ตามธรรมเนียมปฏิบัติของฮาร์วาร์ดในพิธีรับปริญญาของมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ดมักเชิญบุคคลสำคัญที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก มาพูดสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาที่กำลังจะก้าวสู่โลกจริงในชีวิตการทำงาน บุคคลต่างๆ เหล่านี้มีทั้งที่เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยและบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย อาทิ สตีเวน อัลลัน สปีลเบิร์ก (Steven Allan Spielberg) โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) เดวาล ลอร์ดีน แพทริค (Deval Laudine Patrick) บิล เกตส์ (Bill Gates) เป็นต้น
สำหรับปี ค.ศ. 2017 นี้ฮาร์วาร์ดเชิญ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) นักบริหารรุ่นใหม่ไฟแรง ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ค (Facebook) นักบริจาคการกุศล และศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและทรงอิทธิพลสร้างผลกระทบการเปลี่ยนแปลงระดับโลก มาพูดสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซักเคอร์เบิร์กเป็นบุคคลที่สองของฮาร์วาร์ดที่ลาออกขณะกำลังศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ด ด้วยต้องการอุทิศตัวทำตามความฝันของตนเอง เช่นเดียวกับรุ่นพี่มหาวิทยาลัยอย่าง บิล เกตส์ มหาเศรษฐีใจบุญผู้สร้างผลกระทบระดับโลก ซึ่งฮาร์วาร์ดเคยเชิญ เกตส์ มาพูดในพิธีรับปริญญาของมหาวิทยาลัย ปี ค.ศ. 2007 หรือประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา
ซักเคอร์เบิร์กและเพื่อนริเริ่มสร้างเฟซบุ๊คขณะกำลังศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ด เริ่มต้นจากออกแบบเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ใช้กันในหมู่นักศึกษาฮาร์วาร์ดชื่อว่า thefacebook.com ภายหลังเว็บไซต์ดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก ซักเคอร์เบิร์กและเพื่อนร่วมงานจึงย้ายออกจากหอพักมหาวิทยาลัยไปตั้งบริษัทของตนเองใช้ชื่อว่า เฟซบุ๊ค (Harvard gazette, 2017) ปัจจุบันเฟซบุ๊คเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมและมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก
นอกจากซักเคอร์เบิร์กจะเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ไฟแรงแล้วเขายังเป็นนักบริจาคการกุศลตัวยงด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อตั้ง ชาน ซัคเคอร์เบิร์ก อินนิเชียทีฟ (Chan Zuckerberg Initiative หรือ CZI) ร่วมกับภรรยาและตั้งใจสนับสนุนเงินจำนวนมากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงมากกว่า 10 ปีหลังจากนี้ ทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ หมอ วิศวกร และมหาวิทยาลัย ในการรักษา ป้องกัน หรือจัดการกับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ (Harvard gazette, 2017) การเชิญซักเคอร์เบิร์กมาพูดครั้งนี้จึงคาดว่าจะเป็นประโยชน์ช่วยสร้างแรงบันดาลใจกับผู้สำเร็จการศึกษาของฮาร์วาร์ดที่สำคัญอีกทางหนึ่ง
ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
การที่ฮาร์วาร์ดเชิญซักเคอร์เบิร์กและเกตส์มาพูดในพิธีรับปริญญาของมหาวิทยาลัยกำลังสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของความสำเร็จที่มิได้วัดจากปริญญาเท่านั้น แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะมีบทบาทและความสำคัญอย่างมากต่อการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพป้อนสู่สังคมและปริญญาจะเป็นมาตรฐานการคัดกรองอย่างหนึ่งก็ตาม แต่การนิยามความสำเร็จยังมีในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลายและมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงของการศึกษาและมหาวิทยาลัย
การพยายามเทียบเคียงความสำเร็จกับปริญญาหรือที่เรียกว่า ปริญญากิตติมศักดิ์ จึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับปริญญาเอก อันเป็นระดับการศึกษาที่เริ่มฝึกหัดผลิตความรู้ใหม่ให้แก่โลก รู้วิธีหา และพบความรู้ใหม่ ผมเคยนำเสนอความคิดเกี่ยวกับการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ดังกล่าวนี้ว่า ควรให้มีเกณฑ์มาตรฐานเป็นที่ยอมรับและมีคุณค่าเทียบเท่ากับปริญญาที่ได้รับจากการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย โดยควรมีเกณฑ์การพิจารณาทางด้าน ผลงานวิชาการ และ เกณฑ์ความดี หรือการทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม อย่างใดอย่างหนึ่ง ออกแบบให้ทั้ง 2 เกณฑ์นี้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและสามารถเทียบเคียงกับปริญญาที่ได้รับจากการศึกษาในมหาวิทยาลัย อันจะทำให้การมอบปริญญากิตติมศักดิ์มีคุณค่าและมีความหมายแท้จริงทั้งต่อผู้รับ มหาวิทยาลัย และประเทศชาติสังคมส่วนรวม
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 35 วันศุกร์ 12 – พฤหัสบดี 18 พฤษภาคม 2560
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ http://bit.ly/2reGLIL