ปริญญาต้องสะท้อน ‘ความคิด’

         เรียนมาก แต่อย่า “คิดน้อย”…
         ครั้งหนึ่ง ผมไปให้คำปรึกษาแนะนำผู้บริหารชาวต่างประเทศที่ได้มาเปิดบริษัทสาขาในประเทศไทย เขาได้ตั้งข้อสังเกตหลังจากทำงานร่วมกับพนักงานคนไทยมาพักหนึ่งว่า ตั้งแต่เดินทางพบปะผู้คนมาทั่วโลก เขาพบว่า พนักงานคนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างขาดความคิดเชิงวิพากษ์ เมื่อเทียบกับพนักงานที่เป็นคนชาติอื่น ๆ

         ข้อสังเกตของเขา เมื่อนำมาพิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรม คงต้องยอมรับว่ามีส่วนจริงอยู่มาก อันเป็นผลพวงสืบเนื่องมาจากระบบการศึกษา นับแต่อดีตที่เน้นการ ‘ท่องจำ’ เพื่อสอบ มากกว่าเรียนเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และนำไปประยุกต์ใช้ได้  การเรียนรู้แบบป้อนข้อมูลจากผู้สอนสู่ผู้เรียน มากกว่าการปฏิสัมพันธ์กันทางความคิด ด้วยการส่งเสริมให้เรียนรู้ด้วยตนเอง  เมื่อบวกกับลักษณะนิสัยที่ไม่ช่างซักช่างถาม ขี้อาย ไม่กล้าถามจึงทำให้การเรียนไม่ก่อให้เกิดความแตกฉานทางปัญญาอย่างที่ควรจะเป็น
         ที่สำคัญ การมุ่งเรียนเพื่อจบ เพื่อให้ได้ใบปริญญา มากกว่าความรู้ ส่งผลให้เราจึงเต็มไปด้วยคนที่เรียนสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความคิดกลับไม่ได้สูงตาม  แม้ว่า ในปัจจุบัน จะเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสารที่ทุกคนเข้าถึงได้ทุกเรื่องทั่วโลกอย่างสะดวกรวดเร็ว  แต่ในมุมหนึ่งที่น่ากลัว นั่นคือ เราอาจกลายเป็นคน “รู้มาก แต่คิดน้อย” เช่น รู้แต่ทฤษฎีในตำรา แต่ประยุกต์ใช้จริงไม่ได้ นำสูตรสำเร็จของกูรูมาใช้ โดยไม่ได้วิเคราะห์ว่าเหมาะสมกับบริบทของเราหรือไม่ หรือเมื่อเกิดปัญหาก็มักใช้วิธีค้นหาคำตอบสำเร็จรูป จากอินเทอร์เนต ฯลฯ โดยไม่ได้คิดพิจารณาหรือทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ลึกซึ้งอย่างแท้จริง ในที่สุด อาจทำให้ต้องล้มเหลวเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาใหม่ ๆ ได้ ไม่สามารถปรับตัวหรือประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ที่แปลกออกไปได้ ไม่สามารถคิดอะไรที่ซับซ้อนหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้
         ความรู้ที่เรามีจึงต้องสะท้อนความคิด ยิ่งรู้มาก ยิ่งต้องสามารถคิดได้ลึกซึ้ง เฉียบคมมากยิ่งขึ้น และนำมาใช้ได้อย่างประสบความสำเร็จ อยู่ในฐานะ “มืออาชีพ” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” ในสาขาที่จบมา ได้อย่างเหมาะสม
         คำถามคือ ในฐานะคนทำงาน ที่เรียนจบมาแล้ว จะพัฒนาตนเองให้มีความคิดลึกซึ้ง สมกับคุณวุฒิในปริญญาที่ได้รับนั้นอย่างไร?
         ทางแก้ปัญหาประการหนึ่ง คือ ฝึกทักษะการคิดจากการอ่าน 
         ความคิดเป็นสิ่งเดียวที่ยิ่งใช้ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น ยิ่งใช้ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งใช้ยิ่งอยู่กับเรานานขึ้น และการอ่านหนังสือที่ดี ที่มีประโยชน์ต่อการทำงาน การใช้ชีวิต เป็นวิธีหนึ่งในการพัฒนาความคิด เหมือนการออกกำลังกาย  ถ้าเราเรียนรู้วิธีอ่านอย่างใช้ความคิด ย่อมทำให้เกิดกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้นมาได้ การออกกำลังสมองของเราเสมอ  จะช่วยให้เราเป็นคนที่มีสติปัญญาเฉียบคม และคิดอะไรได้คล่องแคล่วว่องไว แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
         การอ่านจะเสริมสร้างความรู้ ความคิด และสติปัญญาของเรา หากเราอ่านหนังสือเป็นเหมือนการพูดคุยกับผู้เขียน เป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะกัน ไม่เป็นฝ่ายรับหรือถูกป้อนข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว อาทิ
         คิดวิพากษ์กับสิ่งที่อ่าน ในระหว่างการอ่าน เราควรตั้งคำถามไปด้วยระหว่างทาง เช่น เพราะเหตุใดผู้เขียนจึงคิดเช่นนี้ สมมติฐานเบื้องหลังคืออะไร แล้วเราคิดอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด ถ้าเป็นเราเราจะคิดอย่างไร เป็นต้น การวิพากษ์ผู้เขียน มิใช่เพื่อจับผิด แต่เพื่อทำให้เราเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนออย่างกระจ่าง ทำให้เกิดการตกผลึกทางความคิดที่ชัดเจน ไม่ถูกหลอกทางความคิด แต่มีทัศนะส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนั้นอย่างมีเหตุมีผล
         คิดประยุกต์กับสิ่งที่อ่าน ความรู้ที่ได้รับหากเรารับแบบท่องจำ จะทำให้เราไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง แม้เป็นข้อเขียนที่ให้คำแนะนำเชิงเทคนิคต่าง ๆ เช่น เทคนิคการสร้างความประทับใจลูกค้า เทคนิคการทำงานเร็วและมีประสิทธิภาพ ฯลฯ เทคนิคเหล่านี้ จะเกิดประสิทธิภาพในเชิงปฏิบัติ เราต้องคิดประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทของเราด้วย เพราะผู้เขียนนั้นอาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง มีเงื่อนไขข้อจำกัดที่แตกต่าง คำแนะนำนั้นอาจใช้ไม่ได้ผลกับทุก ๆ บริบท ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องคิดประยุกต์และปรับให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถนำมาใช้จริงได้อย่างมีความเข้าใจและมีประสิทธิภาพ
         คิดสร้างสรรค์กับสิ่งที่อ่าน สิ่งที่เราอ่านจะเป็นอาหารสมองที่มีคุณค่า หากเราเรียนรู้ที่จะใช้มัน “ต่อยอดความคิด” โดยให้เราอ่านหนังสือเหมือนการ “ค้นหาคำตอบ” ให้กับคำถามบางอย่างที่เราอยากรู้ หรือปัญหาบางอย่างที่ยังแก้ไม่ออก เมื่อเราอ่านไปเรื่อย ๆ เราอาจพบว่า ข้อความบางข้อความทำให้เกิด “ปิ๊งไอเดีย” ใหม่ ๆ ออกมา คำแนะนำบางอย่างอาจทำให้เราค้นพบ “ทางออกของปัญหา” ในวิธีที่เราไม่เคยพบมาก่อนก็ได้ ดังนั้น ขณะที่เราอ่านหนังสือให้เราลองฝึกคิดเชื่อมโยง คิดนอกกรอบ ฝึกจินตนาการต่อยอดและเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราคิด ซึ่งอาจจะทำให้เราค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์อย่างไม่เคยคิดมาก่อนได้
         ความรู้ควรคู่มากับความคิด ยิ่งเรารู้มาก ก็ยิ่งต้องคิดให้ “ลึกซึ้ง ถ่องแท้” ให้มากขึ้นด้วย ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องฝึกนิสัย “ขยันคิด” เรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอ “อย่าให้นิสัยเกียจคร้านที่จะคิด” กล้ำกรายเข้ามา จนวันหนึ่ง เราอาจพ่ายแพ้ เพียงเพราะรู้มาก แต่คิดน้อยเกินไป!!

 

ที่มา: งานวันนี้
ปีที่ 17 ฉบับที่ 743 วันที่
5-18 ส.ค. 2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ :  http://www.ejobeasy.com/images/hr_tips/36HR2.jpg