ภาพอนาคต 4 ฉากทัศน์ แนวทางจัดตั้ง “รัฐบาลใหม่”

“รัฐบาลชุดใหม่”จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร พรรคใดจะได้เสียงข้างมากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คำถามเหล่านี้อยู่ในความสนใจของคนไทย ติดตามการวิเคราะห์ โดย “ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์” นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดรัฐบาลชุดใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ? พรรคใดจะได้เสียงข้างมากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ?”
.
คำถามเหล่านี้อยู่ในความสนใจของคนไทย เราต่างอยากรู้ว่า ผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร พรรคใดจะกุมเสียงข้างมากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเราจะได้รัฐบาลที่น่าพึงพอใจสมกับเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ได้หรือไม่ ฯลฯ แต่ตอนนี้เราต่างอยู่ในความคลุมเครือจนกว่าการเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงจึงเห็นคำตอบที่ชัดเจนขึ้น
.
ในฐานะนักอนาคตศาสตร์ ผมได้วิเคราะห์ “ภาพอนาคต” ความเป็นไปได้ของแนวการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ สามารถฉายภาพออกมาได้ 4 ฉากทัศน์ (scenarios) .
.
ฉากทัศน์ที่หนึ่ง ภาพอนาคตทีมตู่อยู่ต่อ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีเสียง ส.ว.หนุน”พรรครวมไทยสร้างชาติ” (รสทช.) นำโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หรือต้องมี ส.ส.จำนวน 25 คนขึ้นไป ได้จับมือกับ “พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) นำโดย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” และสามารถเจรจาต่อรองพรรคที่พร้อมร่วมรัฐบาลด้วย จนได้เสียง ส.ส.เกิน 126 เสียง และเมื่อบวกกับได้เสียงของวุฒิสมาชิก (ส.ว.) อีกราว 250 คน ซึ่งหากเสียง ส.ว.ไม่แตกมาก และเนื่องจาก ส.ว. ส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากจับมือกับ ส.ว.ได้ครบแบบเสียงไม่แตกมาก ก็จะจัดตั้งรัฐบาลที่พอมีเสถียรภาพได้
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในที่สุดจะมีพรรคร่วมรัฐบาลมาร่วมเพิ่มอีกเพราะอยากเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่าเป็นฝ่ายค้าน เพราะเมื่อเห็นชัดฟากนี้พอตั้งรัฐบาลได้ โดยตัวเลือกนายกรัฐมนตรีคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” คงขึ้นแท่นนายกรัฐมนตรีได้อีกสมัย หรืออาจตกลงเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคร่วมอื่น ๆ ที่เห็นว่าประชาชนส่วนหนึ่งพอยอมรับได้
.
ฉากทัศน์ที่สอง ภาพอนาคตทีมเพื่อไทยนำ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 376 เสียง พรรคเพื่อไทยได้เสียง ส.ส.มากพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และต้องจับขั้วกับพรรคอื่น ๆ ทั้งพรรคฝั่งเสรีนิยม อาทิ พรรคประชาชาติ พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย ฯลฯ และพรรคที่วางตัวเป็นกลางพร้อมร่วมรัฐบาล ไม่ว่าขั้วการเมืองแบบใด อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า ฯลฯ ให้มาอยู่ฝ่ายตนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้เสียง ส.ส.มากกว่า 376 เสียง จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ โดยไม่คาดหวังว่าจะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เพราะมีโอกาสน้อย
.
ส่วนนายกรัฐมนตรีอาจเป็นคนใดคนหนึ่งในแคนดิเดตระหว่าง “เศรษฐา ทวีสิน” กับ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ซึ่ง”เศรษฐา ทวีสิน” อาจมีความพร้อมมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม อาจเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคร่วมอื่นๆที่มีน้ำหนักต่อรองสูง เช่น “พรรคภูมิใจไทย” หรือ “พรรคพลังประชารัฐ”
.
ฉากทัศน์ที่สาม ภาพอนาคตไม่แน่นอน จากการวิเคราะห์ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดกรณีมีพรรคการเมืองบางพรรค อาจถูกตัดสินว่ากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จนถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง(14 พฤษภาคม)เป็นเหตุให้มีการโยกย้ายคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ส่งผลให้ฐานคะแนนพรรคร่วมรัฐบาลอาจเปลี่ยน แปลงได้ และการยุบพรรคหากเป็นหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม คงทำให้ ส.ส.บางส่วนตัดสินใจย้ายพรรคหลังผลการเลือกตั้งออกแล้ว การเกิดเหตุการณ์นี้ย่อมทำให้ตัวเลือกแคนดิเดตนายกฯ เปลี่ยนไป ไม่อาจคาดหวังชื่อนายกรัฐมนตรีที่คาดไม่ถึง เพราะไม่ใช่ตัวเต็งแบบในสภาวะปัจจุบัน
.
ฉากทัศน์ที่สี่ ภาพอนาคตวุ่นวาย ภาพเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิด แต่สามารถเกิดขึ้นได้ เป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือ เกิดความวุ่นวายหลังเลือกตั้ง พรรคการเมืองบางพรรค ประชาชนบางกลุ่ม ไม่พอใจผลการเลือกตั้งจนเกิดการรวมตัวประท้วง ซึ่งหากไม่สามารถจัดการให้เข้าสู่ภาวะปกติ ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งได้ อาจเกิดความวุ่นวาย การประท้วงขยายวงกว้างจนกลายเป็นการคล้ายหรือจะนำไปสู่การจลาจล
.
กรณีเลวร้ายที่สุดที่เป็นไปได้ก็คือ การยึดอำนาจอีกครั้งเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจและเลือกคนกลางที่ทุกฝ่ายพอยอมรับได้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษจนกว่าจะแก้ปัญหาหรือเลือกตั้งใหม่ในคราวต่อไป ทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง มีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง 4 ภาพอนาคตที่วิเคราะห์ไว้ข้างต้น
.
แต่ภาพความจริงจะเป็นฉากทัศน์ใดนั้น ขึ้นอยู่กับประชาชนชาวไทยที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงทุกคนทั่วประเทศว่า ต้องการเห็นอนาคตการเมืองไทยออกมาเป็นอย่างไร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *