วิสัยทัศน์ประเทศไทย ตั้งเป้าเป็น Blue Zone แห่งที่ 6 ของโลก

ก่อนการระบาดของ COVID-19 สถาบันการสร้างชาติ ได้มีโอกาสนำนักศึกษาในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ (นสช.) ไปดูงานในต่างประเทศที่เป็นต้นแบบที่ดีที่สุดของโลกในเรื่องต่างๆ
.
ครั้งหนึ่งที่สถาบันฯ ได้นำนักศึกษาไปดูงานในแถบเกาะซาดิเนีย ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความชุกของผู้คนที่มีอายุยืนเป็นพิเศษจำนวนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในอิตาลี และในโลก จึงถูกสถาปนาเป็น 1 ใน 5 ของพื้นที่ที่มีผู้คนอายุยืนที่สุดในโลก หรือที่เรียกกว่า Blue Zone ร่วมกับอีก 4 พื้นที่ ได้แก่ เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เกาะอิคาเรีย ประเทศกรีซ คาบสมุทรนิโคยา ประเทศคอสตาริกา และชุมชนเซเว่นเดย์ แอดแวนติสต์ ในโลมาลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
.
แนวคิด Blue Zone ที่ผมได้ไปดูงาน ทำให้ผมเกิดความคิดที่ต่อยอดจากสิ่งผมได้ขบคิดมาตลอดชีวิตเกี่ยวกับการสร้างชาติไทยให้เป็นต้นแบบการพัฒนาของโลก โดยผมได้เสนอมาเป็นเวลานานแล้วว่า
เราควรพัฒนาในด้านที่เป็นจุดแกร่งของประเทศ หรือ Thailand’s Niches ประกอบด้วย เมืองหลวงอาหารโลก เมืองหลวงการท่องเที่ยวโลก เมืองหลวงสุขสภาพ (wellness) โลก และเมืองหลวงการอภิบาลคนชราโลก
.
ซึ่งการพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองหลวงทั้ง 4 ด้านนั้น ผมเห็นว่า เราควรกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นเป้าหมายระดับโลก เพื่อเป็นหนึ่งในหลักชัยที่จะไปให้ถึง และเป็นการส่งสัญญาณให้ทั่วโลกรับรู้ถึงความเอกอุของไทยในทั้ง 4 ด้านนี้
.
ผู้เขียนจึงขอเสนอวิสัยทัศน์ประเทศไทย โดยกำหนดเป้าหมายให้ ประเทศไทยเป็น Blue Zone แห่งที่ 6 ของโลก
.
ทำไมเราควรผลักดันประเทศไทยเป็น Blue Zone
หากเราพิจารณาถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้คนในพื้นที่ Blue Zone มีอายุยืนยาว การวิจัยปัจจัยเชิงพฤติกรรมของผู้สูงอายุ 100 ขึ้นไปในพื้นที่ดังกล่าว พบปัจจัยร่วมหลายประการ อาทิ การรับประทานอาหารที่มีพืชเป็นองค์ประกอบหลัก การรับประทานเพียงร้อยละ 80 ของความอิ่ม
.
การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเป็นปกติในวิถีชีวิต หรือที่ผมเรียกว่า Natural Exercise การมีกิจกรรมประจำวันในการลดความเครียดในชีวิต การมีคนที่เขารักและคนที่รักเขา การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนฐานความเชื่อ การมีกลุ่มเพื่อนที่ผูกพันกันตลอดชีวิต และการมีจุดมุ่งหมายในชีวิต
.
นอกจากนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาว ยังระบุถึงปัจจัยอื่นๆ ทั้งในกลไกระดับพันธุกรรม ชีวเคมี และโมเลกุลในเซลล์ของมนุษย์ รวมถึงจุลินทรีย์ในลำไส้ พฤติกรรมและวิถีชีวิต เช่น การกิน การดื่ม การออกกำลังกาย สุขอนามัย การนอนหลับ สภาพอารมณ์และจิตวิทยา ความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น ตลอดจนปัจจัยเชิงนโยบายและสภาพแวดล้อม เช่น แร่ธาตุในดินและน้ำ สภาพอากาศ ภาวะเศรษฐกิจ สภาพสังคม วัฒนธรรม ระบบสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
.
ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Blue Zone นั้น ต้องพัฒนาครอบคลุมปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อให้ผู้คนที่อาศัยอยู่มีอายุยืนยาว แข็งแรง และมีความสุข โดยส่วนหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้น คือ การพัฒนาการผลิตและบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและไม่เป็นภัยต่อสุขภาพ การพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ในประเทศให้น่าเที่ยวน่าอยู่
.
การพัฒนาบริการและปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตอย่างมีสุขสภาพที่ดี และเอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย ซึ่งหมายความว่า การพัฒนาประเทศไทยเป็น 4 เมืองหลวงโลก และเป็น Blue Zone แห่งที่ 6 ของโลกเป็นเรื่องที่สอดประสานไปด้วยกันได้
.
หากการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Blue_Zone แห่งที่ 6 ของโลกประสบความสำเร็จ จะเป็นเหมือนตราที่ช่วยรับรองความเป็นเมืองหลวงโลกทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะด้านการอภิบาลคนชราและด้านสุขสภาพ ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสดึงดูดคนจากทั่วโลกเข้ามาทำงาน อยู่อาศัย ท่องเที่ยวและลงทุน
.
ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้เข้าประเทศแล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน และทำให้คนในประเทศมีสุขสภาพที่ดี ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและงบประมาณในการรักษาความเจ็บป่วยและดูแลคนชรา
.
ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็น Blue Zone หรือไม่
การระบุว่าพื้นที่ใดเป็น Blue_Zone มีหลักเกณฑ์การพิจารณา 3 ขั้นตอน ขั้นแรก คือ การพิจารณาความน่าเชื่อถือของฐานข้อมูลประชากรของประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากเป็นพิเศษ ขั้นที่สอง คือ การพิจารณาอายุคาดเฉลี่ย (Life expectancy) ระดับประเทศ ทั้งภาพรวม แยกตามกลุ่มคนและเพศ ซึ่งประเทศที่จะเข้าข่าย ควรมีอายุคาดเฉลี่ยยืนยาวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
.
และขั้นที่สาม คือ การพิจารณาระดับพื้นที่ โดยใช้ตัวชี้วัดหลายตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอายุคาดเฉลี่ย และความน่าจะเป็นในการรอดชีวิต ณ ช่วงอายุต่างๆ หากพื้นที่ใดมีดัชนีเหล่านี้สูงกว่าพื้นที่อื่นในประเทศอย่างเด่นชัดอาจเข้าข่ายเป็น Blue_Zone
สำหรับประเทศไทยอาจถือได้ว่าผ่านเกณฑ์ขั้นแรก เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจประชากรสูงอายุ และสำมะโนประชากรและเคหะมีกระบวนการจัดเก็บข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
.
เมื่อพิจารณาเกณฑ์ขั้นที่สอง อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด (Life expectancy at birth) ของประเทศไทยอยู่ที่ 77.7 ปี (พ.ศ.2561) จัดอยู่ในอันดับที่ 47 จาก 366 ของประเทศ/เขตปกครองทั่วโลก โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 ที่อายุ 84.3 ปี ซึ่งดูเหมือนว่าประเทศไทยอาจไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นที่สอง เพราะประชากรไทยไม่ได้มีอายุยืนยาวอันดับต้นๆ ของโลก
.
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาประเทศที่เป็น Blue_Zone หลายประเทศก็ไม่ได้มีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดอันดับต้นๆ ของโลก เช่น กรีซ 81.9 ปี อันดับ 28 ของโลก คอสตาริกา 80.3 ปี อันดับ 30 ของโลก และสหรัฐอเมริกา 78.8 ปี อันดับ 40 ของโลก ซึ่งไม่ห่างจากประเทศไทยมากนัก แสดงว่า เกณฑ์ขั้นที่สองอาจไม่ได้ถูกใช้อย่างเข้มงวดมากนัก
.
สำหรับเกณฑ์ขั้นที่สาม คือ การพิจารณาระดับพื้นที่นั้น มีข้อจำกัด เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการจัดทำดัชนีอายุคาดเฉลี่ยในระดับท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลบางประการที่อาจบ่งชี้ว่า มีบางพื้นที่มีความชุกของคนอายุยืนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ เช่น สามจังหวัดชายแดนใต้ และจังหวัดติดชายทะเลบางจังหวัด
.
ทั้งนี้ผมมีสมมติฐานว่า พื้นที่ Blue_Zone ทั้งหมดในปัจจุบันอยู่ใกล้ทะเล ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับแร่ธาตุในดิน น้ำ และอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อการมีอายุยืนยาว รวมทั้งมีอากาศที่บริสุทธิ์ เนื่องจากมีการไหลเวียนอากาศที่ดี
.
ถึงแม้ว่า พื้นที่ในประเทศไทยยังไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับ Blue_Zone ในปัจจุบัน แต่ก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็น Artificial Blue_Zone ได้ เนื่องจากประเทศไทยมีหลายปัจจัยที่สนับสนุนการมีอายุยืนยาว อาทิ สภาพอากาศที่ไม่รุนแรงสุดขั้วจนเกินไป การมีแหล่งอาหารที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์
.
โดยอาหารไทยจำนวนมากประกอบด้วยสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ระบบสาธารณสุข สุขอนามัย และบริการทางการแพทย์ของไทยมีคุณภาพและประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง สังคมไทยยังมีวัฒนธรรมการดูแลผู้สูงวัยโดยครอบครัว และการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางที่มีความรู้และฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
.
อุปสรรคต่อการมีอายุยืนยาว แข็งแรง และมีความสุข ของประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีปัจจัยบางประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการมีอายุยืนยาว แข็งแรง และมีความสุข อาทิ การขาดความรู้และความตระหนักในการดูแลสุขภาพ ปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตรเกินขนาดทำให้ผลผลิตอาหารอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
.
การขาดบริบทที่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ปัญหาการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และยาเสพติด ปัญหาคุณภาพอากาศโดยเฉพาะ PM 2.5 ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความเครียด ความเหงา การขาดปฏิสัมพันธ์ในชุมชน การขาดเป้าหมายในชีวิตที่มีคุณค่า เป็นต้น
.
แนวทางการผลักดันประเทศไทยเป็น Blue Zone
การพัฒนาประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Blue_Zone แห่งที่ 6 ของโลก ต้องดำเนินการแบบครอบคลุมและบูรณาการ อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ในการผลักดันควรเลือกบางพื้นที่หรือบางชุมชนเป็นพื้นที่ต้นแบบ Thailand’s Blue_Zone โดยการพัฒนาการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลสถานะและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการมีอายุยืนยาวและมีสุขสภาพดีของประชากร
.
เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ประชากรสูงอายุและอายุคาดเฉลี่ยในระดับพื้นที่หรือระดับชุมชนได้ สามารถเลือกพื้นที่ต้นแบบได้อย่างแม่นยำ และมีความเข้าใจปัจจัยสำคัญในระดับพื้นที่ที่มีผลต่อการพัฒนาเป็น Blue_Zone
.
การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบต้องทำตั้งแต่ระดับลึกที่สุด คือ การวิจัยและพัฒนาความรู้ความเข้าใจกลไกทางชีววิทยา พันธุกรรม ชีวเคมี และโมเลกุลในระดับเซลล์ เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาว และสามารถออกแบบการแทรกแซง (intervention) ได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำ
.
การพัฒนาในระดับต่อมา คือ การพัฒนาความรู้ ทักษะ ความตระหนัก พฤติกรรม และวิถีชีวิต เพื่อทำให้คนมีชีวิตยืนยาว โดยใช้กรอบ โมเดล 12อ สุขสภาพชีวิต”: 123+ ปีอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย อาหาร อุทกคุณ (ของเหลวที่เป็นคุณ) โอโซนคุณะ (อากาศสะอาดที่เป็นคุณ) ออกกำลัง อาจม (การขับถ่ายที่เป็นคุณ)
.
อนามัย อารมณ์ อบอุ่นสัมผัส-โอบกอด ออแกสซึ่ม (กิจกรรมที่ทำให้เกิดการหลั่นฮอร์โมนแห่งความสุข) อัคคนิทรา (การนอนหลับ) อานิกลักษณ์ (Loving Relationship) และอารยชีวลักษณ์-อารยฉลักษณ์ (Life Long Araya Life)
.
และการพัฒนาในระดับที่กว้างที่สุด เพื่อสนับสนุนพฤติกรรมตามโมเดล 12อ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้บุคคลมีทรัพยากร มีแรงจูงใจ มีทางเลือกในการดูแลตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และใช้ชีวิตได้ยาวนานโดยไม่ขัดสน การพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความรู้และความตระหนักในการดูแลตนเอง และศึกษาวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับการมีอายุยืนยาว
.
การพัฒนาวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่เอื้อต่อการมีชีวิตยืนยาว การพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อเอาชนะโรคที่เกี่ยวกับความชราและช่วยให้ผู้คนมีอายุยืนยาวได้มากขึ้น การพัฒนาสังคมและชุมชนที่ส่งเสริมให้คนทุกวัยมีสุขสภาพที่ดี มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น มีชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมาย และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่สะอาดปราศจากมลพิษ เป็นต้น
.
วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทยเป็น Blue_Zone แห่งที่ 6 ของโลก เป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับประเทศไทย เราจึงจำเป็นต้องร่วมกันขับเคลื่อนอย่างบูรณาการ เพื่อให้ไทยมีที่ยืนที่โดดเด่นในเวทีโลก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *