ปรากฏการณ์ 7 วันก่อนเลือกตั้งสะท้อนภาพประชาธิปไตยแบบไทยไทย

การเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะถึงในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ เราคงเห็นว่าเกิดการตื่นตัวครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จากการสำรวจคาดว่าจะมีคนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งสูงถึงร้อยละ 80 หรือประมาณ 42 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดกว่า 52 ล้านคน มากที่สุดนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา และคาดว่าจะมากกว่าการเลือกตั้งในปี 2554 ซึ่งมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์มากถึงร้อยละ 75 เสียอีก
.
ความตื่นตัวของประชาชน มาพร้อม ๆ กับความตื่นตัวของพรรคการเมือง ทั้งผู้สมัคร 400 เขต และผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ทุกพรรคต่างต้องพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อดึงเสียงของประชาชนให้ตัดสินใจเลือกตนเข้าสภาฯ ให้มากที่สุด
.
…ไม่มีใครอยากแพ้ในสนามรบ ดังนั้น ถ้ายังมีเวลา ย่อมยังมีโอกาสเสมอ
.
ยิ่งเหลือเวลาเพียง 7 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง เราจะเห็นปรากฏการณ์ ดิ้นรนเฮือกสุดท้าย ของพรรคการเมืองในการงัดกลยุทธ์หมัดเด็ด เพื่อให้มั่นใจว่าโอกาสคว้าชัยชนะยังเป็นของตน
.
ผมวิเคราะห์ว่า ในช่วงสัปดาห์สุดท้าย การช่วงชิงเสียงจากประชาชนจะมีความรุนแรงขึ้น เราจะเห็นปรากฏการณ์เดินเกมของพรรคการเมืองที่สะท้อนภาพการเมืองและประชาธิปไตยแบบไทยไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจและความสำนึกในคุณค่าระบอบประชาธิปไตยว่ามีมากน้อยเพียงใด
.
ปรากฏการณ์ใช้สื่อสร้างกระแส “ปล่อยหมัดเด็ด เอาดีเข้าตัว เอาชั่วป้ายคู่แข่ง” ในยุคนี้สื่อโซเชี่ยลมีเดียสามารถสร้างกระแสให้เกิดขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว
.
กลยุทธ์การสร้างกระแสให้พรรคและผู้สมัครผ่านสื่อจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ในช่วงสุดท้ายนี้ พรรคต่าง ๆ จะมีการสร้างกระแส ปล่อย key message แบบเด็ด ๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทุกช่องทางเพื่อกระตุ้นโน้มน้าวทางอารมณ์ เช่น ปลุกความกล้า เร้าความกลัว ใส่ความรู้สึกวิตกกังวล หรือท้าทายให้เห็นแสงสว่างในอนาคต ชี้ให้เห็นว่าพรรคของตนนั้นเป็นคำตอบสุดท้าย เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
.
และการปล่อยข่าวเพื่อทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งจะยิ่งมีความรุนแรงขึ้น เพื่อทอนคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ จะเกิดปรากฏการณ์สื่อโซเชียลสร้างพลัง โดยใช้แฟนคลับ กลุ่มคนที่สนับสนุนพรรค ช่วยกันสื่อสารสนับสนุนพรรคของตน เป็นกระแสที่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว
.
ปรากฏการณ์พุ่งเป้าเฉพาะเขต “อัดฉีดแบบเจาะจงในเขตที่มีหวัง” ในช่วงสัปดาห์สุดท้าย พรรคต่าง ๆ จะสามารถประเมินได้แล้วว่า เขตใดมีโอกาสชนะได้บ้าง และจะมุ่งวางกลยุทธ์เจาะจงกับเขตที่มีความหวังมากที่สุด ลดการหาเสียงแบบหว่านกว้าง ๆ ลง อาทิ
.
มุ่งอัดฉีดเงินเต็มที่ในเขตที่คิดว่าตนมีโอกาสชนะ การคุมเข้มหัวคะแนนเพื่อให้มั่นใจว่าเสียงในมือไม่คลาดเคลื่อน ให้มั่นใจว่าตนจะไม่แพ้ หรือในบางเขตอาจมุ่งจับผิดคู่แข่งที่อาจพลาดทำผิดกฎหมาย รวบรวมหลักฐานเพื่อส่งฟ้อง กกต. หวังให้คู่แข่งถูกตัดสิทธิ์ เป็นต้น
.
ปรากฏการณ์ยิงกระสุนเพื่อกลบกระแส แต่ยิงไม่เต็มที่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองคณานิยมยังมีผลอยู่ในการเมืองของประเทศไทย การอัดฉีดเงินลงไปยังสำคัญมาก กระสุนยังคงมีผลพอ ๆ กับกระแส คาดว่าจะมีการใช้กระสุนมากถึงหมื่นล้านบาทรวมทุกพื้นที่ ซึ่งกระสุนจะชนะหากมีฐานหัวคะแนนในพื้นที่ชัดเจน เชื่อใจว่าจะจัดการควบคุมเสียงในพื้นที่ได้ แต่สถานการณ์ในหลายพื้นที่มีความเสี่ยง อาจถูกฝ่ายตรงข้ามจับผิดกฎหมายเลือกตั้ง
.
ความไม่มั่นใจในหัวคะแนนท้องถิ่น ทำให้การแจกไม่เหมือนทุกครั้ง ไม่กล้าจ่ายเต็มที่ อาจมีการสร้างเงื่อนไข เช่น จ่ายบางส่วนก่อน เมื่อชนะแล้วจึงจ่ายส่วนที่เหลือ ส่งผลให้ไม่มั่นใจว่าจะชนะได้ หรืออาจเกิดปัญหาหัวคะแนนรับเงินแล้วไม่รู้ว่าได้แจกหรือไม่ ไม่รู้ว่าจะเลือกให้หรือไม่ ทำให้ไม่มั่นใจว่าจะชนะได้
.
ปรากฏการณ์ตาอยู่ “อยู่เฉย ๆ คอยคว้าชิ้นปลามัน” ในช่วงสัปดาห์สุดท้าย ในเขตที่มีสองพรรคได้คะแนนนิยมแบบสูสี ไม่ชนะกันอย่างชัดเจน ทั้งสองพรรคนี้จะงัดกลยุทธ์ดึงคะแนนเสียงมาเป็นของตนให้มากที่สุด แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคที่ได้คะแนนเสียงลำดับที่สาม มักไม่ต้องดิ้นรนหาเสียงแบบใช้กลยุทธ์พิเศษในช่วงสุดท้ายมากนัก
.
แต่กลับจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งได้ เพราะสองพรรคที่ได้คะแนนนิยมใกล้เคียงกัน ทำให้ตัดคะแนนกันเอง โอกาสที่พรรคอันดับสามจะกลายเป็นตาอยู่ ได้คะแนนเสียงสูงสุดแบบลาภลอยจึงเป็นไปได้ ซึ่งสถานการณ์ในลักษณะนี้มีเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
.
ปรากฏการณ์เบี่ยงเบนตามวงพนัน “โพลพนันชี้นำ” ทุกเรื่องที่มีตัวเลข สังคมไทยก็พร้อมมีการพนันขันต่อด้วยเสมอ ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีแล้ว แม้จะเคลื่อนไหวกันอย่างลับ ๆ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่การพนันจะมีผลในการเบี่ยงเบนผลการลงคะแนนได้ โดยนักพนันอาจเอนเอียงไปเลือกพรรคที่มีแนวโน้มจะทำให้ตนชนะพนันได้ ตลาดการพนันจะทำให้เกิดการเบี่ยงเบนคะแนนได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับนักพนันใต้ดินในสังคมไทยมีจำนวนมากน้อยเพียงใด
.
ปรากฏการณ์สอยคู่แข่ง “หาหลักฐาน ฟ้อง กกต.” ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายจะเห็นปรากฏการณ์สกัดคู่แข่ง การพยายามกำจัดคู่แข่ง การทำลายความน่าเชื่อถือ ด้วยการจับผิด ฟ้องร้อง หาหลักฐานต่าง ๆ เพื่อฟ้อง กกต.ว่าพรรคคู่แข่งทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ความพยายามในการสอยคู่แข่ง จะเกิดทั้งในระดับเขตและในระดับพรรค ขั้วอำนาจที่ไม่อยากให้อีกขั้วได้รับชัยชนะจะพยายามอย่างหนักในการค้นหาความผิด เพื่อลดจำนวนผู้สมัครคู่แข่ง หรือแม้กระทั่งพยายามหาทางให้พรรคต้องถูกยุบหลังเลือกตั้ง
.
สนามการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะชนะได้ต้องชนะใจประชาชน เพื่อให้ลงคะแนนเสียงให้ แต่วิธีที่จะได้มานั้นอาจไม่ได้มาง่าย ๆ แต่กว่าจะได้มานั้นต้องสู้รบด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ
.
…เรียกได้ว่า 7 วันอันตราย ผู้สมัครคนใดที่ต้องการชัยชนะ ต้องห้ามพลาดแม้แต่ก้าวเดียว!! 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *