?หมดไฟ?..จะจุดใหม่ได้อย่างไร?

         “คุณเคยรู้สึก หรือกำลังรู้สึก ‘หมดไฟ’ ในการทำงานหรือไม่?” 

         หากถามคำถามนี้กับคนในที่ทำงาน ผมเชื่อว่า จะได้รับคำตอบว่า เคย หรือไม่ก็อาจกำลัง ‘หมดไฟ’ -รู้สึกเบื่อหน่าย ทั้งงาน ทั้งเพื่อนร่วมงาน ทั้งสภาพแวดล้อมในการทำงาน บางคนอาจบอกว่า..แทบไม่อยากจะออกจากบ้านไปทำงานเลย!! 

         คนทำงานจำนวนไม่น้อย เริ่มต้นการทำงาน ด้วยการเป็น “เด็กใหม่ไฟแรง” ทำงานอย่างกระตือรือร้น ทุ่มเท เรียนรู้ ไม่มีบ่น ไม่มีเบื่อ มุ่งให้สำเร็จตามเป้าหมาย .. แต่ไฟนั้นค่อย ๆ มอดลงตามกาลเวลา ยิ่งทำมานาน ยิ่งหมดไฟไปเรื่อย ๆ จนเรียกได้ว่า ‘หมดอารมณ์’ หรือ ‘หมดไฟ’ ในการทำงานในที่สุด

         อาการ ‘หมดไฟ’ ในการทำงาน ภาษาอังกฤษใช้คำว่า burnout หมายถึง สภาวะทางจิตที่อยู่ภายใต้ความกดดันตึงเครียดเป็นเวลานาน จนเกิดความรู้สึกเหนื่อยหน่ายอ่อนล้าทั้งร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ส่งผลให้ขาดความสนใจ ความกระตือรือร้นในการทำงาน อันเกิดจากสาเหตุสำคัญ ๆ อาทิ ขาดการเห็นคุณค่าในงานที่ทำ รู้สึกสูญเสียตัวตน เพราะต้องฝืนทนทำงานที่ไม่ได้อยากจะทำจริง ๆ  หรือทำงานประจำซ้ำซาก เหมือนเดิมต่อเนื่องนานหลายปี ขาดความท้าทายใหม่ ๆ หรืออาจเพราะเกิดความรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงกับระบบ หรือได้ผลตอบแทนไม่คุ้มกับการลงแรงไป ฯลฯ

         เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.2015 ที่ผ่านมา แครอล เพคแฮม (Carol Peckham) ได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับชีวิตของแพทย์ในอเมริกา ปี 2015 (Medscape Physician Lifestyle Report 2015)  จากการสำรวจแพทย์ในสาขาต่าง ๆ พบว่า ร้อยละ 46 ยอมรับว่าหมดไฟ (burnout) ในการทำงาน สาขาที่รู้สึกหมดไฟอันดับต้น ๆ ได้แก่ Critical Care (53%) ตามมาด้วย Emergency Medicine (52%) และ Family Medicine (50%) ส่วนสาเหตุเกิดจากความเบื่อหน่ายการทำงานภายใต้ระบบราชการ ที่มีขั้นตอนมากเกินไป ขาดความเป็นอิสระในการตัดสินใจ การใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานมากเกินไป (ขาดความสมดุลจนเกิดความเครียด) นอกจากนี้ ยังพบว่า การมีรายได้น้อย ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้แพทย์หมดไฟในการทำงาน

         เป็นความจริงที่ว่า ไม่ว่าใคร ทำอาชีพใด อายุเท่าไหร่ ก็สามารถ ‘หมดไฟ’ ในการทำงานได้… 

         คำถามคือ ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่ ‘หมดไฟ’ จะ ‘จุดไฟ’ ขึ้นใหม่ ให้เหมือน ‘เด็กใหม่ไฟแรง’ ได้อย่างไร???

         ทบทวน ‘คุณค่า’ ของงานที่ทำ ถามตัวเองว่า เราทำงานนี้ไปทำไม? งานที่เราทำมีคุณค่าหรือไม่?   งานนี้มีค่าพอที่จะทิ้งชีวิตที่เหลืออยู่กับมันหรือไม่? ถ้าเราเห็นว่างานที่ทำมีคุณค่า สร้างผลลัพธ์ที่มีประโยชน์ และไม่เสียใจหรือเสียดายเวลาเมื่อมองย้อนกลับมา ให้เราตัดสินใจที่จะ ‘ทำให้ดีที่สุด’ ตั้งใจ ตั้งเป้าหมายและทำทุก ๆ วันอย่างกระตือรือร้น แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราไม่เห็นคุณค่าของงานที่ทำ มากกว่าเห็นคุณค่าของผลตอบแทนที่ได้รับ ทำไปเพียงเพื่อแลกกับ ‘เปลือก’ ภายนอก เช่น เงินเดือนสูง ๆ ไม่กล้าลาออกเพราะกลัวตกงาน หรือไม่รู้จะไปทำอะไร ฯลฯ ขอแนะนำว่า ให้เรากล้าตัดสินใจ ‘ลาออก’ และไปเผชิญหน้าหาทางเลือกใหม่ ๆ ที่เลือกเพราะเห็นคุณค่า และพร้อมที่จะทุ่มเทตัวตนให้กับมันอย่างแท้จริง เพราะมิฉะนั้น เราจะต้องทำงานอย่าง ‘หมดไฟ’ และไร้สุขต่อไป

         จำไว้ว่า ความผิดพลาดสำคัญในการเลือกอาชีพของคนจำนวนมาก คือ เลือกอาชีพ โดยดูจากผลตอบแทนมากกว่าสิ่งที่ชอบและคุณค่าที่ให้ต่ออาชีพ เราควรเลือกงานที่คุณค่า และสะท้อนตัวตนของเรา เพื่อให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจและสมศักดิ์ศรีของชีวิตที่ได้เกิดมาเพื่อทำงานนั้น

         บูรณาการ งาน กับ ชีวิต ผมได้นิยามการทำงานของผมไว้ในหนังสือ ข้อคิดเพื่อการทำงาน  ว่า“การทำงาน คือ การบูรณาการ ระหว่าง สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราพูด และสิ่งที่เราทำ ทั้งสี่สิ่งนี้ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงสัมผัสมิติความสำเร็จ ที่ได้ใช้ศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ในชีวิตออกมา” ผมเป็นคนที่เอาชีวิตไว้ตรงกลาง แล้วเอางานมาล้อมชีวิต โดยเลือกงานที่ “คุณค่า” ในเนื้อแท้ของงาน เป็นงานที่มีประโยชน์และเห็นคุณค่าที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวม  จึงทำให้ผมทำงานอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง ไม่เคยเห็นงานเป็นส่วนเกินของชีวิต

         ในขณะเดียวกัน ผมก็เห็นคุณค่าของการใช้เวลากับครอบครัว การใช้เวลาเพื่อการพักผ่อน จึงทำไปด้วยพร้อม ๆ กันไม่เคยคิดแยกส่วนชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัว แต่บูรณาการเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ไปด้วยกันอย่างสมดุลและกลมกลืน สำหรับผมวันหยุดก็คือวันทำงาน วันที่ใช้เวลากับครอบครัวก็คือวันทำงาน

         ทำงานทุกวันให้เหมือน ‘วันสมัครงาน’ ผมเตือนทีมงานที่ทำงานร่วมกันเสมอว่า “ให้เราทำงานเสมือนหนึ่งว่า ทุกเวลา คือ เวลาสมัครงาน และเริ่มงานใหม่ตลอดชีวิต” เพราะเมื่อเริ่มต้นงานใหม่ เราจะตั้งใจ กระตือรือร้น เรียนรู้ ทุ่มเทพยายามอย่างเต็มที่ และมุ่งมั่นทำจนสำเร็จ การเตือนตัวเองเช่นนี้เสมอ จะช่วยลดความรู้สึกว่า งานที่ทำมานาน ๆ นั้นเป็น “งานประจำ” ที่น่าเบื่อหน่าย แต่จะทำงานวันนี้ เพื่ออนาคต ริเริ่มคิดและทำสิ่งใหม่ ๆ เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ พร้อมเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่าได้ตลอดเวลา

         คนส่วนใหญ่ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตในการทำงาน หาก “ยิ่งทำยิ่งทุกข์” ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เราจึงควรเร่งหาวิธี ‘เติมไฟ’ ให้ลุกโชน เหมือน ‘เด็กใหม่ไฟแรง’ อยู่เสมอ เพิ่มเติมเต็มความสุขตลอดชีวิตที่เหลือของเรา

 

 

ที่มา: งานวันนี้
ปีที่ 17 ฉบับที่ 739 วันที่ 10-24 มิถุนายน 2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :  http://c14608526.r26.cf2.rackcdn.com/134393AA-63A1-4FED-86FB-4C66583D002E.jpg