วัยรุ่นตกงาน: ปัญหาใหญ่เศรษฐกิจโลก

เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?

ในเวลานี้ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งที่ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกต้องเผชิญ คือ การว่างงานในกลุ่มวัยรุ่น โดยนับตั้งแต่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับวิกฤติทางการเงินในปี 2551 ? 2552 อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวในระดับโลกเพิ่มขึ้นสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์และปัจจุบันการหางานที่ดีให้กับนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่และกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นครั้งแรกยังคงเป็นเรื่องยากในหลายประเทศ

คนหนุ่มสาวในประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวยได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเป็นเวลานานและการปรับลดงบประมาณเพื่อลดการขาดดุลและแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะในประเทศ เช่น กรีซ ที่ซึ่งอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวนั้นสูงกว่าร้อยละ 51

ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอระบุว่าในปี 2555 นี้จะมีวัยรุ่นอายุ 15-24 ปีว่างงาน ราว 75 ล้านคน หรือราวร้อยละ 12.7 ของวัยรุ่นทั่วโลก สูงขึ้นจากร้อยละ 12.6 ในปี 2554 และที่สำคัญยังไม่มีท่าทีว่าสถานการณ์อัตราวัยรุ่นว่างงานจะลดลงได้ก่อนปี 2559 อีกด้วย

ยิ่งวัยรุ่นเหล่านี้ตกงานนานเท่าไร ผลกระทบก็จะยิ่งร้ายแรงมากขึ้นสำหรับเศรษฐกิจโลกทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและในประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจาก แทนที่เราจะสร้างกำลังแรงงานที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่กลายเป็นว่าเราสร้างแรงงานที่ไม่มีความสุขและไม่มีทักษะเพียงพอที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในทศวรรษหน้าที่จะมาถึง

นอกจากนี้ในประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่น ในยุโรปและญี่ปุ่น การว่างงานในกลุ่มวัยรุ่นเป็นการสร้างภาระทางด้านการเงินต่อระบบสุขภาพและระบบบำเหน็จบำนาญในกลุ่มผู้ที่เกษียณแก่รัฐเป็นอย่างมาก เนื่องจากรัฐจะมีรายได้ภาษีน้อยลงจากจำนวนแรงงานที่น้อย แต่ต้องจัดสรรเงินช่วยเหลือสำหรับผู้เกษียณอายุที่มีจำนวนมากขึ้น ทำให้ประเทศเสี่ยงจะเป็นหนี้สาธารณะมากขึ้น เป็นต้น

ปัญหาร้ายแรงอีกประการหนึ่งที่เกิดจากการว่างงานของกลุ่มวัยรุ่น คือ พวกเขาเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมและเหตุรุนแรง ซึ่งเราได้เห็นแล้ว เช่น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในลอนดอนและหลายเมืองในสหราชอาณาจักร รวมทั้งอาหรับสปริงหรือการลุกขึ้นประท้วงที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองในหลายประเทศในตะวันออกกลาง (ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่คนหนุ่มสาวว่างงานสูงที่สุดในโลกถึงร้อยละ 25) เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้การว่างงานของวัยรุ่นหนุ่มสาวในโลกสูงนั้นเป็นเพราะโดยปรกติแรงงานวัยรุ่นมีแนวโน้มสูงอยู่แล้วที่จะถูกไล่ออกก่อนกลุ่มอื่นในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากหลากหลายปัจจัย เช่น กฎระเบียบในตลาดแรงงานของหลายประเทศในยุโรป มีการปกป้องแรงงานสูงมาก การไล่คนงานออกทำได้ยาก ซับซ้อนและมีต้นทุนสูง นายจ้างจึงจ้างแรงงานใหม่เพิ่มน้อย

สำหรับในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีอัตราการเกิดสูงและมีประชากรอายุน้อยเป็นจำนวนมากอย่างเช่นฟิลิปปินส์ การว่างงานของวัยรุ่นนั้นสูง เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ ไม่เพียงพอที่จะดูดซับแรงงานรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในแต่ละปีได้

นอกจากนี้ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญนั่นคือ การที่สถานศึกษาไม่ได้เตรียมผู้เรียนเหล่านี้ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งนักเรียนอาจเลือกเรียนวิชาที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เนื่องจากความชอบส่วนตัวหรืออาจเป็นผลมาจากการที่โครงสร้างของระบบการศึกษานั้นบังคับให้นักเรียนหัวกะทิไหลไปรวมกันอยู่ในบางสาขาเท่านั้น

รัฐบาลในหลายประเทศพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยหลายวิธีการ เช่น รัฐบาลอังกฤษให้เงินอุดหนุนบริษัทต่างๆ เพื่อจ้างงานแก่เยาวชนที่ว่างงาน หรือในเยอรมันและสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งอัตราการว่างงานในกลุ่มเยาวชนต่ำกว่าหลายประเทศในยุโรป รัฐบาลพยายามลดช่องว่างทางทักษะระหว่างสิ่งที่นักเรียนถูกฝึกมาให้ทำกับสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการโดยการจัดโครงการฝึกงาน โดยให้นักเรียนใช้เวลาในห้องเรียนและในการทำงาน เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาได้ซึมซับเอาทักษะที่จำเป็นในการทำงานติดตัวมา ซึ่งภายหลังนักเรียนเหล่านี้อาจถูกจ้างโดยบริษัทที่พวกเขาไปฝึกงานนั่นเอง

นอกจากนี้ในบางประเทศยังมีการเสนอให้แก้ไขกฎระเบียบด้านแรงงาน ลดการปกป้องแรงงานลง เพื่อให้การจ้างงานและการไล่คนงานออกง่ายขึ้นและต้นทุนถูกลง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการกระตุ้นความเป็นผู้ประกอบการในคนหนุ่มสาว และสนับสนุนเรื่องเงินทุน เพื่อให้ริเริ่มกิจการของตนเองและทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย?

อย่างไรก็ตามการที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้การแก้ไขปัญหานี้ในหลายประเทศทำได้ยาก เนื่องจากการสร้างงานใหม่เกิดขึ้นไม่มากนัก

สำหรับประเทศไทยนั้น ยังดีที่การว่างงานในกลุ่มวัยรุ่นอาจยังไม่เป็นปัญหามากนักในเวลานี้ เพราะอัตราว่างงานของกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวอายุ 15 ? 24 ปีของไทยจากการสำรวจล่าสุดเดือนมีนาคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ขณะที่ในปี 2554 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 ? 3.8 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ

แต่ที่เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยมากกว่าคือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือจำนวนมาก ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์เคยอ้างคำพูดของซีอีโอชาวอเมริกันว่าการหาคนงานซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มสาว มีความสามารถรอบตัว มีทักษะสูงและสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เป็นการง่ายกว่ามากถ้าหาในสิงคโปร์ ไต้หวัน และจีน เมื่อเทียบกับประเทศไทย ซึ่งในอนาคตหากประเทศไทยไม่ปฏิรูปและไม่พัฒนาฝีมือแรงงานจะทำให้หมดเสน่ห์ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในที่สุด

ทั้งปัญหาการว่างงานของกลุ่มวัยรุ่นและปัญหาการขาดแคลนฝีมือแรงงานอาจแก้ไขได้ยากพอกัน แต่ว่าหนทางในการแก้ไขปัญหานั้นมีอยู่ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลนั้นเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหามากน้อยเพียงใดและเห็นแก่ความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่

?

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,?http://www.kriengsak.com

?