วิสัยทัศน์ ดร. แดน : สร้าง Nation-Building University มาตรฐานฮาร์วาร์ดแห่งเอเชีย

หากเปรียบฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านการสร้างคนคุณภาพ มหาวิทยาลัยการสร้างชาติจะเปรียบได้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำเน้นเฉพาะทางด้านการสร้างคนสู่การสร้างชาติแท้จริง

         ก่อนหน้านี้ผมเคยนำเสนอความคิด มหาวิทยาลัยการสร้างชาติ (Nation-Building University) เอาไว้ในหลายเวที อันเป็นความคิดต่อยอดมาจากสถาบันการสร้างชาติ (Nation-Building Institute) ที่ผมเป็นประธานอยู่ ณ ปัจจุบัน (ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนมาถึงรุ่นที่ 3 และกำลังเปิดรับสมัครรุ่นที่ 4) อันมีเป้าหมายต้องการให้เป็นมหาวิทยาลัยสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางด้านการสร้างชาติที่เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละบุคคล สนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นประเทศที่เจริญสูงสุดในระดับโลกในอนาคต

ผมมุ่งหมายให้มหาวิทยาลัยการสร้างชาติดังกล่าวนี้มหาวิทยาลัยมาตรฐานสูงสุดของโลกเป็นฮาร์วาร์ดแห่งประเทศไทย (Harvard of Thailand) และฮาร์วาร์ดแห่งเอเชีย (Harvard of Asia) มีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เปิดรับผู้เรียนจากทั่วโลกให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ทางด้านการสร้างชาติโดยเฉพาะ ทำหน้าที่เป็นมดลูกคลอดประเทศและมดลูกคลอดสังคม กำหนดอนาคตของประเทศ พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอิทธิพลสร้างให้เกิดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงต่อการสร้างชาติและการพัฒนาสังคมอย่างแท้จริงบนพื้นฐานภารกิจของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย

  • การสร้างผู้เรียนทางด้านการสร้างชาติ บูรณาการองค์ความรู้และ วิจัยสร้างผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะกว้างครบถ้วนสามารถประยุกต์สู่ รัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ (ประชาสังคม) ทำหน้าที่หรือมีบทบาทเตรียมกำลังคนที่มีสมรรถนะระดับสูงสำหรับการสร้างชาติ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีทั้ง ภาวะการนำ ภาวะการบริหาร และภาวะคุณธรรม ตามที่ผมเคยนำเสนอความคิดในหลายเวที อันเป็นมิติใหม่ของการสร้างกำลังคนสนองตอบเป้าหมายการสร้างชาติ

 

  • การสร้างองค์ความรู้หรือวิทยาการทางด้านการสร้างชาติ วิจัยและสร้างสรรค์ให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการสู่สุดขอบปริมณฑลความรู้ (frontier of knowledge) ทางด้านการสร้างชาติ บูรณาการองค์ความรู้ 3 ภาคกิจ ประกอบด้วย รัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจ เข้าด้วยกันอย่างสมดุลครบถ้วน ทำหน้าที่หรือมีบทบาทเตรียมวิทยาการทางด้านการสร้างชาติที่ดีที่สุดรองรับการสร้างชาติ เป็นสายพันธุ์ทางปัญญา[1] และเป็นผู้ชี้นำทางด้านวิทยาการการสร้างชาติ

 

  • การบริการวิชาการทางด้านการสร้างชาติ สนับสนุนการบริการวิชาการทางด้านการสร้างชาติ  มีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ของประเทศ อันมีมิติความเชื่อมโยงหรือมีอิทธิพลสร้างผลกระทบเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

มหาวิทยาลัยการสร้างชาติดังกล่าวนี้จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกที่รวบรวมองค์ความรู้ทางด้านการสร้างชาติอย่างเป็นระบบตั้งแต่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติเคยมีมา บูรณาการ รัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ อย่างไม่มีรอยต่อมากที่สุดเท่าที่สามารถเกิดขึ้นได้ เพื่อขับเคลื่อนทั้ง 3 ภาคส่วนดังกล่าวนี้ให้เป็นเสาหลักของประเทศที่มีคุณธรรมเป็นฐานอย่างแท้จริง เป็นแหล่งบ่มเพาะเตรียมกำลังคนระดับบนและองค์ความรู้ที่มีอิทธิพลสร้างผลกระทบการเปลี่ยนแปลงต่อการสร้างชาติ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล เป็นต้นแบบเป็นมหาวิทยาลัยแม่พันธ์ ดึงดูดกำลังคนที่มีคุณภาพเข้าเรียนและสร้างคนมีคุณภาพไปสร้างชาติในทุกภาคกิจและทุกบทบาท

วิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยการสร้างชาติของผมดังกล่าวนี้จะเป็นแรงกระตุกให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักถึงบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ ที่แท้จริงของมหาวิทยาลัยที่มีต่อการสร้างชาติ อันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดกว่าการมีคุณค่าใดและเกินกว่าที่จะสามารถประมาณมูลค่าหรือคุณค่าได้ที่ผมเรียกว่าเป็นสิ่งที่ “เลอค่า”

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดคำคมของผมที่ว่า “สถานศึกษาต้องเป็นเรือนเพาะชำทางปัญญา ไม่ใช่เรือนจำทางปัญญา” การสร้างผู้เรียนให้มีปัญญาและความดีเป็นสิ่งสำคัญ แต่การสร้างผู้เรียนให้มีปัญญาสร้างชาติจะเป็น “ความดี” ที่ “เลอค่า” ยิ่งต่อประเทศชาติและสังคมส่วนรวม ครับ

 

[1] ผมนำเสนอ บทบาทสายพันธุ์ทางปัญญา 8 ประการ ประกอบด้วย การเข้าถึงความรู้ (Knowledge Access) การรวบรวมความรู้ (Knowledge Collection) การสะสมความรู้ (Knowledge Accumulation) การผลิตความรู้ (Knowledge Production) การบูรณาการความรู้ (Knowledge Integration) การประยุกต์ความรู้ (Knowledge Application) การรักษาความรู้ (Knowledge Maintenance) และการกระจายความรู้ (Knowledge Dissemination)

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 18 วันศุกร์ 22 – พฤหัสบดี 18 มกราคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *