00000

ใช้คนให้ทำงานด้วย ?ใจ?

00000งานวันนี้
ปีที่ 16 ฉบับที่ 707 วันที่ 7-14 ตุลาคม 2557

 

ผู้นำที่สามารถขับเคลื่อนคนภายใต้ ให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันได้ ด้วย ?ความเต็มใจ? ไม่ใช่ด้วย ?สิ่งล่อใจ? คือ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

ในโลกที่อำนาจเงิน วัตถุ เกียรติ ศักดิ์ศรี ฯลฯ เป็นใหญ่ ผู้นำจึงมักต้องจูงใจคนให้ทำงาน โดยใช้เงินและผลประโยชน์เป็นตัวขับเคลื่อน หรือไม่ก็ใช้อำนาจบังคับ ข่มขืนฝืนใจ ถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษ แต่ในความเป็นจริง ถ้าผู้นำมีทักษะในการเคลื่อนใจคน ย่อมสามารถช่วยให้ทีมงานยินดีให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจ โดยใช้อำนาจน้อยที่สุด แต่ใช้การโน้มน้าว การสร้างแรงบันดาลใจ และการเป็นแบบอย่างมากที่สุด

ความสามารถในการขับเคลื่อนทีม จึงเป็นทักษะสำคัญประการหนึ่งที่ผู้นำจำเป็นต้องมี

การขับเคลื่อนทีม หมายถึง การทำให้คนภายใต้ ยินยอมพร้อมใจและร่วมมือกันอย่างมีเอกภาพ ดำเนินการตามแผนการที่ได้วางไว้ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

คำถามคือ ผู้นำควรพัฒนาทักษะการขับเคลื่อนทีมอย่างไร?

สร้างแรงบันดาลใจ ? ทำเพราะเห็นคุณค่า

ผู้นำที่ดีจะไม่ใช้อำนาจในการสั่งการให้ทำ โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้ตามจะยินยอมทำตามด้วยความเต็มใจหรือไม่ แต่จะขับเคลื่อนคนภายใต้ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ ใช้วิธีการพูดโน้มน้าวใจ เคลื่อน ?หัวใจ? คน ให้เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ เข้าใจเหตุผลว่า สำคัญอย่างไร เพราะเหตุใดจึงต้องทำ ทำให้ทุกคนมีความฝันอันงดงาม น่าบากบั่นไปให้ถึง เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเหตุผลและอารมณ์ ยินดีทำเต็มที่และเต็มใจที่จะทำ ไม่ใช่ฝืนใจที่จะทำ เพราะ ?ความรัก? ในสิ่งที่ทำ  เพราะ ?ศรัทธา? ในคุณค่าของงานที่ทำ และทำเพราะ ?ความหวัง? ว่าจะเห็นวิสัยทัศน์ที่พึงปรารถนาเป็นจริง

นายพลไอเซนฮาวน์ (Dwight D. Eisenhower) ผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า ?ภาวะผู้นำ คือ ศิลปะในการทำให้คนอื่นทำในสิ่งที่คุณต้องการ เพราะว่าเขาอยากทำ? ผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจคนได้ โน้มน้าวใจมากที่สุด สามารถถ่ายทอด ?ภาระใจ? และการเห็น ?คุณค่า? ในงานที่ทำ ให้ทุกคนมีความฝันอันงดงาม ที่น่าบากบั่นไปให้ถึง และมุ่งมั่นลงมือทำจนสำเร็จ

ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ ? สร้างวิสัยทัศน์ร่วม

ผู้นำที่เคลื่อนใจคนต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดวิสัยทัศน์ขององค์กร ทำให้ทุกคนในทีมเห็นคุณค่า เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของวิสัยทัศน์ ทำให้ทุกคนมี ?วิสัยทัศน์ร่วม? มองเห็นภาพอนาคตเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และที่สำคัญ ต้องทำให้กลายเป็นวิสัยทัศน์ของแต่ละบุคคล ให้ทุกคนเกิดความรู้สึกเป็น ?เจ้าของ?  เกิดภาระใจอยากมีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างจริงจังที่จะทำให้สำเร็จ  และต้องสื่อสารให้ชัดเจนไปถึงแต่ละคนให้ได้ว่า ใครควรมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบอะไร ทำอะไร เพื่ออะไร มีเป้าหมายอะไร ซึ่งช่วยให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

เติมเต็มความเชื่อใจ ? ชีวิตเป็นแบบอย่าง

ผู้นำที่ขับเคลื่อนคนได้ดีนั้น จะต้องมีชีวิตที่น่าเชื่อถือ ไว้วางใจได้ ต้องมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ทีมงานเกิดความศรัทธา ? เชื่อมั่น เชื่อมือ เชื่อถือ เชื่อใจ โดยผู้นำต้องสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในเรื่องต่าง ๆ อาทิ ปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเอาใจใส่ เห็นคุณค่า เท่าเทียมกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง สนใจต่อข้อเสนอแนะของทุกคน สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้คนทำงานร่วมกันได้ และแก้ไขความขัดแย้งทันที ไม่ปล่อยให้ลุกลาม ที่สำคัญ ต้องมีลักษณะชีวิตที่ดี ทำให้คนรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา เช่น มีชีวิตที่เดินตามอุดมการณ์ มุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง เห็นแก่ส่วนรวม ไม่ยกยอตัวเอง ยอมรับความผิด คิดแง่บวก  อดทนและเก็บอารมณ์  ชื่นชมให้กำลังใจทีมเสมอ ฯลฯ แบบอย่างชีวิตที่ดีจะช่วยสร้างศรัทธา และทำให้ทุกคนร่วมขับเคลื่อนงานด้วยความเต็มใจ

ปลุกพลังกาย พลังใจ ? ปลดปล่อยศักยภาพ 

ในหนังสือ ข้อคิดเพื่อผู้นำ ผมกล่าวถึงนิยามผู้นำไว้ว่า ?ผู้นำคือ ผู้ที่ปลุกเร้าความคิดและคำพูดแง่บวกให้เกิดขึ้นในทีมงาน เพื่อให้การกระทำที่แสดงออก ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเชื่อมั่นว่า เป็นไปได้?  ผู้นำที่ขับเคลื่อนคนได้จึงต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า ?ทำได้? แก่ทีมงานเสมอ กระตุ้นให้ทีมงานทุกคนเห็นคุณค่าในตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง เชื่อมั่นในทีมงาน และเปิดโอกาสให้ทุกคนปลดปล่อยศักยภาพออกมาได้สูงสุด  

ผู้นำต้องทำหน้าที่เป็น ?ผู้ปลุกพลังบันดาลใจ? ในตัวผู้ตาม เพื่อให้ผู้ตามร่วมเดินไปสู่เป้าประสงค์ที่ตั้งใจไว้ ปลุกพลังวิสัยทัศน์ ให้เห็นภาพยิ่งใหญ่ที่พึงปรารถนาร่วมกัน ปลุกพลังความคิดแง่บวกว่า ไม่มีสิ่งใด เป็นไปไม่ได้ ปลุกพลังความเชื่อว่า สิ่งที่ยังไม่เห็นนั้น…เป็นไปได้ ปลุกพลังใจให้เกิดความฮึกเหิม กล้าหาญ ทำลายความกลัวให้สูญสิ้นไป และปลุกพลังสามัคคี เพื่อร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

หากผู้นำทำได้เช่นนี้ ย่อมมีแนวโน้มเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในทุกสถานการณ์ ทั้งในยามปกติและในยามวิกฤตได้อย่างแน่นอน…

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://reliancestaffing.com/wp-content/uploads/2011/02/iStock_000000383745XSmall-300×199.jpg