เยาวชนคนหนุ่มสาวกับการบ้านการเมืองไทย : กรณีศึกษาหยก

การเมือง คือ การใช้อำนาจหน้าที่เพื่อสาธารณประโยชน์” อริสโตเติล (Aristotle) บิดาแห่งวิชารัฐศาสตร์ ได้กล่าวคำพูดอมตะประโยคนี้เอาไว้เมื่อหลายพันปีก่อน มีสาระสำคัญคือ การเมืองเป็นเรื่องของการเสียสละเพื่อทำประโยชน์แก่ส่วนรวม เป็นสิ่งบริสุทธิ์ และเป็นคุณธรรมอันสูงส่ง

สำหรับประเทศไทยเรา คำว่า “การเมือง” ในความรับรู้ยังเป็นทัศนคติเชิงลบ โดยเยาวชนส่วนใหญ่มักมองว่าการเมืองเป็นเรื่อง “น้ำเน่า” เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายและหมดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ของนักการเมืองบางคนบางกลุ่ม ที่สนใจแต่ผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าสนใจประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมือง หวังกอบโกยประโยชน์ใส่ตนมากกว่าเกื้อกูลประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทุจริตคอร์รัปชัน แตกแยก แบ่งพรรคแบ่งพวก ขาดความสามัคคี ใช้อำนาจในทางที่ผิด ขาดจิตสำนึกคุณธรรมและจริยธรรม เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้เวลาพูดถึงการเมือง ผมจึงใช้คำว่า “การบ้านการเมือง” เพื่อครอบคลุมความสนใจทั้งการเมืองทางการที่เกี่ยวข้องกับการเข้าไปเป็นตัวแทนของพรรคการเมือง และ การเมืองพลเมืองที่ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง แต่เป็นการช่วยสนับสนุนการพัฒนาบ้านเมืองด้วยวิธีการอื่น ๆ ซึ่งเยาวชนเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญในการสนับสนุนการบ้านการเมือง เนื่องจากเยาวชน คือ อนาคตของชาติ และการลงทุนกับเยาวชนเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสูงสุด ส่งผลลัพธ์ยั่งยืน ยาวนาน ก้าวข้ามกาละและเทศะ  “ยิงปืนนัดเดียว ได้นกทุกฝูง (Minformax)” หรือ “ทำน้อยสุด ได้มากสุด” นั้นเอง

เมื่อหันมามองเยาวชนกับการมีส่วนร่วมในการบ้านการเมืองจากกรณีของน้องหยกนักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มทะลุวังที่ได้โพสต์ข้อความว่า “ขอยุติเคลื่อนไหวทางการเมือง” ที่อาจจะมาจากหลายปัจจัย โดยที่ผ่านมาน้องหยก ได้มีส่วนร่วมทางการเมือง อาทิ  การบุกคัดค้านการแถลงจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพภายในโรงเรียน ด้วยการแต่งชุดไปรเวทและย้อมผมไปเรียน การปีนรั้วเข้าโรงเรียนหลายครั้ง ฯลฯ ซึ่งการแสดงออกมีเจตนาที่อยากเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ แต่อาจแสดงออกผิดวิธีการในบางครั้ง

ผมจึงมองเห็นความสำคัญว่าการที่เยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นสิ่งดี ที่จะช่วยให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของชาติได้ แต่ที่สำคัญคือ ผู้ใหญ่ต้องชี้แนะและรับฟังเยาวชนเพื่อเยาวชนจะเข้าร่วมการบ้านการเมืองอย่างอารยะ ผมจึงเสนอแนวทางวิธีการสนับสนุนเยาวชนให้มีส่วนรวมการบ้านการเมือง ดังต่อไปนี้

1. การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงแก่เยาวชน

ที่ผ่านมา เยาวชนอาจได้รับข่าวสารที่บิดเบือนหรือไม่เป็นความจริง ถูกชักจูงด้วยสารที่มุ่งสร้างความเกลียดชัง รวมถึงการถูกปลุกระดมโดยกลุ่มหรือบุคคลที่มีเจตนาไม่ดี ซึ่งส่งผลให้เยาวชนขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่สามารถวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีเหตุผลอย่างเพียงพอ และนำไปสู่การแสดงออกทางการเมืองที่อาจจะไม่เหมาะสม ดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรสนับสนุนให้เยาวชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริง และส่งเสริมให้เยาวชนใช้ความคิดในการวิเคราะห์และแสดงความเห็นอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้เยาวชนมีส่วนร่วมทางการบ้านการเมืองในทางที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

2. การใช้อารยสนทนา 12 ขั้น เพื่อแสวงหาทางออกของปัญหาร่วมกัน

ผมเคยนำเสนอแนวคิดอารยสนทนา 12 ขั้นตอนเอาไว้ในหนังสือ อารยสนทนา : สนทนาสองเราสู่สนทนาสาธารณะ[1] สำหรับเป็นกรอบคิดทิศทางให้กับสังคมในการแสวงหาทางออกของปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความขัดแย้งสาธารณะที่ไม่สามารถตกลงกันได้และหรือประเด็นที่ยากจะหาข้อยุติร่วมกัน

อารยสนทนา หมายถึง การสนทนาพูดคุยกันทุกระดับตั้งแต่ระหว่าง 2 คนจนถึงการสนทนาสาธารณะที่มีเป้าหมายต้องการหาข้อตกลงหรือจุดยืนที่ยอมรับร่วมกัน โดยมีหลักความถูกต้อง ดีงาม เป็นตัวกำกับ อันประกอบด้วย

          ขั้นที่ 1 อารยสดับ (Araya Listening) เป็นการฟังเชิงลึกด้วยใจที่เป็นธรรม เปิดใจรับฟังประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น รับฟังกันและกันอย่างไม่มีอคติ ลำเอียง

          ขั้นที่ 2 อารยปุจฉา (Araya Query) เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ฟัง เพื่อนำสู่ความรู้ความเข้าใจที่กระจ่าง การค้นพบความจริง ฉุกคิดในมุมมองที่แตกต่าง และเพื่อให้เห็นภาพผลที่จะเกิดขึ้นตามมา

          ขั้นที่ 3 อารยปริทัศน์ (Araya Perspective) เป็นมุมมองต่อประเด็นการสนทนาที่ทำให้มีมุมมองเปิดกว้างไม่ยึดอคติในใจ มุ่งส่วนรวมไม่เห็นแก่ตัว มองแบบชนะทุกฝ่าย ไม่มองกันเป็นศัตรู เป็นมุมมองเพื่อความอยู่รอดของภาพรวมสูงสุด

          ขั้นที่ 4 อารยถกแถลง (Araya Discussion) เป็นการนำมุมมองที่แตกต่างมาร่วมกันถกแถลง แสดงข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุผลในเรื่องเดียวกัน เพื่อทำให้ประเด็นการสนทนาระหว่างกันเกิดความชัดเจน ลึกซึ้ง และครบถ้วน

          ขั้นที่ 5 อารยพิจารณา (Araya Configuration) เป็นการร่วมกันพิจารณาและทบทวนสิ่งที่ถกแถลงเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะอย่างรอบคอบ ในแง่มุมต่าง ๆ อย่างครบถ้วน ก่อนตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด เป็นการพิจารณาเพื่อมุ่งผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

          ขั้นที่ 6 อารยวาที (Araya Debate) เป็นการที่แต่ละฝ่ายนำเสนอเหตุผล ข้อดี ข้อเสีย เพื่อสนับสนุนจุดยืนของตน และนำเสนอเหตุผลโต้แย้งจุดยืนของอีกฝ่าย รับฟังกันและกันด้วยใจกว้างขวาง มิใช่ด้วยมุ่งเอาชนะ แต่เพื่อให้แต่ละฝ่ายเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

          ขั้นที่ 7 อารยปรึกษา (Araya Consultation) เป็นการปรึกษาหารืออย่างรอบคอบ พิจารณาอย่างมีหลักเกณฑ์ หลักการ และหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ เพื่อให้ได้ข้อสรุปจุดยืนที่ดีที่สุดที่แต่ละฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน

          ขั้นที่ 8 อารยเสวนา (Araya Dialogue) เป็นการนำข้อสรุปที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดการรับรู้และเข้าใจในทิศทางที่ตรงกันก่อนนำสู่การดำเนินการในภาคปฏิบัติ

          ขั้นที่ 9 อารยญัตติ (Araya Proposition) เป็นข้อเสนอที่ชัดเจนทั้งในหลักคิดและหลักปฏิบัติ ที่ตกผลึกแล้วว่ามีความถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อทุกฝ่าย ส่งผลดีทั้งระยะสั้นและระยะยาวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

          ขั้นที่ 10 อารยมติ (Araya Consensus) เป็นการลงมติหรือลงคะแนนเสียงชี้ขาด เพื่อยอมรับหรือปฏิเสธข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่ง เป็นมติที่เกิดจากการที่แต่ละบุคคลมีการคิดพิจารณาอย่างรอบคอบจนมั่นใจว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

          ขั้นที่ 11 อารยวิสัชนา (Araya Response) เป็นการตอบสนองต่อมติที่เกิดขึ้น ด้วยการร่วมรับรู้และยินดีร่วมมือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับผลที่เกิดขึ้น โดยตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะมีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

          ขั้นที่ 12 อารยพันธกิจ (Araya Mission) เป็นการปฏิบัติภารกิจตามมติที่ได้ตกลงกันไว้ โดยผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีภารกิจเฉพาะเจาะจงที่ต้องกระทำตามข้อตกลงร่วมกัน มีการประสานความร่วมมือกันอย่างมีเอกภาพและมีการประเมินผลเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

3.การมีส่วนร่วมทางการบ้านการเมืองในรูปแบบที่สร้างสรรค์

การเข้ามามีส่วนร่วมทางการบ้านการเมืองเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ดี โดยเยาวชนสามารถแสดงบทบาทได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างมีเหตุผล รวมถึงการร่วมรณรงค์หาเสียง ผมเคยเสนอวิธีการ “ประท้วงอย่างอารยะ” โดยใช้วิธีการที่สร้างสรรค์ ไม่ใช้ความรุนแรง และเคารพต่อกฎหมาย ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมทางการบ้านการเมือง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน

4.จัดตั้งสภาเยาวชน “อารยาธิปไตย”

เพื่อเป็นพื้นที่บ่มเพาะอุดมการณ์ให้เยาวชน ภายใต้การดูแลของสถาบันการสร้างชาติ ที่ผมเป็นประธาน โดยสถาบันฯ ตั้งเป้าจัดตั้ง “ชมรมการสร้างชาติ” ทั่วประเทศ เพื่อให้เยาวชนรวมตัวกัน สะท้อนปัญหา หาแนวทางในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมให้เยาวชนแลกเปลี่ยนกับนักการเมืองและผู้นำชุมชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี เก่ง กล้า เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ ผมเสนอว่าหน่วยงานภาครัฐควรให้การสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการบ้านการเมืองของเยาวชน เพื่อขยายผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ผมคิดว่า “การบ้านการเมือง” ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งเด็กและเยาวชนไทยที่เป็นเจ้าของในผืนแผ่นดินนี้ร่วมกัน ดังนั้นการปลูกฝังอุดมการณ์การเห็นคุณค่าการมีส่วนร่วมทางการบ้านการเมือง จะช่วยให้เด็กและเยาวชนไทยของเราเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศและนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในที่สุด

[1] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2556). อารยสนทนา : สนทนาสองเราสู่สนทนาอารยะ. ซัคเซส พับลิชชิ่ง.