จงใช้ชีวิตราวกับว่าคุณจะตายในวันพรุ่งนี้ และจงเรียนรู้ราวกับว่าคุณจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป (Live as if you were to die tomorrow. Learn as if you were to live forever.)
มหาตมะ คานธี ได้ให้ข้อคิดที่ดีมากสำหรับคนที่ต้องการใช้ชีวิตอย่าง ‘รู้คุณค่า’ และ ‘คุ้มค่า’ มากที่สุด ไม่ว่าเราเป็นใคร
หากรู้ว่าวันนี้เป็นสุดท้ายของชีวิต ย่อมเลือกทำในสิ่งต่าง ๆ ที่มีคุณค่ามากที่สุด และจะเร่งรีบทำสิ่งต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่เขาจะได้ไม่เสียใจภายหลัง คนที่คิดเช่นนี้ จะเป็นคนที่ตระหนักว่า “เวลา” ทุกนาทีชีวิตนั้นมีคุณค่า จึงใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ปล่อยทิ้งเรี่ยราด ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง และแน่นอนว่า ย่อมสามารถสร้างสรรค์ผลสำเร็จของงานได้มากกว่า
เช่นเดียวกัน ในการดำรงชีวิต ทั้งชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัว การปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ การก้าวตามให้ทันความรู้ใหม่ ๆ การแก้ปัญหาที่ไม่เคยพบมาก่อน จำเป็นต้อง “เรียนรู้” สิ่งต่าง ๆ ตลอดชีวิตของเรา ผู้ที่รู้ทันโลก รู้ทันงาน รู้ทันคน ย่อมได้เปรียบในการก้าวสู่อนาคตมากกว่า
การเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญ เราสามารถเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย และช่องทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ การอ่าน
คำถามคือ ในฐานะคนทำงาน เราจะอ่านอะไร และอ่านอย่างไร จึงช่วยเพิ่มพูนการเรียนรู้ นำไปสู่ความก้าวหน้าได้?
อ่านหนังสือครบทุกมิติ เป็นความจริงที่ว่า สังคมใดที่ประชาชนส่วนใหญ่รักการอ่าน สังคมนั้นจะมีความก้าวหน้า เพราะเรียนรู้จากสิ่งที่อ่าน นำสิ่งที่อ่านมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ ดังนั้น การฝึกนิสัยรักการอ่านจึงสำคัญ พอ ๆ กับการเลือกหนังสือที่จะอ่าน เราอ่านอะไรไปบ่อย ๆ เข้า ชีวิตเราก็จะถูกแปลงสภาพแปลงโฉมไปตามนั้น ดังนั้น จึงควรเลือกให้อ่านในเรื่องที่จะเกิดประโยชน์ต่อความคิด ความรู้ ทักษะ ในมิติต่าง ๆ ครบถ้วนทุกด้าน เพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่อง เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ เพื่อติดตามข่าวสารบ้านเมืองตอนเช้า อ่านตำราเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของเรา อ่านเคล็ดลับการทำงาน ในด้านที่จะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้า อ่านคู่มือเสริมทักษะ เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็น เช่น พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ พัฒนาทักษะด้านการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ เป็นต้น และหนังสืออีกประเภทที่ต้องอ่าน ได้แก่ หนังสือปรัชญา ศาสนา เพื่อคิดลึกซึ้งและยังมีผลจรรโลงจิตใจและคุณธรรมให้สูงขึ้น
อ่านแบบครุ่นคิดจนตกผลึก ขงจื้อกล่าวไว้ว่า การเรียนรู้โดยไม่มีการคิดเป็นการสูญเปล่า แต่การคิดโดยไม่มีการเรียนรู้เป็นอันตราย การคิดกับการเรียนรู้ต้องไปด้วยกัน หากไม่ไปด้วยกันจะมีปัญหา การอ่านเพื่อเรียนรู้จะต้องเป็นการอ่านไปคิดไป ทำความเข้าใจ ตั้งคำถามถกเถียง ครุ่นคิดสะท้อนคิดอยู่ภายในตัวเอง จนตกผลึกเป็นสิ่งที่เรียนรู้ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ดังนั้น การเรียนรู้และการคิดควรเป็นเรื่องที่ต้องไปด้วยกันและควรเดินไปในทิศเดียวกันอย่างแท้จริง
จดบันทึกสิ่งที่เรียนรู้ สิ่งที่เราอ่านจะคงอยู่เสมอ หากเราจดข้อคิด สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอ่านไว้ การจดบันทึกจะช่วยทบทวนความเข้าใจ และช่วยให้เราย้อนกลับมาดูใหม่ได้ทุกเมื่อ ทำให้เราไม่ลืมสิ่งที่เรียนรู้ไป นอกจากจดสิ่งที่เรียนรู้แล้ว ควรจดสิ่งที่เราจะนำไปใช้ประโยชน์ หรือคิดว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าเราเรียนรู้จากสิ่งที่อ่านอย่างเป็นรูปธรรม
แบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ การถ่ายทอดสิ่งที่เราเรียนรู้จากการอ่าน นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและงานในภาพรวมแล้ว ยังเท่ากับช่วยเราทบทวนสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาให้เข้าใจหนักแน่นมากยิ่งขึ้น และช่วยให้เราประเมินตัวเองได้ว่า เราเข้าใจเรื่องที่อ่านได้มากน้อยเพียงใด โดยหากสังเกตดู หากเข้าใจเรื่องที่อ่านมาอย่างลึกซึ้ง เราจะสามารถถ่ายทอดและอธิบายให้ผู้อื่นฟังได้อย่างชัดเจน แม้เรื่องยากก็สามารถพูดด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ ได้ แต่ถ้าเรายังอ่านไม่เข้าใจ ไม่รู้จริง เราจะไม่สามารถอธิบายสิ่งที่อ่านให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ทำให้ต้องกลับไปทบทวนอีกรอบ
ลีโอนาร์โด ดา วินชี กล่าวไว้ว่า “การเรียนรู้ไม่เคยทำให้สมองเหนื่อยล้า” (Learning never exhausts the mind.)
หากเราตระหนักในความสำคัญของการเรียนรู้ที่มีต่ออนาคต เราจะไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากช่องทางต่าง ๆ รอบตัว และหนึ่งในช่องทางที่ขาดไม่ได้เลย นั่นคือ การอ่านหนังสือดี ๆ ทุกวัน เพื่อเพิ่มพูนความคิด ความรู้ และปัญญา จากเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดชีวิตของเรา
ที่มา: งานวันนี้
ปีที่ 17 ฉบับที่ 744 วันที่ 19 สิงหาคม – 2 กันยายน 2558
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://img.ksl.com/dn/0/33/3320.jpg