เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 ผมได้มีโอกาสบรรยายเรื่อง “ยุทธศาสตร์แรงงานไทยเพื่อประเทศไทยมีรายได้สูง” ในการสัมมนาโครงการสร้างเครือข่ายการแนะแนวอาชีพ ที่จัดโดยกองส่งเสริมการมีงานทำ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยมองถึงภาพรวมปัญหาแรงงานไทย ยุทธศาสตร์การพัฒนาแรงงาน รวมทั้งการเตรียมพร้อมแรงานไทยเพื่อก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง
ผมเห็นว่า การเตรียมพร้อมและการพัฒนาด้านแรงงานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สังเกตได้จากปัญหาแรงงานและตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน จึงปรารถนาที่จะนำเสนอทิศทางและแนวทางการเป็นแรงงานที่มีคุณภาพแก่แรงงานไทยทุกคน
การเตรียมพร้อมแรงงานไทยเพื่อก้าวสู่ประเทศรายได้สูง จะต้องเตรียมความพร้อม โดยการสร้าง “จุดแกร่ง” สลาย “จุดอ่อน” ทำให้ตนเองเป็น “คนแห่งอนาคต” ด้วยการยกระดับความรู้ ยกระดับทักษะการทำงาน และยกระดับลักษณะชีวิตอารยะ ซึ่งผมเรียกว่า “โมเดลสมรรถนะ KSL31220” อันประกอบไปด้วย ความรู้ 3 มิติ (knowledges: 3 dimensions) ทักษะ 12 ประเภท (skill: 12 categories) และ ลักษณะชีวิต 20 ประการ (Life characteristics: 20 items) ดังต่อไปนี้
การยกระดับความรู้ คือการทดลองอะไรใหม่ๆ เพื่อที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง และเมื่อดีขึ้นแล้ว จะยกให้ดีขึ้นต่อไปอีกเรื่อยๆ กล่าวคือ ไม่คิดจะอยู่กับที่โดยไม่มีการพัฒนาใดๆ ด้วยเหตุที่สังคมไทยเป็นสังคมของการพูด การดู มากกว่าสังคมการอ่านและการเขียน และคนส่วนใหญ่จึงรักความบันเทิงมากกว่ารักการเรียนรู้ ค่านิยมเช่นนี้ จึงไม่ทำให้เกิดการพัฒนาตนเองได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทำให้ขาดความรู้ที่ทันสมัย ขาดความคิดสร้างสรรค์ และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เหตุนี้แรงงานไทยจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและสร้างความพร้อมทางความรู้ โดยจะต้องเป็นคนที่มีนิสัยรักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองให้มีความรู้ครบ 3 มิติอยู่เสมอ ได้แก่ 1) รู้ลึก หมายถึงรู้ให้ถ่องแท้เกี่ยวภาพย่อยและภาพใหญ่ของงานที่รับผิดชอบ 2) รู้กว้าง มีความรู้สหวิทยาการ สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างครบถ้วน และ 3) รู้ไกล หมายถึงมีความรู้กว้างไกล มองเห็นอนาคตระยะยาวได้ชัดเจน
การยกระดับทักษะการทำงาน เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเป็นห่วงคนไทย เพราะคนไทยไม่ได้ฉลาดน้อยกว่า แต่อาจมีทักษะแห่งอนาคตที่ด้อยกว่าคนในสังคมอื่น รวมทั้งในสังคมอนาคตจะกลายเป็นสังคมแห่งความรู้ ผมจึงคิด “12 ทักษะ จำเป็นแห่งยุคที่แรงงานไทยควรเตรียมพร้อม” ดังต่อไปนี้
ทักษะ 1 การคิด (philosophizing) ด้วยการคิด10 มิติซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่สุดที่ทำให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในโลกยุคใหม่ กล่าวคือ คนที่คิดเก่ง แก้ปัญหาได้ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยความคิดได้ ย่อมได้เปรียบกว่า เพราะจะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ก่อน
ทักษะ 2 การสื่อสาร ครอบคลุมทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้บุคคลนั้นประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่างๆ ได้
ทักษะ 3 ทางภาษา คนไทยควรมีทักษะการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ โดยอย่างน้อยควรศึกษา 1-2 ภาษาไปพร้อมๆ กัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่โลกไร้พรมแดนในอนาคต
ทักษะ 4 การใช้เทคโนโลยี อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีด้านอาหาร เทคโนโลยีด้านการเกษตร เทคโนโลยีด้านวิศวคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีด้านพลังงาน
ทักษะ 5 การอยู่ร่วมกับผู้อื่น คือ การอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีเอกภาพและมีคุณภาพ ได้แก่ ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม การปรับตัวให้เหมาะสม การแก้ปัญหาความขัดแย้ง
ทักษะ 6 ด้านการจัดการตนเอง/คน/งาน/เงิน คือ ต้องสามารถจัดการตนเองได้เป็นอย่างดีในเรื่องต่อไปนี้ ได้แก่ การจัดการความรู้ การจัดการเวลา การจัดการความเครียด การจัดการการเงิน
ทักษะ 7 การตัดสินใจ หมายถึงความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผล เพื่อเลือกแนวปฏิบัติถูกต้องเหมาะสมและเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ทั้งนี้ต้องฝึกทักษะการคิดก่อน จึงจะเกิดทักษะการตัดสินใจที่ดี การคิดเป็นจะทำให้เกิดการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง และจะคิดเป็นได้ก็ต่อเมื่อมีการฝึกคิดอย่างเป็นประจำ
ทักษะ 8 การสร้างเครือข่าย เป็นสิ่งจำเป็นมากในโลกปัจจุบัน ยิ่งรู้จักคนมาก มีเครือข่ายมากยิ่งมีโอกาสมาก ในปัจจุบันวิธีการสร้างเครือข่ายของคนไทยยังไม่หลากหลายและเข้าถึงคนทุกประเภท จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาการสร้างเครือข่ายให้เข้ากับทุกบริบทในสังคมโลกนี้
ทักษะ 9 การใช้เหตุผล นับเป็นทักษะที่คนไทยใช้เป็นหรือใช้ได้อย่างถูกต้องในระดับต่ำ เพราะไม่มีการเรียนการสอนในเรื่องการใช้ตรรกะอย่างจริงจัง คนไทยต้องฝึกฝนและพัฒนาทักษะการใช้เหตุผลอย่างเร่งด่วน เพราะคนที่ใช้ตรรกะผิดมีปัญหาร้ายแรง ทำให้เกิดสรุปผิดโดยไม่ตั้งใจ และอาจนำไปสู่ข้อโต้แย้งและถกเถียงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ทักษะ 10 การประกอบการ เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างการประกอบการทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ รัฐกิจ หรือประชากิจ การวางแผนเพื่อประกอบกิจจากตนเองผู้เดียวจนสร้างเป็นกิจการสมบูรณ์ยั่งยืนเป็นระบบ หากคนไทยมีทักษะการประกอบการ จะทำให้เกิดสร้างกิจการใหม่ที่สร้างสรรค์และแตกต่างได้
ทักษะ 11 การเป็นผู้นำ ประกอบไปด้วย การกำหนดทิศทาง มีวิสัยทัศน์ร่วม มียุทธภูมิ แก้ปัญหาได้ ขับเคลื่อนคน สอน/ฝึกคนได้ และเป็นผู้ได้รับความชื่นชมหรือคลั่งไคล้อย่างมาก (Idol)
ทักษะ 12 การจัดระบบ จะช่วยนำความสำเร็จมาสู่การทำงานได้ โดยระบบที่ดี “ไม่ใช่ระบบที่ทำให้คนดีทำดี เพราะคนดีทำดีแม้ไม่มีระบบ แต่ต้องเป็นระบบที่ทำให้คนชั่วทำดีได้โดยไม่รู้ตัว”
การยกระดับลักษณะชีวิต ในความสำเร็จที่แท้จริง จำเป็นต้องมีลักษณะชีวิตเป็นฐานรองรับที่สำคัญ โดยลักษณะชีวิตสู่ความสำเร็จ 20 ประการ ได้แก่ 1) มีวิสัยทัศน์ 2) ซื่อสัตย์ 3) รักษาคำพูด 4) มีวินัย 5) ถ่อมใจ 6) เอาจริงเอาจัง 7) อดทน 8) ทำดีเลิศ 9) ไวต่อความรู้สึก 10) มีมนุษยสัมพันธ์ 11) ขยัน 12) บังคับตน 13) เที่ยงธรรม 14) รับผิดชอบ 15) แง่บวก 16) รอบคอบ 17) ยุติธรรม 18) กล้าหาญ 19) เสียสละ 20) เรียนรู้ และลักษณะชีวิต ทั้ง 20 ประการนี้จะช่วยให้คนได้ใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งควรสร้างให้เกิดขึ้นเป็นลักษณะนิสัยประจำชาติ
โมเดลสมรรถนะ KSL31220 เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานและลักษณะอาชีพในโลกรายได้สูง แรงงานทุกคนจึงควรตระหนักและเร่งยกระดับตนเองขึ้นมา เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานระดับโลก และสามารถนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://2.bp.blogspot.com/-iEIHnXniEqk/UZgLsWW9QQI/AAAAAAAAAQA/mjg-YYx8c24/s400/ข้อควรปฏิบัติในการทำงาน-Part-Time-2556-วันแรก.jpg