ไหวพริบ ดีกว่า ทรานส์คริปต์

         ทรานส์คริปต์บอกว่า คุณเรียนอะไรมาบ้าง ผลการเรียนเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้บอกว่า ‘คุณทำงานได้หรือไม่?’

         ในหน่วยงานต่าง ๆ ย่อมต้องการคนทำงานที่ทำงานได้จริง ช่วยขับเคลื่อนภารกิจขององค์กรได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การพิจารณารับสมัคร โดยดูจากใบรับรองผลการศึกษา หรือใบทรานส์คริปต์ (transcript) และการสอบข้อเขียน รวมทั้งสอบสัมภาษณ์อาจไม่ได้ช่วยสร้างความมั่นใจให้องค์กรว่า เมื่อรับคน ๆ นี้เข้าไป จะทำงานได้จริงหรือไม่ จะเข้ากับผู้ร่วมงานได้หรือไม่ จะเป็นตัวส่งเสริมหรือตัวถ่วงความก้าวหน้าขององค์กรกันแน่!!!

         ปัจจุบัน จึงมีองค์กรชั้นแนวหน้าหลายแห่ง เริ่มที่จะไม่พิจารณาผลการเรียนในการจ้างงาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กูเกิล ใครที่ต้องการสมัครทำงานกับกูเกิล ไม่ต้องส่ง transcript และคะแนนทดสอบ (test score) ในสมัยเรียนไปให้ เพราะเขามองว่า ไม่มีประโยชน์ในการพิจารณาจ้างงาน เรียกได้ว่า ดูไปก็เท่านั้น..ไม่มีประโยชน์

         ลาซโล บอค (Laszlo Bock) รองประธานอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคลของกูเกิล เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สภาพแวดล้อมในสถานศึกษานั้นต่างกับโลกการทำงานจริง ปัญหาในโลกจริงส่วนใหญ่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน และทักษะที่จำเป็นในการทำงานที่กูเกิล จะแตกต่างจากตอนเรียนอย่างสิ้นเชิง เมื่อเข้ามาทำงานสัก 2-3 ปี พนักงานจะมีทักษะที่แตกต่างจนกลายเป็นอีกคนไปเลย 

         นอกจากกูเกิลแล้ว ในหลาย ๆ องค์กรก็พยายามหาวิธีคัดสรรคนทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่า ได้เลือกคนที่เหมาะกับตำแหน่งงานอย่างแท้จริง โดยนอกจากจะดูความรู้พื้นฐานแล้ว มักจะมีการพยายามทดสอบทักษะความสามารถที่เกี่ยวข้องกับงาน ไหวพริบปฏิภาณในการแก้ปัญหา การทดสอบวุฒิภาวะทางอารมณ์ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดต่าง ๆ โดยใช้วิธีการตั้งคำถามสัมภาษณ์ยาก ๆ หรือคำถามแปลก ๆ ให้ผู้สมัครงานต้องคิดแล้ว คิดอีก คิดในรูปแบบต่าง ๆ จนมั่นใจว่า จะสามารถสร้างความประทับใจให้ผู้สัมภาษณ์ได้ ซึ่งคำตอบนั้นย่อมเป็นตัวชี้วัดระดับหนึ่งว่า ผู้สมัครคนนั้น เหมาะกับการทำงานนั้นมากน้อยเพียงใด

         ดังนั้น หากเราเป็นผู้สมัครงานที่ต้องการ ‘เพิ่มโอกาส’ ในการเป็นผู้ถูกคัดเลือก หรือเข้าตากรรมการ สิ่งที่เราควรเตรียมพร้อม นอกเหนือจากใบรับรองผลการศึกษาที่บอกว่า เราเรียนดีเพียงใดแล้ว สิ่งสำคัญอื่น ๆ ที่เราต้องเตรียมพร้อม ได้แก่

         เตรียมประวัติส่วนตัวที่ ‘แข่งขันได้’ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมได้แนะนำให้ผู้บริหารการศึกษาไทยว่าควรเปลี่ยนระบบการออกใบรับรองผลการศึกษา หรือใบทรานส์คริปต์ (transcript) ซึ่งปัจจุบันวัดเพียงความรู้ในวิชาต่าง ๆ โดยเปลี่ยนให้เป็น competency transcript หรือใบรับรองผลการศึกษาที่แข่งขันได้ หมายความว่า มีตัวชี้วัดเพิ่มขึ้นในด้านทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน และด้านลักษณะชีวิตที่เหมาะสมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อเป็นตัวชี้วัดได้อย่างแท้จริงว่า บุคคลนั้นไม่เพียงเก่งแต่ในตำรา แต่สามารถทำงานได้จริงในภาคปฏิบัติ 

         ปัจจุบัน ใบทรานส์คริปต์ของเรา มักไม่สามารถทำให้องค์กรต่าง ๆ มั่นใจได้ว่า แม้เราจบมาด้วยเกรดสูง วุฒิสูง สถาบันดี แต่จะทำงานได้หรือไม่ อาจเก่งแต่ทฤษฎี ทว่า..ด้อยปฏิบัติ ทำงานไม่เป็น เข้ากับคนอื่นไม่ได้ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ เป็นเรื่องที่จำเป็นในอนาคต ดังนั้น หากเรามีรายละเอียดเพิ่มเติมลงไปด้วยว่า เรามีทักษะด้านใดที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น ทักษะการคิด ทักษะการบริหาร ทักษะด้านภาษา ทักษะเทคโนโลยี ทักษะการบริหารความสัมพันธ์ ฯลฯ และมีลักษณะชีวิตที่โดดเด่นในเรื่องใดบ้าง เช่น มีมนุษยสัมพันธ์ รักการเรียนรู้ ขยันหมั่นเพียร มีความอดทน หนักเอาเบาสู้ มีวิสัยทัศน์ ฯลฯ ไม่เพียงเขียนลงไปว่าเราเป็นอย่างไร แต่หากมีหลักฐานอ้างอิงประกอบด้วย ย่อมเพิ่มความน่าเชื่อถือและโอกาสได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานในตำแหน่งที่ต้องการได้มากกว่า

         ฝึกตอบคำถามกระตุ้นความคิด เนื่องจากในโลกการทำงาน เราต้องพบกับปัญหาใหม่ ๆ อุปสรรคยาก ๆ เงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆ ที่อาจไม่เคยคิด ไม่เคยพอมาก่อน การพัฒนาทักษะในการคิดแก้ปัญหา ทักษะในการตัดสินใจในสถานการณ์เฉพาะหน้า ทักษะการคิดหาเหตุผล การคิดนอกกรอบ การคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ เราอาจลองตั้งคำถามถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและลองหาคำตอบ เช่น “สมมติเราเป็นพนักงานขาย ถ้าเหลือเราเป็นพนักงานขายอยู่คนเดียว จากที่เคยมี 5 คน จะทำอย่างไรให้ยอดขายได้เท่าเดิม โดยไม่รับคนเพิ่ม?” “ถ้าได้รับคำสั่งให้ไปเปิดตลาดในประเทศที่เราพูดภาษาเขาไม่ได้เลย และคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นก็พูดภาษาอังกฤษที่เราชำนาญไม่ได้ เราจะทำอย่างไร” หรือลองคำถามแปลก ๆ ที่ท้าทายความคิด มาลองตอบดู เพราะในการสัมภาษณ์จริง เราอาจต้องตอบคำถามยาก ๆ ที่ทดสอบความรู้รอบตัว ไหวพริบของเรา 

         ยกตัวอย่างเช่น เราอาจลองตอบคำถามแปลก ๆ จากเว็บไซต์ซีบีเอสนิวส์ เคยลงข่าวคำถามสัมภาษณ์ผู้สมัครงานสุดแปลกประจำปี 2555 ที่องค์กรต่าง ๆ ใช้ถามผู้สมัครงาน อาทิ “บอกชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบลมา 3 คน” (โดยเบเนฟิต คอนเนกส์) “อธิบายกรรมวิธีการทำแซนด์วิชทูน่า” (โดยแอสตรอน คอนซัลติง) “เคยขโมยปากกาจากที่ทำงานหรือไม่?” (โดยจิฟฟีย์ ซอฟต์แวร์) “ลองให้คะแนนผู้สัมภาษณ์อย่างผมสิ เต็มสิบจะให้เท่าไหร่?” (โดยคราฟต์ ฟู้ดส์) ฯลฯ การตอบคำถามเหล่านี้จะช่วยทำให้เราคุ้นชินกับการเผชิญปัญหาใหม่ ๆ ปัญหาแปลก ๆ ซึ่งจะช่วยลดความเครียดและควบคุมตนเองได้มากขึ้น เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์จริง

         การเรียนดีต้องมาคู่กับการทำงานได้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมทั้งความรู้ ทักษะ ลักษณะชีวิต และไหวพริบปฏิภาณ เพื่อให้สามารถชนะการแข่งขันเข้าทำงาน และสามารถทำงานได้จริง สร้างผลผลิตตามเป้าประสงค์องค์กรได้

 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :  http://www.thrivetoday.org/images/MaturityRetreats/maturity%20solution%20hammer.jpg