แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง

หนังสือพิมพ์มติชน
คอลัมน์: เหยี่ยวถลาลม

วันก่อนกระทรวงกลาโหมร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาการปฏิรูปประเทศเรื่อง “แนวทางปฏิรูปการเมือง การเข้าสู่อำนาจ”

คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม น่าสนใจพล.อ.สุรศักดิ์เล่าว่า คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปได้เก็บข้อมูลจากเอกสารวิจัย ผลงานวิชาการ ข้อเสนอของกลุ่มการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหว จนได้เอกสารที่จะใช้ “สังเคราะห์” ประมาณ 230 เล่มนอกจากนั้นยังรวบรวมจากเว็บไซต์ จากทางโทรศัพท์อีก 7-800 ความเห็น

รวมตอนนี้มีเนื้อหากว่า 1,000 ชุดความเห็น ทั้งยังมีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากทุกกลุ่มความคิด จากตัวแทนพรรคการเมือง ถัดจากนั้นจะนำความเห็นที่ “สังเคราะห์” ไว้มารวมกัน แล้วจัดประชุมกลุ่มย่อย (ทำโฟกัสกรุ๊ป) มีตัวแทนกลุ่มครั้งละ 40-50 คน เอาไปผสมรวมกับการจัดสัมมนาของสถาบันพระปกเกล้า และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) แล้วรวบรวมนำเสนอให้สภาปฏิรูปสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

“สภาปฏิรูป จึงไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ ข้อมูลที่ได้มาเป็นเรื่องดีทั้งหมด และถ้าทำตามที่เสนอกันมาก็จะเป็นเรื่องดีเพราะที่ทุก

คนต้องการเหมือนกัน คือ ได้นักการเมืองที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีการบริหารราชการที่ดีคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชน” พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว

เป็นอุดมคติมากทีเดียว !แต่ก็น่าจะได้ข้อมูลมากทีเดียว ที่น่าสนใจคือคำว่า “สังเคราะห์” ซึ่งเป็นการนำภาษาที่ใช้ใน “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ” มาใช้กับ “วิทยาศาสตร์สังคม”

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “สังเคราะห์” ว่า คือการผสมผสานรวมกันอย่างกลมกลืนของส่วนประกอบต่างๆ จนกลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีเอกลักษณ์ และคุณสมบัติเฉพาะ เช่น ใบสีเขียวของพืช ดูดแสงเข้ามาสังเคราะห์เป็นคลอโรฟิลล์

การสังเคราะห์ที่เราพูดถึง เป็นการสังเคราะห์ความคิดเห็นที่แตกต่าง เป็นการหลอมรวมความคิดอันหลากหลาย เพื่อก่อให้เกิดสิ่งใหม่ โดยที่ทุกฝ่ายจะต้องยอมรับความเป็นจริงในฐานะที่เป็น “องค์ประกอบย่อย” ที่พร้อมจะผสมผสานด้วยการแสวงจุดร่วม และสงวนจุดต่าง เพื่อบรรลุ “เป้าหมายร่วมกัน”

นั่นย่อมหมายความว่า ต้องไม่มีใครทำตัวเป็น “แกนจักรวาล” !?!!