พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ดร.แดน)
ประธาน สถาบันการสร้างชาติ
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

 

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ เพื่อกู้เงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบการแพร่ระบาด COVID-19 ที่เกิดขึ้น โดย พ.ร.ก. 3 ฉบับ นี้ประกอบด้วย


1) พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท


2) พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบไม่เกิน 500,000 ล้านบาท


3) พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 โดยกำหนดให้ในระยะกองทุนมีวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท
ตั้งแต่มีการเสนอแนวทางนี้ออกมา จนกระทั่งผ่านการอนุมัติในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอเป็นร่างกฎหมาย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็มีการอภิปรายและเสนอแนะความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสม และ ความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายโดยมาตรการดังกล่าว


ผมมีโอกาสได้พิจารณาข้อมูลต่างๆ แล้วเช่นกัน ผมจึงมีความคิดเห็นต่อ พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. จำเป็นต้องกู้หรือไม่?
รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าต้องการกู้เงินมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เพื่อแก้วิกฤติก็เป็นอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยคนตกทุกข์ได้ยากก็อีกอย่างหนึ่ง เพื่อกระตุ้นและหนุนเศรษฐกิจให้อยู่รอดในปีต่อไปก็อีกอย่างหนึ่ง


แต่อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า ในสถานการณ์เช่นนี้รัฐบาลจำเป็นต้องกู้ เนื่องจาก งบประมาณเดิมมีข้อจำกัดและไม่เพียงพอ


งบประมาณปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้าน มีแผนใช้จ่ายหมดแล้ว โดยสำนักงบประมาณ ระบุว่า งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2563 มีรายจ่ายที่ผูกพันไว้ใกล้ครบ 96,000 ล้านบาทแล้ว หลังใช้แก้วิกฤติแล้ง-โควิด และแม้จะพยายามโอนงบประมาณเป็นสัดส่วนจากทุกกระทรวงมารวมที่งบกลางก็จะได้น้อยมากในภาคปฏิบัติ จึงต้องกู้มาแก้ปัญหาวิกฤตินี้อยู่ดี

2. กู้เท่าไรจึงจะเหมาะสม?
ในการกู้เงินของภาครัฐนั้นจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องวินัยทางการคลัง ดูว่าจะกระทบความยั่งยืนและสร้างภาระให้กับประชาชนในอนาคตเกินความจำเป็นและเกินกำลังอนาคตหรือไม่?


ในบางประเทศอาจสามารถกู้หนี้สาธารณะได้สูงมาก เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น อาจกู้ได้ร้อยละเกิน 100 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เนื่องจาก เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และ มีช่องทางระดมรายได้ของรัฐหลายทางและมีความสามารถในการใช้คืนเงินกู้ได้สูง แต่ประเทศไทยไม่อาจจะเลียนแบบประเทศเหล่านั้นได้ เพราะ ศักยภาพในการหารายได้ทางเศรษฐกิจต่ำกว่ามาก


นอกจากนี้ในส่วนของประเทศไทย ยังมีการกำหนดกรอบความยั่งยืนทางการคลังไว้ว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน ร้อยละ 60 ของจีดีพี ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้มายาวนานมากแล้ว สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นวิกฤติที่เกิดบ่อยขึ้นในยุคปัจจุบัน ทำให้เพดานหนี้สาธารณะควรจะต่ำกว่านั้น นักวิชาการบางท่านเห็นด้วยกับผมว่า หนี้สาธารณะควรจะอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 50 ของจีดีพี เป็นต้น


ข้อมูลล่าสุด เดือนกุมภาพันธ์ 2563 หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ ร้อยละ 41.44 ของจีดีพี ถ้าหากรัฐบาลกู้เงินมาเพิ่ม 1.9 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มเป็นร้อยละ 52.64 ของจีดีพี แม้ว่ายังต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ ร้อยละ 60 แต่ก็ถือว่าสูงมากแล้วและผมคิดว่าก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพื่อจะไม่กระทบต่อสถานะการคลังในอนาคต


อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลต้องการจะกู้มากกว่านี้ให้เต็มเพดานในสภาพวิกฤติซ้ำซ้อน ก็จะยังมีช่องไฟให้กู้ได้ กล่าวคือ ถ้าจะกู้ให้เต็มเพดานวินัยทางการคลัง (ร้อยละ 60 ของจีดีพี) จะกู้ได้ ประมาณ 3.14 ล้านล้านบาทในอนาคต

3. การกู้เงิน 1.9 ล้านล้าน มากระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาคเพียงใด?
ผมได้ลองประมาณการเบื้องต้น โดยมีข้อสมมติ คือ


1) ปีพ.ศ.2563 เศรษฐกิจจะขยายตัวติดลบ -5.3% (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 25 มี.ค.)


2) ตัวทวีคูณ (Multiplier) ในระบบเศรษฐกิจมีค่าเป็น 0.7 (จากงานศึกษาของ Ramey และ Zubairy กรณีสหรัฐ พบว่า ช่วงเศรษฐกิจแย่ ตัวทวีคูณจะมีค่าไม่เกิน 0.7)


3) จีดีพี ปีพ.ศ.2562 อยู่ที่ 16.88 ล้านล้านบาท


ฉากทัศน์ต่างๆ ของการกระตุ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นดังนี้
– ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว ร้อยละ 1 ต้องใช้เงิน 1.53 ล้านล้านบาท
– ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว ร้อยละ 2 ต้องใช้เงิน 1.78 ล้านล้านบาท
– ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว ร้อยละ 3 ต้องใช้เงิน 2.02 ล้านล้านบาท
– หากรัฐบาลกู้เงินมา 1.9 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ร้อยละ 2.4


4. ในรายละเอียดการกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท มาใช้จ่ายมีความเหมาะสมหรือไม่? อย่างไร?
พ.ร.ก. กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทนี้ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องนโยบายการคลัง และ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการเงิน ซึ่งผมมีความเห็นดังนี้

4.1 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคลัง


ในเรื่องพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ผมมีความกังวลอยู่ 4 ประการ คือ


1) กังวลว่าการไม่มีแผนที่ชัดเจน จะทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงเป้า
มาตรการด้านสาธารณสุขและเยียวยาประชาชน 600,000 ล้านบาท ไม่ชัดเจน จะจัดสรรเพื่อสาธารณสุขจำนวนเท่าไหร่ และมาตรการเยียวยาประชาชนเท่าไหร่ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ยังไม่มีแผน เท่าที่ทราบ ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกว่ายังไม่มีรายละเอียด รอหน่วยราชการเสนอแผนขึ้นมา ซึ่งการไม่มีแผนที่ชัดเจนเช่นนี้ จะมีความเสี่ยงทำให้ แม้งบจะมีจำนวนมาก แต่เป็นงบแบบเบี้ยหัวแตกแบบที่เคยเป็นมาอย่างกรณีโครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่ไม่เกิดความคุ้มค่าสูงสุด


ข้อเสนอ: ควรต้องมีการประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการแผนงานให้เรียบร้อย โดยแผนงาน เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ต้องชัดเจน สร้างสรรค์ ไม่ติดกรอบการดำเนินงานที่ผ่านมา และต้องลงรายละเอียดในการปฏิบัติ เพื่อให้แน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จตามแผนได้ เพราะ ปีศาจอยู่ในรายละเอียด

2) กังวลว่าการไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง จะทำให้ช่วยไม่ถูกคน
ภาครัฐมีความจำกัดในเรื่องข้อมูล ไม่รู้ว่ากลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายของการช่วยเหลืออยู่ที่ไหน เช่น ในมาตรการแจกเงิน 5,000 บาท คนที่ควรได้ก็ไม่ได้ คนไม่ควรได้แต่กลับได้ เป็นต้น เรื่องนี้เป็นปัญหาของประเทศไทยมาตลอดในการใช้มาตรการทางการคลัง


ข้อเสนอ: ภาครัฐต้องพัฒนาฐานข้อมูล Big data รวมทั้ง AI เพื่อใช้ประโยชน์ในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และ ดำเนินนโยบายภาครัฐ โดยต่อยอดจากต่างประเทศที่สามารถทำได้อย่างดี เช่น จีน เป็นต้น

3) กังวลว่าความรีบเร่ง จะทำให้การดำเนินงานไม่โปร่งใส
ในช่วงเวลาที่มีความเร่งรีบในการดำเนินโครงการและเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่มหาศาล อาจทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่โปร่งใส


ข้อเสนอ: ผมเสนอว่าภาครัฐต้องใส่แผนงาน รายละเอียดให้ชัดเจนไว้บนอินเตอร์เน็ตให้ทุกคนสามารถเข้าถึง ตรวจสอบได้ ต้องทำให้เงินทั้ง 1.9 ล้านล้านบาท ทุกการใช้จ่าย มีใบเสร็จ ลงในอินเตอร์เน็ต เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้จริง คนที่ได้รับผลกระทบก็จะตรวจสอบ ร้องเรียนเข้ามาเองว่ามีการใช้งบประมาณในทางที่ผิดหรือไม่ อย่างไร

4) กังวลว่าการช่วยคนโดยเน้นการแจกเงิน จะทำให้คนเคยชิน และ ไม่ทำให้เกิดผลผลิตที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างเต็มที่


ข้อเสนอ: ผมอยากเห็นการใช้งบประมาณในการช่วยเหลือประชาชนนั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือประชาชนในปัจจุบัน แต่ต้องนำไปสู่การพัฒนาสังคมโดยรวม และ การสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนในอนาคตด้วย เช่น
ก. ให้ประชาชนได้มีส่วนเสียสละ 3T (Time Talent Treasure) แลกกับการรับเงินช่วยเหลือ


สภาหอการค้าไทย และ สภาพัฒน์ ประมาณการณ์ว่า ปัจจุบันน่าจะมีคนไทยตกงาน 7 ล้านคน (ร้อยละ 18 ของกำลังแรงงาน) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านคน (ร้อยละ 26) หากยังยืดเยื้อไปอีก 2-3 เดือน ดังนั้นภาครัฐอาจทำหน้าที่จ้างคนเหล่านี้เพื่อทำงานที่อดีตไม่สามารถทำได้ เพราะ มีคนไม่เพียงพอ ไม่สะดวกที่จะทำ ให้เสร็จเรียบร้อย เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ เช่น


– ทำให้เมืองสวยงาม โดยการปลูกต้นไม้ให้สวยงาม แบ่งเป็นสีตามเขต ที่เกาะถนน เหมือนที่ผมเคยเสนอไว้ตอนสมัครผู้ว่ากทม.


– ทำให้เมืองสะอาด ถนน คูคลอง สะอาด ที่สกปรกทำให้สะอาด จัดระเบียบที่ทิ้งขยะ


– ทำให้เมืองปลอดโรค เป็นมาตรฐานสำหรับอนาคต ซึ่งโลกจะเข้าสู่สภาพ “Pandemic

New Normal” ซึ่งต้องการมาตรฐานใหม่ เริ่มจากส่วนที่เป็นเมือง คือ กทม. และ อำเภอเมือง 77 จังหวัด โดยให้คนมาช่วยทำความสะอาดตามแผนจากส่วนกลางและตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และ อาจให้บางส่วนเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ที่ผมเรียกว่า “ตำรวจตรวจความปลอดภัยในเชื้อโรค” ดูว่าคนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามเช็คลิสต์หรือไม่ เป็นต้น


ข. ให้ประชาชนฝึกอบรม เพื่อพัฒนาตัวเอง แลกกับการรับเงินช่วยเหลือภาครัฐอาจจัดหลักสูตรต่างๆ ที่มองว่าเป็นความจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศและการสร้างชาติในอนาคต และหากประชาชนต้องการได้เงินช่วยเหลือ จะต้องได้รับการฝึกอบรมจากหลักสูตรที่ได้รับการรับรองเหล่านี้เสียก่อน เพื่อประชาชนจะได้มีความรู้และทักษะใหม่ติดตัวระหว่างที่ตกงาน หรือ ทำงานที่บ้านในระยะนี้ เป็นต้น

4.2 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเงิน
ในส่วนนี้มีมาตรการหลัก 2 เรื่อง คือ


1) การให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงิน ช่วย SMEs ไม่เกิน 500,000 ล้านบาท
มาตรการในส่วนนี้ ผมคิดว่ามีความเหมาะสมดีแล้ว เป็นการนำเงินไปดูแลธุรกิจ SMEs ซึ่งมีปริมาณ ร้อยละ 90 ของธุรกิจไทย ที่ขณะนี้กำลังย่ำแย่ การสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อทำให้ตัวเองมีสภาพคล่องมากขึ้นย่อมช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของธุรกิจลงได้ระดับหนึ่ง

2) การให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจซื้อหน่วยลงทุน ตราสารหนี้ของภาคเอกชน วงเงิน ไม่เกิน 400,000 ล้านบาท
ในเรื่องนี้ ผมเข้าใจว่าการให้อำนาจธนาคารกลางในการซื้อตราสารหนี้ของเอกชนโดยตรง เป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากวิธีปฏิบัติของธนาคารกลางโดยส่วนใหญ่ในโลก แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปรกติ การมีนวัตกรรมทางนโยบายเป็นสิ่งจำเป็น แต่ผมยังมีความห่วงใยว่ามาตรการนี้อาจจะเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิสภาพ เนื่องจาก


ก. ธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลมากกว่าที่จะลงไปเป็นผู้ปฏิบัติ การลงไปเป็นผู้ตัดสินใจซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน อาจทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์เอกชนบางรายได้แม้ไม่ตั้งใจ หรือ อาจมีการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบ เนื่องจาก ขาดข้อมูลเชิงลึกของบริษัท หรือ ขาดเจ้าหน้าที่ที่ช่ำชองในการประเมินบริษัทต่างๆ ที่ออกตราสารหนี้ซึ่งมีจำนวนมาก เป็นต้น และถึงแม้ว่าจะมีความพยายามดำเนินการให้รอบคอบ โดยการจำกัด

วงเงินความเสียหายที่เกิดขึ้น กำหนดเงื่อนไขเชิงคุณภาพของตราสารหนี้ที่จะเข้าไปซื้อ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด (บริหาร, กำกับ, ลงทุน, พิจารณาผลการดำเนินงาน) แต่ในภาคปฏิบัติคณะกรรมการต่างๆ มักมีภารกิจหลายอย่าง มีเวลาจำกัด การจะพิจารณาข้อมูลให้รอบคอบนั้นทำได้ยาก ต้องอาศัยการนำเสนอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ จึงมีช่องโหว่ที่ทำให้การตัดสินใจไม่รอบคอบ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผมได้มีโอกาสรับบทบาทคณะกรรมการในบริษัทเอกชน ในหน่วยงานของรัฐ และ ภาคประชาสังคมหลายแห่ง ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมได้เห็นปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง


ข. การจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลงไปทำเอง เพียงแต่การที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือที่เหมาะสม ชัดเจน และ ประกาศให้ทราบทั่วกันก็มากเพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้แล้ว


ค. แม้ว่าจะมีการกำหนดเวลาให้เป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยในระยะสั้น ตามที่ พ.ร.ก.จะกำหนดให้มีอำนาจในช่วง 5 ปีที่มีปัญหาเรื่องโควิดเท่านั้น แต่ผมคิดว่า 5 ปี ถือเป็นเวลาที่ยาวนานพอสมควรที่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายแล้ว


ง. ตลาดตราสารหนี้มีขนาดใหญ่ มีมูลค่าการลงทุนกว่า 3.96 ล้านล้านบาท เงินที่นำมาใช้ในมาตรการนี้มี 4 แสนล้านบาท หรือ ประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด ทำให้ดูแลได้เพียงบางส่วน และหากภาครัฐต้องเลือกดูแลก็ต้องพยายามดูแลบริษัทที่มีคุณภาพดี ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็น่าจะมีแผนธุรกิจที่นำไปกู้จากธนาคารพาณิชย์ได้อยู่แล้ว


โดยหลักการผมเห็นด้วยว่าควรมีมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน แต่ในวิธีการ ผมขอเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ แทนที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ ภาครัฐอาจขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ทั้งของเอกชน และ ของรัฐช่วยกันรับผิดชอบโดยตรง เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์มีผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้ว และมีส่วนเป็นเจ้าของธุรกิจที่ต้องดูแลตัวเอง ระวังความเสียหาย ขาดทุน แทนที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายเงินซื้อตราสารหนี้เอง น่าจะทำหน้าที่เป็นเพียงสายป่านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาก และให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการซื้อตราสารหนี้เองด้วยวิจารณญาณทางธุรกิจ


ในเวลานี้แม้ว่าธนาคารพาณิชย์อาจจะไม่ได้ขาดสภาพคล่อง แต่อาจไม่มีแรงจูงใจในการดำเนินงาน เนื่องจาก กังวลเรื่องความเสี่ยง กังวลเรื่องการขาดทุนในเชิงธุรกิจ การที่ภาครัฐโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปช่วยเป็นสายป่าน ช่วยรับผิดชอบทางการเงินให้บางส่วน ก็อาจจะเป็นการจูงใจที่ดีที่ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจดำเนินการได้ง่ายขึ้น แทนที่เดิมจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการดำเนินงานด้วยเงินของตัวเองทั้งหมด

โดยสรุปแล้ว มาตรการของรัฐทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน คงจะพอช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ยังมีวิธีที่จะปรับปรุงการใช้งบประมาณให้ดีมีประสิทธิสภาพมากขึ้นได้อีก อย่างไรก็ตามยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ผมเป็นห่วง คือ เมื่อโควิดอยู่กับเราเป็น New Normal ไปอีกซักระยะจนกว่าจะสามารถผลิตวัคซีนและยารักษาได้ ดังนั้น

เราอาจต้องเตรียมแผนระยะยาวด้วย แต่ว่าขณะนี้ยังไม่มีรัฐบาลใดในโลกที่เตรียมแผนระยะยาวขึ้น เป็นเวลาวงจรอาจถึง 2 ปี เป็นต้น ผมคิดว่าต้องเตรียมแผนระยะยาว สมมติว่าโควิดอยู่กับเรา 6 เดือน 1 ปี, ปีครึ่ง, สองปี ซึ่งผมคิดว่าวงจรโควิดคงอยู่กับเราประมาณราวสองปี โดยที่มีความเข้มข้นของปัญหาไม่เท่ากันในแต่ละระยะ ภาครัฐจะทำอย่างไร จะจัดการ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง อย่างไร ผมคิดว่าต้องคิดเรื่องนี้ให้ดี เพื่อจะสามารถแก้ปัญหาประเทศให้ได้อย่างแท้จริงและครบถ้วนทั้งหมด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *