ฮาร์วาร์ดร่วมมือวิจัยกับมหาวิทยาลัยมิชิแกนแก้ปัญหาสังคม

การสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเป็นยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาที่สำคัญประการหนึ่งในโลกยุคสมัยปัจจุบัน ด้วยว่าการร่วมมือกันจะทำให้เกิดการประสานทรัพยากรและความเชี่ยวชาญนำสู่ผลลัพธ์มากกว่าการที่แต่ละมหาวิทยาลัยต่างคนต่างทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการประเด็นปัญหาที่นับวันจะทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ด้วยว่าการใช้เพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งไม่เพียงพอต่อการตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและองค์ความรู้

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยนี้เช่นเดียวกัน สังเกตจากที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดริเริ่มให้มีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในลักษณะหลากหลาย เช่น การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกัน การทำโครงการวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้น การสร้างความร่วมมือดังกล่าวนี้มีส่วนสร้างผลกระทบอย่างสำคัญ เช่น การร่วมมือพัฒนาหลักสูตรออนไลน์มีส่วนสร้างผลกระทบระดับโลก เป็นต้น

ตัวอย่างล่าสุดที่ผ่านมา แหล่งข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุถึงการตกลงทำความร่วมมือทางด้านการวิจัยระหว่างฮาร์วาร์ดกับมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan)[1] ในสมัยของอธิการบดีคนใหม่ของฮาร์วาร์ด ลอว์เรนซ์ บาคาว (Lawrence Bacow) ด้วยหวังต้องการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองดีทรอยต์ (Detroit) และลดวิกฤตการใช้สารโอปิออยด์ (opioid crisis) อันเป็นประเด็นปัญหาสำคัญระดับชาติ โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมิชิแกน มาร์ก ชิสเซิล (Mark Schlissel) กล่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวนี้ว่า การร่วมมือกันนำความเชี่ยวชาญจากทั้งสองมหาวิทยาลัยและชุมชนมาช่วยสร้างความแตกต่างให้กับประเด็นทางสังคมที่สำคัญ

การเป็นหุ้นส่วนเมืองดีทรอยต์ครั้งนี้ประกอบด้วยความร่วมมืออย่างแรกคือ โครงการความเท่าเทียมกันแห่งโอกาส (Equality of Opportunity Project) (นำโดย ศาสตราจารย์ราช เฉตตี (Raj Chetty) ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณะ วิลเลียม เอ เอคแมน ของฮาร์วาร์ด (Harvard’s William A. Ackman Professor of Public Economics) ศาสตราจารย์เนธาเนียล เฮ็นเดร็น (Nathaniel Hendren) ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ของฮาร์วาร์ด จอห์น ฟรีดแมน (John Friedman) รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University Associate Professor)) ร่วมกับโครงการริเริ่มหาคำตอบของความยากจนของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan’s Poverty Solutions initiative) เมืองดีทรอยต์ (City of Detroit) และหุ้นส่วนชุมชน ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงรายได้ของผู้พักอาศัยที่มีรายได้น้อยในเมืองดีทรอยต์

ความร่วมมืออย่างที่สองเกิดขึ้นระหว่างวิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด (Harvard T.H. Chan School of Public Health) กับเครือข่ายการสั่งใช้สารโอปิออยด์มิชิแกน (Michigan Opioid Prescribing Engagement Network) ในการทำงานเพื่อหาทางออกของโรคระบาดร่วมกัน โดยความพยายามจัดการประเด็นปัญหาสารโอปิออยด์ดังกล่าวนี้จะเริ่มต้นด้วยการประชุมร่วมทางนโยบาย (joint policy summits) ในรัฐแมสซาชูเซตส์และรัฐมิชิแกนที่มีการนำผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขามาช่วยจัดการประเด็นปัญหาร่วมกัน เช่น ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

ผมเคยนำเสนอความคิดนานแล้วว่า มหาวิทยาลัยควรสนใจสังคมในมุมกว้าง ประกอบด้วย 3 มิติคือ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติการเมือง หรือมีกระบวนทัศน์ที่ผมเรียกว่า Socio-Political Economy Paradigm ทั้ง 3 มิตินี้ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางสังคม[2] มหาวิทยาลัยไม่ควรแปลกแยกจากสังคม ทำหน้าที่ผลิตองค์ความรู้หรือสร้างคนป้อนสู่สังคมเท่านั้น แต่ควรเกาะเกี่ยวกับสังคม มีปฏิสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน และมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นบนฐานความเชี่ยวชาญของตนเอง เช่น การมีส่วนร่วมผลิตองค์ความรู้สนองตอบความต้องการของสังคม การมีส่วนช่วยเตรียมองค์ความรู้ที่สำคัญจำเป็นให้แก่สังคม เป็นต้น

 

[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/09/harvard-university-of-michigan-to-tackle-social-ills-on-two-fronts/

[2] ผมนำเสนอความคิด Socio-Political Economy Paradigm ครั้งแรกในการอภิปรายเรื่อง บทบาทและทิศทางของมหาวิทยาลัย ต่อการพัฒนาประชาคม ด้านสังคมและวัฒนธรรม การประชุมผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา และภาคประชาคม ด้านสังคมและวัฒนธรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน “ด้านการศึกษา”เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี พ.ศ. 2558 จัดโดย มูลนิธิสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม 2556.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 66 ฉบับที่ 9 วันศุกร์ 9 – พฤหัสบดี 15 พฤศจิกายน 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *