“ดัชนีประสิทธิผลของปัญญาสมาพันธ์ กับ การพัฒนาเยาวชนเพื่อเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเชิงรุก”

         คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เยาวชนเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ เป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเจริญในอนาคต หากเราอยากเห็นประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้านและอารยประเทศ  จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่เราต้องให้ความสำคัญต่อเยาวชนและกำหนดทิศทางที่เหมาะสมในการสร้างเยาวชนของประเทศให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

         แท้จริงประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถแข่งได้ครับ เรามีจุดเด่น ที่สามารถนำมาส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปได้อีกไกลในอนาคต
         ในฐานะประธาน “สภาปัญญาสมาพันธ์” อันเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างคณาจารย์ เครือข่ายนักวิชาการหลากหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ รวมทั้งนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ได้ร่วมกันสร้างเครื่องมือชี้วัดที่สำคัญ นั่นคือ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศเพื่อ สร้าง “ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย” (TE Index) โดยวัดความเข้มแข็ง 3 ภาคส่วนที่มีความสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนประเทศ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม
         ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย หรือ TE Index (เท่ อินเด็ก) ประกอบด้วย 3 ดัชนีย่อย ได้แก่ ดัชนีประสิทธิผลภาครัฐ (Public Sector Effectiveness Index – PBE Index) ดัชนีประสิทธิผลภาคเอกชน (Private Sector Effectiveness Index – PVE Index) ดัชนีประสิทธิผลภาคสังคม (People Sector Effectiveness Index – PPE Index) การจัดทำ TE Index จะใช้การสำรวจการรับรู้ของประชาชน (perception survey) เก็บข้อมูลจากคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในเขตเมือง นอกเมือง ทุกระดับการศึกษา อาชีพ อายุ รายได้ กระจายเพื่อให้ได้ความเห็นจากกลุ่มต่าง ๆ อย่างครบถ้วน โดยจะดำเนินการสำรวจทุกเดือน เดือนละดัชนี เมื่อครบในหนึ่งไตรมาส จะทำการสำรวจวนซ้ำตามลำดับเพื่อเทียบเคียงความเปลี่ยนแปลง

ppe

         TE Index เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสะท้อนถึงระดับประสิทธิผล หรือความเข้มแข็ง ของทั้ง 3 ภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศสู่การบรรลุจุดหมายการพัฒนาประเทศ เป็นการมองแต่ละภาคส่วนด้วยสายตาของคนนอก เป็นกระจกสะท้อนให้แต่ละภาคส่วนได้มองเห็นตนเองจากมุมมองของประชาชน อันจะนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญ การสำรวจอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส จะช่วยให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงทำให้เห็นว่ามีการปรับปรุงหรือพัฒนาขึ้นหรือไม่
         สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ได้มีการแถลงผลดัชนีของ TE Index ด้านประสิทธิผลของภาคเอกชน (PVE) โดย PVE แบ่งการพิจารณาเป็น 3 ด้านคือ ด้านการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (growth) ด้านการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (social responsibility) และด้านสถาบันภาคเอกชน (private institution) โดยแต่ละด้านได้มีการพิจารณาลงรายละเอียดปัจจัยองค์ประกอบอีกหลายปัจจัย ซึ่งผลจากความเห็นของประชาชน 1,127 ตัวอย่างทั่วถึงประเทศ กระจาย 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กรุงเทพฯและปริมณฑล ควบคู่กับการสัมภาษณ์นักธุรกิจอีก 200 ตัวอย่าง พบว่า
         ในภาพรวมทุกด้าน ทั้งประชาชนและผู้เชี่ยวชาญให้คะแนนความคิดเห็นที่มีประสิทธิผลภาคเอกชน 60.98% โดยด้านการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (growth) ได้คะแนน 62.44%  ด้านการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (social responsibility) ได้คะแนน 61.10%  และด้านสถาบันภาคเอกชน (private institution)  58.95%
         โดยในด้านการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (growth) อันได้แก่ การบริหารทรัพยากร การสร้างอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง สัมพันธภาพระหว่างธุรกิจ การปฏิบัติด้านแรงงาน การตอบสนองต่อผู้บริโภค เราอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ในด้านการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (social responsibility) อันได้แก่ การรณรงค์ทางสังคม คอร์รัปชั่น การปฏิบัติตามกฎหมาย การช่วยเหลืองานสาธารณะ การรับผิดชอบ การใส่ใจต่อผู้บริโภค ความเปิดเผยและโปร่งใส คะแนนอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ส่วนด้านสถาบันภาคเอกชน (private institution) อันได้แก่ การเป็นผู้ประกอบการ ความเป็นสากล การสร้างนวัตกรรม และมาตรฐานการดำเนินงานได้คะแนนต่ำที่สุด
         สะท้อนให้เห็นว่า ไทยยังขาดศักยภาพในเรื่องการดำเนินการธุรกิจในเชิงรุก ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นของตนเองได้ ธุรกิจเน้นการผลิตเพื่อการเลียนแบบ และไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง
         ย้อนนึกถึงบุคลากรในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่เราคาดหวังว่าเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการนำพาประเทศให้พัฒนาให้กลายเป็นนักสร้างนวัตกรรมระดับโลกต่อไปในอนาคต เขาเหล่านี้ควรถูกสร้างอย่างไร
         ปรับทัศนคติของพ่อแม่ต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก
         พ่อแม่ต้องปรับทัศนคติของตนเองในการเลี้ยงลูก  ให้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นการไม่ใช้คำพูดที่บั่นทอนความคิดจินตนาการของเด็ก การเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองในสถานการณ์  ต่าง ๆ  ไม่ปกป้องลูกจนเป็นเหตุให้ลูกไม่เคยคิด ทำ ริเริ่ม หรือตัดสินใจด้วยตัวเองเลย  หรือดูแลลูกทุกอย่างจนลูกทำอะไรไม่เป็นเลย เราได้เห็นตัวอย่างวิธีอภิบาลเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาของสมเด็จย่า ซึ่งส่งผลให้คนไทยมีกษัตริย์นักพัฒนาเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงชนชาวไทยตราบจนทุกวันนี้
         เปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์
         การจะเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงศักยภาพ ต้องมีโอกาสให้เขา การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีพื้นที่ให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ การจัดให้มีช่วงเวลาได้เล่นอิสระส่วนตัวหรือกับเพื่อนฝูง การมีพื้นที่ในบ้าน  ไม่จำเป็นต้องมีบ้านที่มีพื้นที่กว้างขวาง แต่คือการมีมุมส่วนตัวให้เด็กได้ใช้เป็นพื้นที่ปลดปล่อยจินตนาการ และสร้างสรรค์ผลงานส่วนตัว เช่น มีโต๊ะหรือมุมอ่านหนังสือส่วนตัว เป็นต้น
         ส่งเสริม สนับสนุนให้เด็กมีโอกาสแสดงความคิดสร้างสรรค์
         พ่อแม่อาจมีการจัดหาอุปกรณ์ ของเหลือใช้ในบ้าน หรือของที่ไม่ใช้แล้ว ให้เด็กใช้สำหรับเล่น สร้างสรรค์ผลงานส่วนตัว ดังตัวอย่าง คุณพ่อท่านหนึ่งได้มอบวิทยุเก่าที่เสียแล้วให้ลูกชายวัย 7 ปี ไว้แกะดูโครงสร้างภายใน (แทนการนำไปขายของเก่า) ส่งผลให้เด็กคนนี้สนใจวงจรอิเล็คทรอนิคในวิทยุ จนศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองตั้งแต่ยังเล็ก เกิดแรงบันดาลใจประกอบอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์อีกหลายชิ้น และมุ่งมั่นเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์จนจบทำงานในที่สุด นอกจากนี้พ่อแม่ผู้ปกครองอาจมีการส่งเสริมให้เด็กได้ผลิตผลงานแข่งขันหรือเข้าประกวดเพื่อเป็นประสบการณ์ของเด็กต่อไป
         การเรียน การสอนที่พัฒนาให้เด็กรู้จักคิด
         เราได้ยินกันมาตลอดว่า  เด็กสมัยนี้เรียนแบบท่องจำ เรียนหนังสือเพื่อการสอบให้ผ่าน ประยุกต์ไม่เป็น ไม่สามารถต่อยอดการเรียนรู้ แม้เรียนจบไปก็ทำงานไม่เป็น  จึงต้องย้อนถาม การเรียนการสอนสมัยนี้เป็นอย่างไร เคยมีคนเล่าให้ผมฟังถึงผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้ให้คำแนะนำด้านการเรียนการสอนของครูไว้อย่างน่าคิดว่า
         ก.ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ซักถามข้อสงสัย
         ท่านบอกว่าครูสมัยนี้มีเวลาสอน 60 นาที จะใช้เวลาสอนเด็กจริง 70 นาที เด็กจึงเต็มล้นด้วยข้อมูล ไม่มีโอกาสได้ประมวลผลข้อมูลเลย ท่านแนะนำว่า ให้ครู สอน แค่ 50 นาที พอ เหลืออีก 10 นาที เอาไว้ให้เด็กได้ซักถาม โดยคุณครูเป็นฝ่ายชวนคุย (เพราะเด็กไทยไม่ค่อยกล้าแสดงออก) ตั้งคำถามให้เด็กตอบ หากเด็กตอบไม่ถูก ก็ไม่มีการตำหนิกัน แต่คุณครูต้องมีหน้าที่พูดนำความคิด พาให้เด็กได้พบคำตอบที่ถูกต้องในที่สุด
         ข.ครูควรปรับวิธีการสอนให้น่าสนใจ ทำให้เด็กอยากเรียนรู้
         ท่านบอกว่า สมัยก่อนท่านไม่ชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์เลย เพราะต้องท่องจำเยอะ แต่เมื่อท่านได้เรียนวิชานี้กับครูท่านหนึ่งซึ่งสอนโดยใช้วิธีให้เด็กไปค้นคว้าเรื่องที่จะเรียนมาก่อน แล้วมานั่งคุยกันในห้องเรียน ทำให้การเรียนวิชานี้กลายเป็นวิชาที่ท่านชอบเรียนและรู้สึกสนุกมาก
         ค.ครูควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา
         อย่ายึดติดที่ตำราเรียน เราทราบกันดีว่าตำราเรียนของนักเรียนใช้เวลานานกว่าจะมีการปรับปรุงใหม่ ข้อมูลความรู้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากนี้เราทราบกันดีว่า เราไม่สามารถยึดตำราเล่มใดเป็นหลักได้ ต้องมีการค้นคว้าจากตำราหลาย ๆ เล่ม เพื่อจะสามารถสรุปเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ บางทีก็มีคนเล่าให้ผมฟังว่าตำราเรียนของนักเรียนหลายเล่มที่มีข้อมูลคลาดเคลื่อน แต่พอข้อสอบออกมาเด็กก็ต้องตอบตามเนื้อหาในหนังสือเรียน เพราะข้อสอบอิงกับเนื้อหาในหนังสือเรียน ถ้าไม่ตอบตามหนังสือเรียนก็จะไม่ได้คะแนน เป็นต้น
         ง.ครูควรสอนให้เด็กรู้จักค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
         ข้อนี้ผมขอเพิ่มเติมครับ เพราะเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีพ่อแม่คนไหนจะนั่งป้อนข้าวลูกได้ตลอดชีวิต พ่อแม่ต้องสอนลูกให้หากินเองได้เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม ความรู้ก็เช่นกัน มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เด็กต้องสามารถหาความรู้ด้วยตนเองเป็นจึงจะสามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างสง่างาม
         ผมยังเชื่อว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถเคลื่อนไปได้อีกไกล ถ้าเราร่วมกันสร้างเยาวชนให้เข้มแข็งด้วยกันตั้งแต่วันนี้

 

ที่มา: แม่และเด็ก
ปีที่ 39 ฉบับที่ 530 มิถุนายน-กรกฎาคม 2559

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ : https://parnward8info.files.wordpress.com/2014/01/cd5208-7706_low.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *