ยุทธศาสตร์การเกษตรเพื่อการสร้างชาติ

แม้ไทยจะยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารสำคัญของโลกหลายชนิด แต่สัดส่วนภาคเกษตรต่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงและผันผวนมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ อีกทั้งแรงงานในภาคเกษตรมีแนวโน้มแก่ชราลงเรื่อย ๆ ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรไทยต้องเผชิญความท้าทายที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน

.
ที่ผ่านมาพื้นที่เกษตรไทยเกือบร้อยละ 50 ถูกใช้ปลูกข้าว นอกจากนั้นราว 1 ใน 3 ใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจเพียง 5 ชนิดหลัก คือ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซ้ำผลผลิตต่อไร่ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ขณะที่ทั้งการแปรรูปสินค้าเกษตรไทยก็ยังไม่สามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดองค์ความรู้ และการใช้เทคโนโลยีถูกพูดถึงและนำมาใช้เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ
.
ผมมีความตั้งใจจะยกระดับเกษตรกรไทยโดยได้เสนอนโยบายต่าง ๆ มาตลอดหลายสิบปี ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศกำลังเปลี่ยนแปลง จึงต้องการเสนอและเน้นย้ำนโยบายภาคเกษตรไทยต่อบุคคลผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งผมเน้นว่าการที่ภาคเกษตรไทยจะเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้นั้น ต้องมียุทธศาสตร์และทำให้ครอบคลุมทั้งองคาพยพดังนี้
.
1. จัด Zoning ที่ดินเกษตรทั่วประเทศ
ภาครัฐควรสำรวจวิจัยพื้นที่ทั้งประเทศโดยมีเป้าหมายเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับคุณสมบัติในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนเกษตรกรให้ปรับการผลิตให้สอดคล้องกับแผนผังที่ดินอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน โดยใช้มาตรการทางภาษีและกฎหมายเพื่อทำให้ผู้ที่ถือครองที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไร ให้นำที่ดินที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
.
2. กระจายการผลิตสินค้าเกษตร (Diversification)
เป้าหมายเพื่อลดการผลิตสินค้ากระจุกตัวกับพืชบางชนิดและเพิ่มความหลากหลายการผลิต โดยใช้สหกรณ์การเกษตรเป็นกลไกในการช่วยเชื่อมโยงในแนวตั้ง (ต้นน้ำ-ปลายน้ำ) สนับสนุนเกษตรกรในด้านปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ การแปรรูป ตลาด และช่วยเชื่อมโยงในแนวนอน (อุตสาหกรรมอื่น) เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นต้น รวมทั้งอาจมีการออกแบบระบบกระจายผลประโยชน์ เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อดึงผลกำไรมาสะสมไว้ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่มีปัญหาด้านการผลิตในอนาคต
.
3. เกษตรภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจกระแสกลาง (Agriculture within Mid-Stream Economy)
ภาครัฐอาจกำหนดทิศทางเศรษฐกิจประเทศบนฐานแนวคิด “เศรษฐกิจกระแสกลาง” ให้เปิดเสรีในยามปกติ และสามารถพึ่งตัวเองได้ในยามวิกฤต โดยมีนโยบาย Switching Policy ที่ดี โดยภาครัฐต้องเก็บข้อมูลวางแผนผลิตสินค้าภาพรวมและกำหนดสัดส่วนการผลิตปัจจัยอยู่รอด ให้เพียงพอตามหลักโภชนาการ เพียงพอทุกช่วงอายุและเพศ เพียงพอในทุกกลุ่มคน
.
4. ผลิตสินค้าเกษตรที่ขาดแคลน (Change to Production of Scarce Agricultural Product)
ตัวอย่างเช่น ข้าวหอมมะลิ ยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ช่วงระบาดโควิด ผู้ผลิตและส่งออกข้าวหลายประเทศชะลอส่งออกข้าว เริ่มจากจีนเป็นประเทศแรกที่หยุดส่งออก อินเดียประกาศปิดประเทศ หยุดส่งออก 3 สัปดาห์ กัมพูชาประกาศงดส่งออกข้าวขาวทั้งหมด เป็นต้น โอกาสจึงเป็นของประเทศไทย หากเรามองเห็นการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่โลกต้องการจะช่วยเพิ่มช่องสร้างรายได้ให้เกษตรกร และให้คนตกงานได้กลับสู่ภาคเกษตร โดยภาครัฐต้องมีบทบาทช่วยเจรจา G to G กับประเทศที่ไทยมีโอกาสนำเข้าผลผลิตได้เพิ่มขึ้น และกระจายโควตาตามศักยภาพในการผลิตของแต่ละจังหวัด
.
5. ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรที่ถูกสุขอนามัย (Hygienic Processed Agricultural Products)
ภาครัฐต้องมีตัวชี้วัดสุขอนามัย และยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขเพื่อให้ภาคเกษตรพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น เกษตรอินทรีย์ สมุนไพร อาหารแปรรูป อาหารเพื่อสุขภาพและองค์ความรู้ (Know How) ในการทำการเกษตร เพื่อตอบสนองต่อคนที่หันมาปลูกผักกินเองมากขึ้น
.
6. ใช้เครื่องจักรกลการเกษตร (Farm Mechanization)
เป้าหมายเพื่อให้เครื่องจักรกลซึ่งมีผลิตภาพสูงกว่าทำเกษตรแทนคนและผลักดันเกษตรกรบางส่วนให้ไปทำกิจกรรมที่เครื่องจักรทำแทนไม่ได้ ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดฟาร์มขนาดใหญ่ที่ทำเกษตรด้วยเครื่องจักรจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้อย่างมาก โดยภาครัฐควรมีเป้าหมายให้เหลือแรงงานเกษตรเพียงร้อยละ 1 และหันไปสนับสนุนเครื่องจักรกลเกษตรทันสมัยและสนับสนุนการรวมแปลงเกษตรขนาดใหญ่ทดแทน ตัวอย่างเช่น เกษตรกรในบราซิล ทำฟาร์มเกษตรขนาดเล็กมีอยู่ประมาณ 5 ล้านราย สร้างผลผลิตร้อยละ 7 ของผลผลิตจากฟาร์มทั้งหมด ขณะที่ฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่มีอยู่ประมาณ 1.6 ล้านราย สร้างผลผลิต ร้อยละ 76 ของผลผลิตจากฟาร์มทั้งหมด เป็นต้น
.
7. พัฒนาการเกษตรดิจิตอลและหุ่นยนต์ (Digitalized and Robotized Agriculture)
บทบาทภาครัฐคือการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เช่น E-Commerce, Big Data ภาพถ่ายดาวเทียม, AI + Machine Learning ที่สามารถแนะนำการใช้น้ำ ปุ๋ยที่ต้องใช้ พยากรณ์อากาศ, QR Trace ตรวจสอบย้อนกลับ หรือ หุ่นยนต์แขนกลทำแปลงเกษตร เป็นต้น รวมทั้งช่วยพัฒนาทักษะการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ รวมทั้งช่วยจัดหาบุคลากรด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้คำแนะนำ และ ช่วยจัดสรรเงินกู้เพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น
.
8. ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการส่งออกภูมิปัญญาการเกษตร (Agricultural Wisdom Export Centre)
เป้าหมายคือการเป็นผู้ส่งออกองค์ความรู้การผลิตด้านการเกษตร โดยภาครัฐมีบทบาทในการรวบรวมภูมิปัญญา องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตร คัดเลือกบางส่วนไปแสดงในต่างประเทศ และพยายามขึ้นทะเบียน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” ของไทยให้ได้ปริมาณมาก
.
9. กลุ่มภราดรภาพเพื่อทำการเกษตร (Agricultural Fraternity Unit)
ลักษณะเป็นการทำเกษตรร่วมกันหลายครัวเรือน เพื่อสร้างความใกล้ชิดและเพิ่มโอกาสในการบูรณาการทักษะของแต่ละคนและฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้ครบภายในกลุ่ม เช่น การตลาด การขาย การขนส่ง ลอจิสติกส์ เป็นต้น โดย เป้าหมายคือสร้างชุมชนพึ่งพาตนเอง (Self-Sustained Community) ร่วมกันเป็นแปลงใหญ่ เกิดการประหยัดต่อขนาดจากการผลิต โดยเจ้าของแปลงย่อยทุกคนได้รับประโยชน์ ซึ่งภาครัฐอาจช่วยสนับสนุนการผลิตครบวงจร และสนับสนุนการสร้างกลุ่มภราดรภาพ (Fraternity Unit) ที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้น
.
ภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศ เนื่องจากแรงงานไทยจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตร การยกระดับภาคเกษตรให้พัฒนาขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจำนวนมากในประเทศให้ดีขึ้น ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลมีความพยายามที่จะเข้ามาแก้ไขปรับปรุงภาคเกษตรไทยให้ดีขึ้น
.
แต่ยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากนัก ผมหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมาให้ความสำคัญกับการปรับปรุงภาคเกษตร ไม่เพียงแต่ใช้นโยบายประชานิยมที่สร้างคะแนนเสียงระยะสั้น แต่สามารถช่วยให้เกษตรกรไทยมีความเข้มแข็งในระยะยาวและพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *