ปรมาจารย์เจ้าทฤษฏี : กรณีคณาจารย์ฮาร์วาร์ด

ผมเคยนำเสนอความคิดเจ้าหลักหมุด[1] เอาไว้ในหลายเวที ประกอบด้วย

  • ปราชญ์เจ้าปัญญา
  • กูรูเจ้าสำนัก
  • ปรมาจารย์เจ้าทฤษฏี
  • อธิประมุขเจ้าอุดมคติ และ
  • ประศาสนบดีเจ้าอุดมการณ์

 

อันเป็นความคิดที่ต่อยอดมาจากทฤษฏีหลักหมุด (Pivot Theory)[2] ของผม บนพื้นฐานความคิดที่ว่าการพัฒนาสิ่งใดก็ตามต้องสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างรูปธรรมและนามธรรมที่มีความสอดคล้องคงเส้นคงวาตลอดทาง เริ่มตั้งแต่หลักปรัชญา หลักคิด หลักวิชา หลักการ และหลักปฏิบัติ สำหรับในบริบทของมหาวิทยาลัย ปรมาจารย์เจ้าทฤษฏี มีบทบาทสำคัญอย่างมากในฐานะมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และเป็นแกนนำผลิตกำลังคนและวิทยาการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ

ปรมาจารย์ เป็นศัพท์ที่เกิดมาจากคำ 2 คำ คือ “บรม” + “อาจารย์”

โดยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามคำว่า

“บรม” หมายถึง อย่างยิ่ง ที่สุด อย่างที่สุด

ขณะที่คำว่า “อาจารย์” หมายความถึง ผู้สั่งสอนวิชาความรู้

เมื่อนำคำ 2 คำมารวมเข้าด้วยกันจึงให้ความหมายถึง “อาจารย์ผู้เป็นเอกหรือยอดเยี่ยมในทางวิชาใดวิชาหนึ่ง”

ผมให้ความหมายคำว่า “ปรมาจารย์” ในมุมมองที่แตกต่างว่า ผู้ทะลวงทางปัญญาแบบมีนัยต่อโลกมนุษย์ เช่น

อาจารย์บางคนผู้ได้รับรางวัลโนเบล แต่การรับรางวัลโนเบลมิได้เป็นเพียงวิธีการเดียวในการระบุถึงการเป็นปรมาจารย์ตามนิยมของผมดังกล่าวนี้ ยังมีปรมาจารย์หลายคนที่ไม่เคยได้รับรางวัลใดระดับโลก ด้วยว่าการเป็นปรมาจารย์ต้องมีการทะลวงพรมแดนทางปัญญาแบบมีความหมายต่อโลกมนุษย์

คณาจารย์ของฮาร์วาร์ดบางคนสะท้อนความเป็นปรมาจารย์เจ้าทฤษฏีที่ผมใช้คำนี้ไว้เพราะสามารถนำมาใช้เป็นกรณีศึกษา (Best Practice) ได้ดี บทความนี้ผมขอยกตัวอย่างเป็นบางกรณีที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ เช่น

นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล อมรรตยะ เซ็น (Amartya Sen) ผู้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณค่าทางด้านสวัสดิการทางเศรษฐศาสตร์ (welfare economics) ผู้เป็นเจ้าของทฤษฏีด้านการเลือกทางสังคมและความเสมอภาค โดยเกือบทั้งหมดของผลงานของเซ็นเป็นการจัดการกับปัญหาการพัฒนาทางเศรษฐศาสตร์ เน้นหนักทางด้านสวัสดิการของกลุ่มคนยากจน อันส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนจำนวนมาก นอกจากฮาร์วาร์ดแล้วเซ็นยังมีบทบาททางด้านการสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอีกหลายแห่ง มีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ฯลฯ

เคนเนธ แอร์โรว์ (Kenneth J. Arrow) นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้สร้างทฤษฏีดุลยภาพทั่วไปและทฤษฏีเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ (general economic equilibrium theory and welfare theory) เป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลดังกล่าวนี้ แอร์โรว์ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของโลก มีผลงานโดดเด่นทางด้านการรวมวิธีการทางคณิตศาสตร์เข้ากับเศรษฐศาสตร์และการเมือง อันมีส่วนช่วยก่อรูปก่อร่างนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐทั่วโลก มีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากที่ได้รับอิทธิพลความคิดจากเขา[3]

ผมคิดว่า ปรมาจารย์เจ้าทฤษฏีดังกล่าวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นเหตุผลสำคัญของการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยระดับโลก เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตวิทยาการและสร้างคนระดับบนที่สำคัญ อันจะมีส่วนสนับสนุนให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านองค์ความรู้และการเปลี่ยนแปลงแบบมีความหมายต่อมวลมนุษยชาติ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองจึงทำให้มหาวิทยาลัยระดับโลกมีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยแม่พันธุ์หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำสูงสุด (Top Tier University)[4] ตามที่ผมเคยนำเสนอเอาไว้ในหลายเวทีตลอดมาหลายสิบปี ด้วยว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผสมเกสรทางความรู้ชั้นดี วิทยาการสำคัญจึงมักเกิดหน่อและต่อยอดมาจากมหาวิทยาลัยดังกล่าวเหล่านี้

มหาวิทยาลัยของไทยเราเช่นเดียวกันสามารถพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแม่พันธุ์และมีส่วนบ่มเพาะปรมาจารย์เจ้าทฤษฏีตามนิยามของผมดังกล่าวนี้

หากมหาวิทยาลัยพัฒนาตนเองอย่างมียุทธศาสตร์เน้นบางด้านที่เป็นจุดแกร่ง มีโอกาสเป็นต้นกำเนิดวิทยาการที่มีความหมายต่อประเทศและมวลมนุษยชาติเช่นเดียวกัน

 

[1] ผมนำเสนอความคิดเจ้าหลักหมุดอย่างเป็นทางการครั้งล่าสุดในการปาฐกถา ณ ที่ประชุมสมัชชาสยามอารยะ วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2561.

[2] ผมนำเสนอความคิดทฤษฏีหลักหมุดอย่างเป็นทางการครั้งล่าสุดในการเสวนาหัวข้อ การศึกษาของไทยในทศวรรษหน้า การเรียนหลักสูตรเสาหลักเพื่อแผ่นดิน : ผู้นำระดับสูงตามรอยเบื้องพระยุคลบาท เกียรติยศ รุ่นที่ 2 จัดโดย กลุ่ม 5 ห้วยทราย หลักสูตรเสาหลักเพื่อแผ่นดินฯ ณ อาคารศูนย์ประชุม ชั้น 2 สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  ถนนวิภาวิดีวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559.

[3] อ่านรายละเอียดคณาจารย์และศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดที่ได้รับรางวัลโนเบลเพิ่มเติมได้จาก https://www.harvard.edu/about-harvard/harvard-glance/honors/nobel-laureates

[4] ผมนำเสนอความคิด บทบาทสายพันธุ์ทางปัญญา 8 ประการมหาวิทยาลัยแม่พันธุ์ ในการบรรยายหัวข้อ Building World-Class Universities in Thailand: Opportunities and Challenge การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่อ การสร้างสรรค์นวัตกรรมและงานวิจัย มาตรฐานการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา คลังปัญญาในการบริการวิชาการสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน 4th Rajabhat University National and International Research and Academic Conference theme of “Creative Innovation and Research, Production and Development of Educational Personnel with High Standards, and Brain Bank via Academic Services for Community’s Strength and Sustainability” จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับ เครือข่ายราชภัฏ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 26 วันศุกร์ 9 – พฤหัสบดี 15 มีนาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *