ฮาร์วาร์ดพบทำงานปฏิสัมพันธ์เป็นระยะมีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากมหาวิทยาลัยจะมีบทบาทของการสอนแล้วสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันคือ การทำวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่หรือที่ผมเรียกว่า “ความรู้สด” ตามที่เคยนำเสนอเอาไว้ในหลายเวทีและเคยเขียนเป็นบทความก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยต้องทำวิจัย การเพียงแต่สอนไม่เพียงพอ ด้วยว่ามหาวิทยาลัยต้องเป็นแหล่งผลิตและกระจายองค์ความรู้สู่สังคม

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีการผลิตผลงานวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ล่าสุดที่ผ่านมา อาจารย์จากวิทยาลัยธุรกิจ (Harvard Business School) และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทอร์น (Northeastern University) ได้นำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจในเอกสารของสถาบันวิทยาการสหรัฐอเมริกา (National Academy of Sciences หรือ NAS) เกี่ยวกับโมเดลการทำงานร่วมกันผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่

ผลการวิจัยดังกล่าวนี้พบข้อค้นพบที่แตกต่างจากความเชื่อที่เคยมีมามากกว่า 10 ปีนับตั้งแต่ภายหลังจากการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนที่ผู้คนมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่กันอย่างแพร่หลาย เช่น จดหมายอิเล็คทรอนิส์ ข้อความโต้ตอบแบบทันที สื่อสังคมออนไลน์ สแล็ค (Slack) แพลตฟอร์มสำหรับการสื่อสารภายในองค์กร แยมเมอร์ (Yammer) เครือข่ายสังคมออนไลน์สำหรับองค์กร และอื่น ๆ โดยการเชื่อมต่อระหว่างกันเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการแบ่งปันข้อแนะนำ ความรู้ การคิด และคำตอบ ระหว่างกัน แต่คำถาม “ปัญญาของฝูงชน” (wisdom of the crowd) ดังกล่าวนี้ดีสำหรับการแก้ปัญหาการทำงานจริงหรือไม่?

ผลการศึกษาพบว่า การใช้เทคโนโลยีอย่างมากอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเสมอไป ขณะที่การหยุดและเริ่มต้นใหม่เป็นระยะอาจจะดีกว่าสำหรับการแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการศึกษาการแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนของกลุ่มทดลอง 3 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มที่มีสมาชิก 3 คน โดยสมาชิกกลุ่มที่ 1 ไม่เคยปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเลย แต่ละคนแก้ปัญหาโดยลำพัง สมาชิกกลุ่มที่ 2 มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันตลอดเวลาโดยใช้เทคโนโลยี และสมาชิกกลุ่มที่ 3 มีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกันเป็นระยะ โดยบางช่วงมีการพักให้สมาชิกไปทำงานที่รับผิดชอบ และมาร่วมปฏิสัมพันธ์ผ่านการใช้เทคโนโลยีเป็นครั้งตามนัดหมาย

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่สมาชิกที่มีการปฏิสัมพันธ์กันเป็นระยะให้ผลเกือบเช่นเดียวกับ (nearly identical) กลุ่มที่มีการปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา แต่ผลลัพธ์ที่น่าสนใจมากที่สุดคือ กลุ่มที่ 3 พบว่าเมื่อแต่ละบุคคลมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นระยะ บุคคลที่มีผลการปฏิบัติงานเป็นเลิศกว่าสามารถเรียนรู้จากบุคคลที่มีผลการปฏิบัติงานต่ำ โดยความคิดของบุคคลที่มีผลการปฏิบัติงานต่ำจะช่วยให้บุคคลที่มีผลการปฏิบัติงานเป็นเลิศกว่าบรรลุทางออกของปัญหาที่ดีกว่า

คณะวิจัยพบนัยยะจำนวนหนึ่งของสถานที่ทำงาน การค้นพบก็คือ ประโยชน์ของการพยายามให้แต่ละบุคคลมีการทำงานอย่างอิสระสลับกับการทำงานประชุมร่วมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งมีประสิทธิผลมากกว่าลักษณะการทำงานแบบดั้งเดิมในองค์กรที่แต่ละบุคคลทำงานโดยลำพังแล้วจึงมารายงานผลร่วมกันในการประชุมหรือการที่ผู้ทำงานในกลุ่มติดต่อสื่อสารกันตลอดเวลา ผลวิจัยชี้ชัดว่ากลุ่มปฏิสัมพันธ์เป็นระยะส่งผลลัพธ์ดีกว่า[1]

กรณีมหาวิทยาลัยไทยควรให้ความสนใจกับประเด็นการวิจัยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคปฏิบัติ โดยให้มีการเกาะเกี่ยวกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น การพัฒนาวิธีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการทำงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เป็นต้น ด้วยว่าอนาคตมีแนวโน้มที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้หากนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพจะยิ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต

 

[1] อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/08/collaborate-on-complex-problems-but-only-intermittently/

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 52 วันศุกร์ 7 – พฤหัสบดี 13 กันยายน 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *