานอะไร เหน็ดเหนื่อยอย่างไร การให้ลูก ๆ ได้เห็นและรู้จักชีวิตส่วนตัว ชีวิตประจำวันของเรา จะช่วยให้เขาเข้าใจและยอมรับเราได้ เช่น ในช่วงปิดเทอม บางวันอาจพาเขามาที่ทำงาน เพื่อให้เด็กจะได้มีโอกาสเห็นการทำงานของผู้ใหญ่ ได้เห็นความเหนื่อยยากในการทำงานของพ่อแม่ และทำให้เข้าใจว่า ในบางเวลา พ่อแม่ไม่สามารถไปกับเขาได้ เพราะทำงานที่มีความสำคัญอยู่ เกิดความคิดที่มีเหตุผล มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

มีคำกล่าวที่ว่า ไม่ว่าเราจะต้องลงมือทำอะไร ทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลาทั้งสิ้น
หากสิ่งที่ลงมือทำนั้นไม่มีคุณค่า ไม่มีความสำคัญ เราจะเรียกว่า การเสียเวลา แต่หากสิ่งที่เราทำนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและมีคุณค่า เราจะเรียกว่า การลงทุนเวลา ในการใช้เวลากับลูก ๆ นั้นสำหรับผมแล้ว ไม่มีคำว่า เสียเวลาเลย เพราะทุกนาทีที่ได้ใช้เวลากับพวกเขา เป็นการลงทุนเวลาที่คุ้มค่ายิ่ง เพราะได้มีส่วนสร้างชีวิตของพวกเขาให้เติบโตได้อย่างสง่างาม

ที่มา: แม่และเด็ก
ปีที่ 39 ฉบับที่ 528 กุมภาพันธ์-มีนาคม 2559

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :  http://warnet.ws/img5/220/otcq/47.jpg