ดร. แดน ชี้ บูรณาการ 8C : กรณีฮาร์วาร์ดสะท้อนบางระดับ

ปัจจุบันการบูรณาการ (Integration) กำลังเป็นทิศทางการดำเนินการของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานหรือองค์กรทางด้านการศึกษาที่เริ่มให้ความสำคัญกับการบูรณาการดังกล่าวนี้มากขึ้น อาทิ การบูรณาการความร่วมมือข้ามภาคส่วน การบูรณาการข้ามศาสตร์สาขาวิชา เป็นต้น อันส่งผลเป็นประโยชน์ช่วยให้การศึกษาสามารถสนองตอบโจทย์ความต้องการของสังคมที่นับวันจะทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ในประเด็นดังกล่าวนี้ ผมเคยนำเสนอความคิด โมเดลบูรณาการ 8C หรือ Dr. Dan Can Do 8C Integration Model อันเป็นมิติสำคัญของแนวปฏิบัติของมหาศุภาลัย (Araya University) สำหรับอธิบายมหาวิทยาลัยยุคคลื่นลูกที่ 6 สังคมความดี (Virtue Society) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2555, น. 34-36) ตามการแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 7 ยุค (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2559) โดยมหาศุภาลัยดังกล่าวนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นทางด้านการบูรณาการหลากหลายมิติสำหรับการสร้างผู้เรียนในความเป็นจริง และโมเดลบูรณาการ 8C เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของการบูรณาการดังกล่าวนี้

หากนำกรณีศึกษาของฮาร์วาร์ดมาวิเคราะห์บนพื้นฐานความคิดโมเดลบูรณาการ 8C จะพบว่าสะท้อนโมเดลดังกล่าวนี้บางระดับแบบไม่จงใจ ดังนี้

C1: Coordinatization ร่วมแนว – joint vision

เป็นลักษณะการร่วมเป้าหมายและวิสัยทัศน์เดียวกัน อาทิ การจัดระบบโครงสร้างการบริหารงานแบ่งเป็นหน่วยวิชาการสำคัญ (principal academic unit) ทั้งหมด 11 หน่วย ประกอบด้วย 10 คณะและสถาบันเรดคลิฟฟ์เพื่อการศึกษาขั้นสูง (Radcliffe Institute for Advanced Study) แม้ว่าแต่ละหน่วยจะมีอิสระในการดำเนินงานของตนเอง แต่โดยภาพรวมแล้วยังคงมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

C2: Cooperatization ร่วมงาน – C1+joint mission

เป็นลักษณะการร่วมภารกิจหรืองานที่ต้องทำเดียวกัน นอกเหนือจากการร่วมเป้าหมายและวิสัยทัศน์เดียวกันแล้ว อาทิ การทำสัญญาหรือข้อตกลงการทำงานร่วมกันระหว่างคณาจารย์กับฮาร์วาร์ด การทำข้อตกลงความร่วมมือการทำวิจัยศึกษาค้นคว้าพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับพันธุกรรมของเซลล์สิ่งมีชีวิต (genomics) ระหว่างฮาร์วาร์ดและโรงพยาบาลในเครือกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (M.I.T) (Broad Institute, n.d.) เป็นต้น

 

C3: Collaboratization ร่วมแรง – C2+ joint action

เป็นลักษณะการร่วมลงแรงทำงานหรือปฏิบัติด้วยกัน นอกเหนือจากการร่วมภารกิจเดียวกันแล้ว อาทิ โครงการการอ่านออกเขียนได้ทางดิจิทัล (Digital literacy project) อันเป็นความร่วมมือกันระหว่างฮาร์วาร์ดกับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดภาครัฐ ในเขตพื้นที่เมืองบอสตัน เปิดสอนหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์เบื้องต้น (introduction to computer science) แบบเข้มข้นให้แก่เด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในเขตพื้นที่เมืองบอสตัน (Doody, 2015) เป็นต้น  

 

C4: Corroboratization ร่วมแน่น – C3+joint outcome

เป็นลักษณะการร่วมผลลัพธ์หรือความสำเร็จของงานเดียวกัน นอกเหนือจากการร่วมลงแรงหรือปฏิบัติด้วยกันแล้ว อาทิ ฮาร์วาร์ดร่วมเป็นหนึ่งในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยรัฐบาลและเอกชนของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีส่วนสนับสนุนเด็กนักเรียนปัญญาเลิศจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยเข้าเรียน อันเป็นการช่วยขยายโอกาสการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีให้แก่กลุ่มเด็กนักเรียนเหล่านี้ (Harvard joins American Talent Initiative, 2016) เป็นต้น

 

C5: Congregatization ร่วมกลุ่ม – C4+joint group

เป็นลักษณะการร่วมกลุ่มเดียวกัน มีความเป็นเจ้าของ และความสนใจร่วมกัน นอกเหนือจากการร่วมผลลัพธ์เดียวกันแล้ว อาทิ ฮาร์วาร์ดร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา อเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย อาทิ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยเกียวโต มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ที่เรียกว่า EdX (EdX, n.d.) เปิดโอกาสให้ผู้สนใจจากทั่วทุกมุมโลกเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจากสถาบันการศึกษาชั้นนำดังกล่าว เป็นต้น

 

C6: Corporatization ร่วมคณะ – C5+ joint entity

เป็นลักษณะการร่วมเป็นหน่วยเดียวกัน แม้มาจากหลากหลายกลุ่ม มีระเบียบการปฏิบัติระหว่างกันอย่างเป็นทางการชัดเจน อาทิ การพัฒนาระบบพิพิธภัณฑ์ของฮาร์วาร์ด ด้วยการประสานการให้บริการของสมาชิกพิพิธภัณฑ์ 4 แห่งเข้าด้วยกัน อาทิ การให้สมาชิกของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Museums of Science and Culture) 1 สิทธิ์สามารถเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่เป็นสมาชิกอีก 4 พิพิธภัณฑ์ (Harvard Museums of Science and Culture, n.d.) เป็นต้น  

 

C7: Copulatization ร่วมลึก – C6+ joint consummation

เป็นลักษณะการร่วมกันทั้งหมดอย่างบริบูรณ์ ครบถ้วน อาทิ ฮาร์วาร์ดจัดตั้งบริษัทการจัดการแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Management Company) ดำเนินกิจการธุรกิจของตนเองสำหรับเป็นช่องทางแสวงหารายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัย และนำเงินที่ได้ดังกล่าวใช้เป็นเงินสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัย (Harvard Management Company, n.d.) เป็นต้น  

C8: Communionization ร่วมจิต – C7 +joint ideologue

เป็นลักษณะการร่วมอุดมการณ์ (อุดมคติ + แนวทางปฏิบัติ) หรือสิ่งดีงามที่ยึดถือ เทิดทูน เห็นคุณค่า พร้อมมีแนวทางปฏิบัติร่วมกัน (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2560) เป็นลักษณะการร่วมระดับสูงสุด อาทิ การยึดถืออุดมการณ์ความจงรักภักดีต่อมหาวิทยาลัยของกลุ่มศิษย์เก่า เป็นอุดมคติที่มีแนวทางปฏิบัติสอดรับอย่างชัดเจน แสดงออกเป็นการให้ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัยลักษณะหลากหลาย อาทิ การระดมทุนสนับสนุนกิจการมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ตัวอย่างดังกล่าวนี้เหล่านี้ 1 ตัวอย่างอาจมีตัวร่วมมากกว่า 1 ระดับ อาทิ ร่วมแนว ร่วมงาน ร่วมแรง ร่วมแน่น โดยที่ร่วมจิตเป็นลักษณะการร่วมระดับสูงสุดและเป็นการร่วมที่จะส่งผลให้เกิดผลลัพธ์อันเข้มแข็งและยั่งยืนมากที่สุด

 

โมเดลบูรณาการ 8C เป็นมิติสำคัญของแนวปฏิบัติของมหาศุภาลัยหรือมหาวิทยาลัยอารยะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าลักษณะมหาวิทยาลัยดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในยุคสมัยปัจจุบัน แต่สามารถมองเห็นรอยกระเพื่อมได้บ้างก่อนเข้าสู่ยุคจริงผ่านการจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดแบบไม่จงใจตามที่กล่าวมา

 

รายการอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2555). สยามอารยะ แมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ. กรุงเทพฯ: ซัค

            เซส มีเดีย.

________. (23 พฤศจิกายน 2559). การบรรยายหัวข้อ Building World-Class Universities in

Thailand: Opportunities and Challenge การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่อ การสร้างสรรค์นวัตกรรมและงานวิจัย มาตรฐานการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา คลังปัญญาในการบริการวิชาการสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน 4th Rajabhat University National and International Research and Academic Conference theme of “Creative Innovation and Research, Production and Development of Educational Personnel with High Standards, and Brain Bank via Academic Services for Community’s Strength and Sustainability” จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับ เครือข่ายราชภัฏ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์.

________. (11 พฤษภาคม 2560). การบรรยายหัวข้อ แนวทางการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในยุค

การศึกษาไทยยุค 4.0 จัดโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ณ โรงแรมคันทารี่ อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี.  

Broad Institute. n.d.). THIS IS BROAD. Retrieved from https://www.broadinstitute.org/about-us

Doody, Jennifer. (2015, July 13). Bringing computer skills to classroom. Retrieved

from http://news.harvard.edu/gazette/story/2015/07/bringing-computer-skills-to-classrooms/#

EdX. (n.d.). Retrieved from https://www.edx.org

Harvard joins American Talent Initiative. Coalition of colleges and universities seeks to attract,

 enroll, and graduate high-achieving, lower-income student. (2016, December 13).

Retrieved from http://news.harvard.edu/gazette/story/2016/12/harvard-joins-american-talent-initiative/

Harvard Management Company. (n.d.). The Mission of Harvard Management Company.

            Retrieved from http://www.hmc.harvard.edu/

Harvard Museums of Science and Culture. (n.d.). One Membership. Four Museums. Retrieved

            from https://hmsc.harvard.edu/membership

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 42 วันศุกร์ 30 มิถุนายน – พฤหัสบดี 6 กรกฎาคม 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *