“การศึกษา” ไม่ว่าผ่านมากี่ยุคสมัย มักเป็นหนึ่งนโยบายที่พรรคการเมืองนำมาใช้เรียกคะแนนเสียง มุมหนึ่งชี้ถึงการให้ “ความสำคัญ” แต่กลับกัน อาจมองได้ว่า การเวียนวนประเด็นซ้ำ ๆ เป็นเพราะการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนายังไม่สัมฤทธิผลสักทีหรือไม่ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีสิ่งใดที่ทำให้คาดหวังได้มากกว่าที่ผ่านมา กับนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย …
.
“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” มีโอกาสสอบถามมุมมองความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวจาก ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งสะท้อนภาพนโยบายการศึกษาในการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมข้อเสนอแนะน่าสนใจหลายประเด็น
.
(ยัง) ไม่รอบด้าน ครบประเด็น เน้นขายคะแนน
.
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ระบุ หากให้วิเคราะห์ภาพรวมโดยที่ยังไม่ลงรายละเอียดว่า แต่ละพรรคการเมืองเสนอนโยบายการศึกษาอะไรไว้บ้าง เพียงพอหรือไม่ มีอะไรเป็นข้อคิดที่ควรคำนึงถึง โดยรวมตนก็มองว่าบางพรรคการเมืองมีเยอะ บางพรรคการเมืองมีน้อย หรือบางพรรคแทบไม่มี ขณะที่ส่วนใหญ่มองเฉพาะบางจุด และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตอบด้วยว่า แล้วจะสามารถทำให้ผลลัพธ์หน้าตาเป็นอย่างไร ได้ แต่บอกส่วนที่จะทำกิจกรรม ไม่รู้ผลลัพธ์ เพราะไม่ได้สถาปนาว่า “การศึกษาควรจะสร้างผลลัพธ์ต่อคนในชาติอย่างไร แล้วทำไมถึงต้องเป็นผลลัพธ์แบบนั้น”
.
นอกจากนี้ ยังไม่ได้บอกว่า ทำไมต้องเป็นผลลัพธ์แบบนั้น ได้ผลลัพธ์แบบนั้น แล้วจะได้ประโยชน์อะไรกับประเทศ จะช่วยประเทศได้อย่างไรในยามนี้และอนาคต ไม่มีความชัดเจน แต่มักจะลอย ๆ ไม่ค่อยครบด้าน ครบประเด็น เน้นบางจุดที่รู้สึกเหมือนจะ “ขายคะแนน” ให้คนอยากซื้อได้
.
“อีกเรื่องคือยังไม่มีการพูดถึงว่า จะนำทรัพยากรที่ไหนมาทำ หากทำแล้วต้องใช้เงิน ใช้งบประมาณเท่าใด หาเงินได้จริงหรือไม่ เงินจะนำมาจากไหน และที่หนักกว่าก็คือ รู้ได้อย่างไรว่าที่ทำนั้นคุ้มค่า”
.
ส่องทิศทางการศึกษา 4 พรรคตัวอย่าง
.
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เผยว่า หากพิจารณาลงไปนโยบายการศึกษาแบบรายพรรคการเมือง พบมีบางอย่างที่ตนชอบในเรื่องที่เสนอ แต่ไม่แน่ใจว่าทำได้จริง หรือครบประเด็นหรือไม่ ยกตัวอย่าง พรรคเพื่อไทย เสนอโรงเรียนสองภาษาในทุกท้องถิ่น ตนเป็นอีกคนที่เสนอแนวคิดนี้มานานหลายสิบปี ว่าต้องเป็น โรงเรียนสองภาษา (Bilingual school) และในที่สุดต้องเป็น โรงเรียนสามภาษา (Trilingual school) โดยจะให้สอนภาษาต่างประเทศตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อาทิ ภาษาอังกฤษและภาษาจีน และมีครูต่างประเทศมาสอน
.
ทั้งนี้ แม้ถือว่านโยบายดี แต่อาจไม่ชัดเจนว่าครูจะมาจากไหน และใช้เงินใช้งบประมาณใดออกนโยบายนี้ รวมถึงช่วงตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นเวลาที่ดีที่สุดจริงหรือไม่ ที่จะให้เรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน
.
“เป็นเรื่องที่ต้องลงรายละเอียดให้ชัดเจน และในอีกหลาย ๆ นโยบาย ซึ่งตนคิดว่ามีนโยบายหลายอย่างที่ดี แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่การวิพากษ์เฉย ๆ”
.
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ มองนโยบายด้านการศึกษาก็มาในเชิงของฟรีเช่นเดียวกัน ทั้งเรียนฟรี เด็กและเยาวชน รักษาด้านการแพทย์ฟรี อาหารกลางวันฟรี ภาพรวมเป็นนโยบาย “แจกเงิน” แต่ก็ไม่รู้ว่านำเงินมาจากไหน และจะเพียงพอหรือไม่ จะได้ผลสัมฤทธิ์ในด้านการศึกษาอะไรบ้าง คล้ายกับพรรคเพื่อไทยที่ไม่ครบในประเด็นสำคัญ ซึ่งไม่ได้พูดถึงคุณภาพครูอาชีวศึกษา ไม่ได้พูดถึงการบริหารทรัพยากรให้เกิดขึ้นจริง หรือการยกเลิกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หากยกเลิกหนี้ให้แบบไม่มีเงื่อนไข ถามว่าคนก็ชอบ แต่ที่สุดแล้วจะเกิดการเสียวินัย
.
“ขณะที่นโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรี ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันยังจำเป็นที่จะต้องเรียนฟรีอยู่หรือไม่ เนื่องจากโลกยุคนี้ก็ไม่ได้มุ่งไปทิศทางนั้นแล้ว”
.
ด้านพรรคก้าวไกล ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า จากที่ดูนโยบายที่เป็นรัฐสวัสดิการแบบเต็ม ๆ ตนก็ยังคิดถึงว่า จะนำงบประมาณจากที่ไหนมาจ่าย แต่สิ่งที่มองว่าเป็นนโยบายที่ดี เช่น นโยบายโรงเรียนโปร่งใส ไม่ให้มีการคอร์รัปชั่นในฝ่ายบริหาร ส้วมสะอาด อาคาร
ปลอดภัย คนซึมเศร้ามีที่ปรึกษา
.
ทั้งนี้ เป็นการเน้นออกแบบ “หลักสูตรใหม่” เน้นทักษะที่ใช้ได้จริง ซึ่งนอกเหนือจากทักษะที่หลากหลาย ต้องมีความรู้ควบคู่กันไปด้วย เพราะหลักสูตรไม่ได้มีไว้แค่ทักษะ แต่จะต้องมีทั้งความรู้ ทักษะ และบุคลิกชีวิตของเด็ก หรือเรื่องลดเอกสารของคุณครู ซึ่งเป็นการลดเอกสารที่ฟุ่มเฟือย ส่วนเรื่องการยกเลิกตั้งแถวไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการศึกษาจริงหรือไม่
.
ส่วนเรื่องการบ้าน ส่วนตัวมองว่ามีประโยชน์ การจะบอกว่า การบ้านไม่มีประโยชน์ “ไม่น่าจริง” เรื่องของการบ้านที่เยอะเกินไป ไร้คุณภาพ เสียเวลาทำโดยไม่มีประโยชน์ แต่การบ้านต้องมีประโยชน์ การสอบก็มีประโยชน์เช่นเดียวกัน หากไม่มีการสอบเลย จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กรู้ หรือไม่รู้ มีทักษะหรือไม่มีทักษะ
.
“โดยรวมของพรรคก้าวไกล คิดว่าประเด็นด้านการศึกษาเยอะมากกว่าพรรคอื่น ซึ่งถือว่าตั้งใจมาก ขณะเดียวกันก็ยังขาดบางประเด็นที่ไม่ครบ เช่น ประเด็นอุดมศึกษา และการบริหารทรัพยากรอย่างไรให้เกิดได้จริง ยังไม่เห็นพูดถึง ซึ่งเกรงว่าเงินอาจจะไม่พอ ถ้าไม่ได้มีการพูดถึงงบประมาณไปพร้อมกัน”
.
สำหรับพรรคชาติพัฒนากล้า มีนโยบายข้อเดียว คือเสนอสร้างเด็กไทยสามภาษา ประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และ Coding ซึ่งตนชอบแนวคิดนี้ แต่นโยบายมีเรื่องเดียวเลยน้อยมาก
.
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ย้ำว่า ทั้งหมดนี้เป็นการวิพากษ์นโยบายเท่าที่เห็นจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งอาจมีมากกว่านี้ แต่ตนยังอ่านไม่เจอ และขณะนี้ก็ยังไม่แน่ใจ หากทำตามที่พรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอมา การศึกษาจะดีขึ้นได้อย่างไร ติดตามข้อเสนอเข้มข้นของ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ที่อยากสะท้อนถึงพรรคการเมืองได้ต่อ ใน วิสัยทัศน์ ‘ยก’ การศึกษา วิพากษ์พ่วงเสนอ…ตอน 2