วิกฤตยูโรโซน วิกฤตรัฐสวัสดิการ บทเรียนสำหรับประเทศไทย (จบ)

เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?

บทความครั้งก่อนหน้านี้ ผมได้กล่าวถึงความกังวลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของระบบรัฐสวัสดิการของประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซน และความกังวลว่าระบบรัฐสวัสดิการที่มากเกินไปอาจทำให้ระบบการคลังขาดความยืดหยุ่นในการตอบสนองกับวิกฤตการณ์ ซึ่งเป็นบทเรียนและความท้าทายสำหรับประเทศไทยว่าจะพัฒนาระบบสวัสดิการอย่างไร จึงจะสามารถดูแลประชาชนที่มีแนวโน้มผู้สูงอายุมากขึ้นและแรงงานมีความเสี่ยงว่างงานมากขึ้นจากการเปิดเสรีการค้า โดยไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน แต่เป็นระบบที่มั่นคงและมีความยืดหยุ่นสูง

ในบทความนี้ ผมจะขอเสนอหลักการจัดระบบสวัสดิการเพื่อให้ระบบมีความมั่นคงและมีความยืดหยุ่น และไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศดังต่อไปนี้

มีที่มาของรายได้ของระบบสวัสดิการแบบผสม

ระบบสวัสดิการไม่ควรเป็นรัฐสวัสดิการโดยพึ่งพางบประมาณแผ่นดินเป็นส่วนใหญ่ เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบสวัสดิการ ทั้งนี้ในยามที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ รัฐบาลอาจจัดเก็บภาษีได้น้อยลง ทำให้ต้องลดงบประมาณรายจ่ายลง ในขณะที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมากขึ้น เนื่องจากวิกฤตจะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นที่มาของเงินที่ใช้จัดสรรสำหรับสวัสดิการของประชาชนควรมาจากงบประมาณและการสมทบเงินของประชาชนเองด้วย เพื่อลดการพึ่งพางบประมาณรัฐ กระจายความเสี่ยง และเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบสวัสดิการ

ระบบสวัสดิการควรพัฒนาไปสู่ลักษณะการประกันมากขึ้นและการสงเคราะห์น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสวัสดิการด้านสุขภาพควรมีลักษณะเป็นการประกันสุขภาพโดยประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายมากขึ้น ข้าราชการที่อยู่ในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการควรเปลี่ยนให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมหรือสนับสนุนให้ทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันของเอกชน เช่นเดียวกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) ควรให้ประชาชนที่ถือบัตรทองมีส่วนร่วมจ่ายเงินสมทบสำหรับการประกันสุขภาพมากขึ้นแทนที่จะใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินแต่เพียงอย่างเดียว

ส่วนระบบสวัสดิการด้านชราภาพควรพัฒนาให้เกิดระบบการออมระยะยาว โดยเฉพาะการออมภาคบังคับ เพื่อเป็นสวัสดิการสำหรับยามชราภาพ ขณะที่เงินสมทบสำหรับประกันชราภาพในกองทุนประกันสังคมควรเพิ่มเงินสมทบให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในยามชราภาพ

จัดระบบสวัสดิการตามความจำเป็นและเพื่อสร้างแรงจูงใจเชิงบวก

ระบบสวัสดิการของประเทศควรพัฒนาไปสู่การจัดสวัสดิการตามความจำเป็นมากขึ้น และลดการจัดสวัสดิการแบบให้เหมือนกันหรือเท่ากันทั้งหมด โดยเฉพาะการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องให้เท่ากันทั้งหมดทุกคน แต่ผู้สูงอายุที่มีฐานะดี มีลูกหลานดูแล หรืออยู่ในระบบประกันชราภาพระบบอื่นอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องได้รับเงินสงเคราะห์ดังกล่าว เพื่อให้รัฐมีงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลคนตกทุกข์ได้ยากมากขึ้น

การจัดสรรสวัสดิการยังควรเป็นไปเพื่อสร้างแรงจูงใจในเชิงบวก โดยเปลี่ยนจากการจัดสรรเงินสวัสดิการชราภาพโดยใช้สูตรตายตัวที่คำนวณจากรายได้เดือนสุดท้ายและเวลาที่สมทบเงินเข้ากองทุนหรือระยะเวลาที่รับราชการ เป็นการจัดสรรเงินสวัสดิการโดยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่แต่ละคนสมทบเข้ากองทุนและผลตอบแทนของการลงทุนของเงินก้อนนั้น เพื่อจูงใจให้คนออมเงินระยะยาวเพื่อให้ตนเองมีเงินใช้จ่ายยามเกษียณมากขึ้น

ส่วนการจัดสวัสดิการสำหรับผู้ว่างงานควรเปลี่ยนจากการให้เงินให้เปล่ากับผู้ว่างงาน เป็นการจัดสรรสวัสดิการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนทำงานมากขึ้นหรือให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น เช่น ระบบภาษีเชิงลบ หรือ ?negative tax? (ดูเพิ่มเติมจากหนังสือ ของผมชื่อ ?คานงัดประเทศไทย : ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพลิกฟื้นประเทศไทย ก่อนเผชิญภาวะวิกฤตรอบด้าน?) การจัดสรรเงินช่วยเหลือโดยแลกกับการทำงานให้กับรัฐ หรือการสนับสนุนให้ภาคเอกชนจ้างงานคนว่างงานโดยรัฐสมทบเงินค่าจ้างให้นายจ้างส่วนหนึ่ง เป็นต้น

การจัดระบบสวัสดิการควรมีลักษณะของการสร้างเสริมหรือป้องกันมากขึ้น เช่น การให้สมาชิกของระบบประกันสุขภาพได้รับสิทธิการตรวจสุขภาพฟรีเพื่อลดภาระค่ารักษาพยาบาลของระบบประกันสุขภาพ การฝึกอบรมฟรีให้แก่สมาชิกกองทุนประกันสังคมเพื่อเพิ่มโอกาสให้แรงงานได้รับรายได้เพิ่มขึ้นและลดความเสี่ยงของการว่างงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ รายได้ในการจัดระบบสวัสดิการควรมาจากการเก็บภาษีลดลงจากสถานประกอบการที่สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างสุขภาพ แต่จัดเก็บภาษีมากขึ้นจากสถานประกอบการที่สร้างภาระต่อระบบสวัสดิการ เช่น ภาษีเหล้าบุหรี่ อบายมุข สถานบันเทิงยามราตรี สถานประกอบการหรือสินค้าที่สร้างมลพิษ สินค้าฟุ่มเฟือย ขนมขบเคี้ยว ร้านเกม เป็นต้น

สนับสนุนบทบาทของหน่วยงานอื่นในการจัดสวัสดิการ

ระบบสวัสดิการไม่ควรพึ่งพารัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ควรกระจายบทบาทให้หน่วยงานและภาคีอื่นร่วมจัดสวัสดิการให้ประชาชนมากขึ้น เช่น การสนับสนุนบทบาทขององค์กรภาคเอกชน ครอบครัว มูลนิธิ สถาบันการออมของชุมชน สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในยามที่เกิดวิกฤตซึ่งมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และอาจส่งกระทบต่อระบบสวัสดิการที่จัดโดยรัฐบาล

นอกจากนี้ ระบบสวัสดิการที่จัดสรรโดยภาคส่วนอื่นควรได้รับการปรับปรุงให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เช่น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสถานประกอบการภาคเอกชนไม่ควรอนุญาตให้ผู้สมทบสามารถถอนเงินออกมาใช้ได้ในกรณีที่เปลี่ยนสถานที่ทำงาน แต่ควรให้โอนย้ายเงินไปสู่กองทุนอื่นซึ่งเป็นกองทุนเงินออมระยะยาวที่สามารถถอนออกได้เมื่อเกษียณอายุเท่านั้น เพื่อให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทำหน้าที่เป็นระบบสวัสดิการชราภาพได้อย่างสมบูรณ์

ในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีรากเหง้าเกิดมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จนทำให้พรรคการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งนั้น ได้มีผู้เสนอให้นำประเทศมุ่งไปสู่ระบบรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและนำประเทศออกจากความขัดแย้งนี้ ซึ่งผมเห็นด้วยว่าประเทศต้องมีการออกแบบระบบสวัสดิการใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและรองรับกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการที่ประเทศกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี การออกแบบระบบสวัสดิการต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เดินตามความผิดพลาดของสมาชิกกลุ่มยูโรโซนดังที่ได้กล่าวแล้ว กล่าวคือไม่ควรเป็นรัฐสวัสดิการแต่มีสวัสดิการรัฐ และควรเป็นรัฐสวัสดิภาพ (ดูรายละเอียดจาก หนังสือของผมชื่อ ?สยามอารยะ แมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ)

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,?http://www.kriengsak.com

วิกฤตยูโรโซน วิกฤตรัฐสวัสดิการ บทเรียนสำหรับประเทศไทย (1)

เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?

สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซน ได้ก่อให้เกิดความกังวลบางประการที่เกี่ยวข้องกับระบบรัฐสวัสดิการของประเทศในกลุ่มนี้ในสองด้าน

ความกังวลด้านแรก คือ ผลกระทบของวิกฤตหนี้สาธารณะที่มีต่อความมั่นคงของระบบรัฐสวัสดิการของประเทศที่เกิดวิกฤต อันเนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจของประเทศหดตัวลง ส่งผลทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ลดลง ในขณะที่จำนวนผู้ที่ขอรับการช่วยเหลือจากรัฐในกรณีการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ประเทศที่เกิดวิกฤตจึงมีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณในระดับสูง

ในภาวะที่ประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงอยู่แล้ว ทำให้การกู้ยืมเงินเพื่อมาชดเชยการขาดดุลมีต้นทุนสูง

(more…)