ดร. แดน เสนอแนวคิด ?มหาศุภาลัย? หรือ ?มหาวิทยาลัยอารยะ? : กรณีศึกษา ฮาร์วาร์ดบูรณาการเชื่อมโลกจริง

ผมขอใช้ตัวอย่างกรณีศึกษาในการจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญกับการออกแบบการเรียนการสอนเชื่อมสู่โลกความเป็นจริง อันเป็นการช่วยเตรียมนักศึกษาให้พร้อมสำหรับโลกอนาคตที่ทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้น  อีกทั้งยังเป็นแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคสมัยใหม่ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัตด้วยอีกทางหนึ่ง

วิชาห้องปฏิบัติการกฎหมายแฟชั่น (Fashion Law Lab) ของวิทยาลัยกฎหมายฮาร์วาร์ด (Harvard Law School หรือ HLS) ที่เปิดให้มีการเรียนการสอนเพียง 9 วัน เป็นตัวอย่างนวัตกรรมรายวิชาที่เชื่อมนักศึกษาสู่การปฏิบัติในโลกความเป็นจริง แตกต่างจากรายวิชาอื่นที่ให้ความสำคัญกับการอ่านและการอภิปรายในชั้นเรียน วิชาดังกล่าวนี้จะให้นักศึกษามีส่วนร่วมแสดงบทบาทสมมติจำลองการทำงานให้คำปรึกษาในบริษัทแฟชั่น เป็นนักกฎหมายให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแบรนด์สินค้า ฝึกจัดการเกี่ยวกับลิขสิทธิ์การออกแบบและการปลอมแปลง  คิดยุทธศาสตร์จัดการกับพนักงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และนางแบบหรือนายแบบที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้คำปรึกษาวิธีการสนองตอบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการฟอกเขียว(การอ้างว่าสินค้าหรือบริการของตนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากเกินความเป็นจริง) และวิธีการป้องกันสิทธิของสัตว์ (Mineo, 2017)

วิชาห้องปฏิบัติการกฎหมายแฟชั่นเป็นเพียงตัวอย่างแนวทางการปรับตัวของมหาวิทยาลัยในการจัดการศึกษาสำหรับเตรียมนักศึกษาให้พร้อมสำหรับสนองตอบความต้องการของโลกยุคสมัยใหม่ ด้วยการออกแบบการเรียนการสอนให้มีส่วนเชื่อมนักศึกษาสู่โลกความเป็นจริง ให้นักศึกษาได้ฝึกฝน ทดลอง คิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ ในสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น อันมีส่วนช่วยพัฒนาความรู้และทักษะทางด้านกฎหมายให้แก่ผู้เรียนที่สำคัญอีกทางหนึ่ง

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย แต่ละปีมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก แต่ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งกลับพบว่า ประสบปัญหาที่บัณฑิตมีคุณภาพไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งสภาวะเช่นนี้ไม่เพียงไม่สามารถตอบสนองการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน แต่ช่องว่างความเหมาะสมของบัณฑิตจะกว้างมากขึ้นอีกในอนาคตที่ต้องการคุณภาพของบัณฑิตที่แตกต่างในเชิงก้าวหน้าไปกว่านี้อีก ดังนั้นการปรับตัวของมหาวิทยาลัยจึงไม่เพียงเพื่อให้เหมาะสมกับปัจจุบันแต่ต้องมองไปยังอนาคตด้วย

มหาศุภาลัยหรือมหาวิทยาลัยอารยะ (Araya University)1  เป็นศัพท์ที่ผมบัญญัติขึ้นอธิบายการปรับตัวของมหาวิทยาลัยที่จะเกิดขึ้นในยุคคลื่นลูกที่ 6 สังคมความดี (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2555ข, น. 34-36) ตามการแบ่งมหาวิทยาลัย 7 ยุค2  ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือผลิตกำลังคนสนองตอบการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศที่นับวันจะทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

มหาศุภาลัยหรือมหาวิทยาลัยอารยะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านการบูรณาการสร้างผู้เรียนให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนทุกด้าน เชื่อมโยงกับบริบทการใช้งานจริง มุ่งผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพระดับสูงป้อนสู่สังคม อันประกอบด้วย

สมรรถนะบูรณาการ : KSL 31220 Model คือ การบูรณาการสร้างผู้เรียนทั้งด้านความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิต อย่างสมดุลครบถ้วน (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2559, น. 31)

คุณภาพคนบูรณาการ : ดี เก่ง กล้า คือ การบูรณาการสร้างผู้เรียนให้เป็นทั้ง คนดี คือ คนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ยึดมั่นในหลักคุณธรรมและความถูกต้อง คนเก่ง คือ คนที่มีความรู้ความสามารถในสิ่งที่ทำ สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นอย่างสร้างสรรค์ และ คนกล้า คือ คนที่กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่ดี กล้าเป็นผู้นำ และกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2555ก, น. 41-48)

ภาคกิจบูรณาการ : รัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจ3  คือ การบูรณาการสร้างผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะกว้างครบถ้วนสามารถประยุกต์สู่รัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ (ประชาสังคม) ขณะเดียวกันยังคงลงลึกในความเชี่ยวชาญของตนเองในภาคกิจใดภาคกิจหนึ่ง

ภาวะผู้นำและการจัดการบูรณาการ คือ การบูรณาการสร้างผู้เรียนให้มีภาวะผู้นำที่สามารถทำงานข้ามภาคส่วนได้ตามความสามารถของผู้เรียน และ

เสาหลักบูรณาการ : เศรษฐกิจ การเมือง สังคม คือ การบูรณาการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับการสร้างชาติ

มหาศุภาลัยหรือมหาวิทยาลัยอารยะตามการแบ่งของมหาวิทยาลัย 7 ยุค ที่มีความโดดเด่นด้านการบูรณาการสร้างผู้เรียนให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนทุกด้าน สะท้อนถึงพลวัตการปรับตัวของมหาวิทยาลัยตามบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีส่วนสนับสนุนทิศทางการพัฒนาประเทศ อันเป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยแห่งโลกยุคอนาคต 

รายการอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2555ก). ชาวอารยะ : ชาวศิวิไลซ์ที่ใฝ่หา. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย.
________. (2555ข). สยามอารยะ แมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ. กรุงเทพฯ: ซัคเซส มีเดีย.
________. (2559, 26 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม). โมเดล KSL 31220 เทียบกับคุณภาพการสอนการเรียนรู้ของฮาร์วาร์ด. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, 63(24), 31.
Mineo, Liz. (2017, January 24). A custom-tailored course, Student learn fashion industry’s legal ropes and find career potential. Retrieved from http://news.harvard.edu/gazette/story/2017/01/a-custom-tailored-course/


1  มหาศุภาลัยหรือมหาวิทยาลัยอารยะ (Araya University) เป็นมหาวิทยาลัยยุคสังคมความดีตามการแบ่งมหาวิทยาลัย 7 ยุค เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นำเสนอแนวคิดดังกล่าวนี้อย่างเป็นทางการใน การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่อ การสร้างสรรค์นวัตกรรมและงานวิจัย มาตรฐานการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา คลังปัญญาในการบริการวิชาการสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน ครั้งที่ 4 จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับ เครือข่ายราชภัฏ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559.
2  มหาวิทยาลัย 7 ยุค ประกอบด้วย ยุคที่ศูนย์: มหาวิทยาลัยก่อนยุคบรรพกาล (Pre-Primitive : Informal University) ยุคที่หนึ่ง: มหาวิทยาลัยยุคบรรพกาล (Primitive : Nonformal University) ยุคที่สอง: มหาวิทยาลัยยุคโบราณ (Ancient : Semi-Formal University) ยุคที่สาม: มหาวิทยาลัยยุคสมัยใหม่ (Modern : Formal University) ยุคที่สี่: มหาวิทยาลัยยุคสว่างไสว (Enlightenment : Knowledge University) ยุคที่ห้า: มหาปัญญาลัย (Convergence : Wisdom University) และยุคที่หก:  มหาศุภาลัย (Integration : Araya University) มหาวิทยาลัย 7 ยุค พัฒนาจากประสบการณ์และการสังเกตปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของผู้นำเสนอ มิได้เกิดจากการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ มีวัตถุประสงค์ช่วยวิเคราะห์ปรากฏการณ์และทำให้เข้าใจสถานการณ์มากขึ้น.
3  เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นำเสนอในการบรรยายหัวข้อ ศึกษิตกับการสร้างประเทศไทย: ประชากิจ ธุรกิจ รัฐกิจ ในการสัมมนา จัดโดย มหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งคุณธรรม วันเสาร์ที่ 15 ส.ค. 2558.
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 22 วันศุกร์ 10 – พฤหัสบดี 16 กุมภาพันธ์ 2560

 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://static6.businessinsider.com/image/5387688f6bb3f74c3a29a00d-480/harvard-university-students-commencement-graduation.jpg
http://socialiststudies.ca/wp-content/uploads/2014/04/Socialist-Studies-Harvard-University-Review.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *