ผู้เขียนได้เห็นสรุปสถิติการฆ่าตัวตายปี 2557 ผ่านทางรายการข่าวเมื่อช่วงเดือนธ.ค.ปี 2557 ที่ผ่านมา ในข่าวบอกว่ามีสถิติเด็ก อายุ 13 ปี ฆ่าตัวตายด้วยทำให้รู้สึกสะเทือนใจ ว่าทำไมเด็กอายุน้อยขนาดนี้จึงคิดฆ่าตัวตาย หรือเด็กขนาดนี้มีปัญหาชีวิตมากจนไม่สามารถแก้ไขได้ จึงได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องการฆ่าตัวตายและทราบว่า ?เรื่องการฆ่าตัวตาย? กำลังเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจและ *WHO ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 10 กันยายนของทุกปีเป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) มี ?ดอกสะมาเรีย? เป็นสัญลักษณ์การป้องกันการฆ่าตัวตายของประเทศไทย ในปีนี้ รณรงค์ภายใต้แนวคิด ?ทั่วโลกประสานใจ ป้องกันการฆ่าตัวตาย? ซึ่งองค์การอนามัยโลกประมาณการว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายมากกว่า 800,000 ราย หรือ เฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 40 วินาที คาดการณ์ว่า ในปี 2563 จะมีคนเสียชีวิตถึง 1.53 ล้านคน จึงกำหนดให้ประเทศสมาชิกร่วมแก้ไขปัญหาและลดอัตราการฆ่าตัวตายลงให้ได้ถึงร้อยละ 10 โดยประเทศไทยในปี 2556 พบผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่า 3,900 รายต่อปี คิดเป็นอัตรา 6.08 คนต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 328 คน หรือวันละ 10-12 คน คิดเป็นทุก 2 ชั่วโมงมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน*
น่าตกใจมากกับสถิติที่เกิดขึ้นนี้ !!
ปัญหา อุปสรรค การไม่สมหวัง ความผิดพลาด ล้มเหลว บกพร่อง โรคภัยไข้เจ็บ การพลัดพรากจากคนที่รัก ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอในชีวิตคน ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่มีใครสามารถปกป้องลูกไม่ให้พบสิ่งเหล่านี้ได้เลย แม้มีเงินล้นฟ้า อำนาจล้นมือก็ตาม
แล้วทำอย่างไรที่ลูกจะสามารถเผชิญปัญหา..ฝ่าวิกฤตชีวิตเหล่านี้ไปได้
สมัยนี้เราเริ่มเชื่อกันแล้วว่า อีคิว หรือความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient) เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้คนประสบความสำเร็จมากกว่าไอคิว โดย แดเนียล โกลแมน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และได้ให้ความหมายของอีคิว ไว้ว่า “เป็นความสามารถหลายด้าน ได้แก่ การเร่งเร้าตัวเองให้ไปสู่เป้าหมาย มีความสามารถควบคุมความขัดแย้งของตนเอง รอคอยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถจัดการกับอารมณ์ไม่สบายต่าง ๆ มีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง”
ดังนั้น หากลูกของเรามีอีคิวสูงจะมีแนวโน้มฝ่าอุปสรรคปัญหาชีวิตไปได้
สอนลูกอย่างไรบ้างให้สามารถผ่านอุปสรรคปัญหาชีวิตได้
ให้โอกาสลูกได้พบความผิดหวังบ้าง เรื่องนี้สามารถทำได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก เช่น การฝึกให้รู้จักรอ การที่ลูกอาจไม่ได้ของเล่นทุกอย่างที่ลูกอยากได้ หากมีราคาแพงเกินจำเป็น สอนให้ลูกไม่เปรียบเทียบกับคนอื่นที่มีมากกว่า ให้รู้จักพอใจในสิ่งที่มี ไม่ต้องมีเหมือนเพื่อนทุกอย่าง ซึ่งในความเป็นจริงผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนปรารถนาให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุดสุดความสามารถของพ่อแม่อยู่แล้ว แต่พ่อแม่ต้องนิยามความหมายของ ?สิ่งที่ดีที่สุด? ของพ่อแม่ให้ถูกต้องก่อน เพราะบางทีนิยามของพ่อแม่ไม่ถูกต้องก็ส่งผลร้ายต่อลูกได้ เช่น ถ้านิยาม ?สิ่งดีที่สุด? ของพ่อแม่ คือของมีราคาแพง หรือต้องมีให้เหมือนเพื่อนคนโน้นคนนี้ แน่นอนครับว่า ลูกจะกลายเป็นคนฟุ้งเฟ้อ จมไม่ลง และในอนาคตอาจยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งของมีราคาแพง โดยไม่สนใจความถูกผิดก็เป็นได้ เคยได้ยินบ่อยๆที่พ่อแม่บางคนต้องไปกู้หนี้ยืมสิ้นเพราะลูกอยากได้ ไอแพดไอโฟนเหมือนเพื่อน เหตุผลคือเพราะสงสารลูก รักลูก หากเป็นอย่างนี้ เด็กจะสร้างปัญหาในอนาคตอย่างแน่นอน
สอนลูกผ่านความความล้มเหลวในชีวิต เราควรบอกลูกว่า ความล้มเหลว ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องใหญ่ ขอเพียงเรามีความตั้งใจที่ดี มีความเพียรอดทน เราจะลุกขึ้นมาประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน เช่น บางครั้งลูกอาจสอบตก หรือสอบเข้าเรียนต่อไม่ได้ หลังจากการให้กำลังใจลูกแล้ว ควรลองชวนลูกคิดว่า มีข้อผิดพลาดอะไร เพื่อนำมาแก้ไขสำหรับครั้งต่อไปได้ ผิดครั้งแรกควรเป็นครูของเรา ไม่มีใครไม่เคยพลาด หรือล้มเหลว มีประธานาธิบดีหลายคนที่เคยล้มเหลวในการเลือกตั้งหลายครั้ง แต่เขาไม่ย่อท้อและในที่สุดเขาประสบความสำเร็จ
สอนให้ลูกรู้ว่าชีวิตจริงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป (แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายจนไม่น่าอยู่เอาเสียเลย) เราไม่ได้สอนลูกให้มองโลกในแง่ร้าย แต่สอนให้ลูกรู้ว่าชีวิตจริงจะมีอุปสรรคปัญหาบ้างไม่มากก็น้อย แต่เราจะสามารถผ่านไปได้หากเรามีสติ ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ แก้ไข จะต้องมีทางออกอย่างแน่นอน ไม่มีใครแพ้ หากเราไม่ยอมแพ้ นอกจากนี้ต้องสอนลูกว่า มีหลายอย่างที่เราต้องเตรียมใจว่า ?อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด? อย่ากลัวปัญหาไปก่อนเพื่อเราจะได้มีกำลังที่สามารถรับมือกับปัญหานั้น ๆ ได้
สอนด้วยแบบอย่างชีวิตของพ่อแม่ที่เคยประสบวิกฤตปัญหาและการรับมือ ผ่านการเล่าประสบการณ์ในอดีตของปู่ย่าตายาย หรือของพ่อแม่เอง หรือบางครั้งหากลูกเติบโตมีวุฒิภาวะเพียงพอ พ่อแม่สามารถให้ลูกได้รับรู้ปัญหาภายในครอบครัว เพื่อเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาจริงของพ่อแม่ไปด้วย
สอนลูกให้รู้จักจัดการกับความเครียดได้อย่างถูกต้อง ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย ต้องสอนให้ลูกรู้จักตัวเอง รู้จักอารมณ์ตัวเอง จะทำให้สามารถรู้วิธีจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ แนะนำวิธีการทั้งฝ่ายกายภาพและภายในจิตใจ เช่น การออกกำลังกาย ดูหนังฟังเพลง ทำให้สิ่งที่ตนเองชอบแบบไม่ผิดศีลธรรมและไม่ทำร้ายตนเอง การจัดการภายใน เช่น การพึ่งพาศาสนา การรู้จักคิดในสิ่งที่จริง ไม่ใช่คิดอะไรที่เกินจริง จินตนาการร้ายแรงเกินเหตุ เป็นต้น
สอนลูกให้นึกถึงตัวอย่างคนที่พบความยากลำบากมากกว่าเรา เล่าตัวอย่างชีวิตจริงของคนอื่นที่ลำบากกว่าเรา และสามารถประสบความสำเร็จได้ในที่สุดให้ลูกฟัง จะทำให้เป็นกำลังใจในการเผชิญปัญหาชีวิตว่า เราก็สามารถผ่านได้เช่นกัน
พาลูกให้มีกลุ่มเพื่อนสนิทที่เป็นคนดี พากันทำในสิ่งที่ดี นอกจากพ่อแม่ หรือคนในครอบครัวที่คอยดูแลให้คำปรึกษาแล้ว ลูกควรมีกลุ่มเพื่อนสนิทที่ดี พากันไปในทางที่ดีที่คอยให้กำลังใจหรือระบายความในใจได้ จากสถิติการฆ่าตัวตายหลายราย เกิดเนื่องจากไม่มีทางออก ไม่รู้จะพึ่งพาหรือระบายภาระปัญหากับใครได้ อันนำมาซึ่งความเก็บกด และฆ่าตัวตายในที่สุด
ไม่สร้างแรงกดดันแต่พร้อมเข้าใจและให้กำลังใจ ด้วยภาวะการแข่งขันสูง พ่อแม่หลายคนคาดหวังไว้สูงว่า อยากให้ลูกเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ หรือเรียนคณะที่สอบเข้ายากๆ คะแนนสูงๆ อาจนำมาซึ่งความเครียดให้กับเด็กได้ ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดี มีเด็กอายุ 9 ขวบคนหนึ่งต้องแสดงเปียโนในคอนเสริต์หนึ่ง ด้วยบทเพลงที่เด็กรู้สึกว่ายากเกินความสามารถของเขา แม้จะผ่านการซ้อมอย่างหนักมาแล้วก็ตาม เขาบอกกับแม่ของเขาว่า ?แม่ครับ ถ้าผมเล่นผิด จะเป็นอะไรมั๊ยครับ? แม่ของเด็กยิ้มให้ลูกอย่างอ่อนโยนแล้วบอกว่า ?ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย ถ้าลูกจะเล่นผิด เพียงลูกได้ก้าวขึ้นไปแสดงบนเวทีก็เป็นความภาคภูมิใจสำหรับแม่แล้ว แต่ถ้าลูกเล่นได้ดี มันจะกลายเป็นความภาคภูมิใจสำหรับลูกเองต่างหาก? เด็กคนนี้ก้าวขึ้นไปแสดงเปียโนจนจบบทเพลงด้วยเสียงปรบมืออย่างกึกก้องที่ประชุมแห่งนั้น
สอนลูกให้รู้จักดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย สถิติของกรมสุขภาพจิตพบว่า ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจะมีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูง เพราะรู้สึกหมดหวังที่จะหายโรค ช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ บางคนไม่อยากเป็นภาระกับคนใกล้ชิด หรือเกิดภาวะซึมเศร้า ดังนั้น หากเราดูแลสุขภาพเราอย่างดี เราก็จะห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บในที่สุด
สอนลูกให้รู้ทันเท่าสื่อ ไม่เลียนแบบสื่อในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เด็กมีแนวโน้มรับอิทธิพลจากสื่อสูงมาก ดังตัวอย่าง วัยรุ่นเกาหลีใต้ อายุ 15-24 ปี เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จากสถิติปี 2555 มีเด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตาย 11 คน จาก 100,000 คน เมื่อเทียบกับอุบัติเหตุ 6 คน จาก 100,000 คน หลายรายเกิดจากการฆ่าตัวตายเลียนแบบดารานักร้องที่ตนเองชื่นชอบ พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกแยกแยะสิ่งที่ถูก สิ่งที่ผิด สิ่งที่จริง สิ่งที่ไม่จริงเสมอ ต้องหาเวลาคุยกับลูก ดูทีวีกับลูกเพื่อทราบแนวคิดของเด็ก จะได้สามารถแก้ไขและแนะนำได้ทันท่วงที
ผมเชื่อว่าการป้องกันปัญหาดีกว่าและง่ายกว่าการแก้ไขปัญหา พ่อแม่และผู้ใหญ่ทุกคนควรป้องกันปัญหา ดีกว่าปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วมานั่งเสียใจในภายหลัง เพราะเมื่อถึงเวลานั้นเราอาจจะพบว่า การแก้ปัญหาทำไม่ได้เพราะว่า ?สายไปเสียแล้ว?
ที่มา:?แม่และเด็ก
ปีที่ 38 ฉบับที่ 517 เดือน มีนาคม 2558
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,?http:// www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ :?http://www.francebleu.fr/sites/default/files/article/babysitting.jpg