การทำงานมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ปฏิบัติมากกว่ากิจกรรมใด ๆ เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาในชีวิตอย่างน้อย 2 ใน 3 ของชีวิต และยังมีความสำคัญในด้านการดำรงชีวิตปัจจัย 4 (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) นอกจากนั้นการทำงานยังเป็นการเปิดโอกาสให้แสดงออกถึงความรู้ สติปัญญา ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจในชีวิต และยังเป็นการสร้างความก้าวหน้า ความมั่นคงให้กับตนเองและครอบครัว รวมไปถึงการมีคุณภาพชีวิตและฐานะทางสังคมที่ดี
.
อย่างไรก็ตามคนจำนวนมากหมดเวลาไปกับการทำงาน โดยมองว่าการทำงานไม่ใช่ความสุข แต่เป็นเพียงกิจกรรมที่ทำเพื่อให้ได้ “เงิน” หรือค่าตอบแทนความเหน็ดเหนื่อยที่เสียไปเพียงเท่านั้น
.
ผมเคยกล่าวไว้ในหนังสือ ข้อคิดเพื่อการทำงานว่า “หากเราคิดว่า การทำงานเป็นสิ่งที่ดี ชีวิตเราก็จะมีความสุข แต่ถ้าคิดตรงกันข้าม เราจะจมกับความทุกข์ตลอดชีวิต” การที่คนไม่มีความสุขหรือมองว่าการทำงานเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ เพราะหลายคนมองว่า “งาน” กับ “ชีวิต” เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง และพยายามหาสูตรการใช้ชีวิตเพื่อแบ่งเวลาให้เป็นสัดส่วน สมดุล ลงตัวมากที่สุด โดยให้เหตุผลว่า ความไม่สมดุลทำให้เกิดปัญหา เช่น อาการหมดไฟ ปัญหาสุขภาพ พลาดการใช้เวลากับครอบครัว คนรัก เป็นต้น
.
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าความเข้าใจที่ถูก และ ผิด ในเรื่องงานมีความสำคัญและเป็นตัวกำหนดความสุข ความสำเร็จและคุณค่าในการดำเนินชีวิต ซึ่งในมุมมองของผม คำว่า “งาน” ในภาษาอังกฤษมีหลายคำ ซึ่งแต่ละคำมีจุดเน้นต่างกัน จึงมีมิติน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
.
1. Work – เน้น Effort หรือ Outcome Performance
งาน (Work) คือ กิจกรรมทั่วไปที่ทำ ไม่ว่าจะโดยสมัครใจหรือจำเป็น โดยอาจจะได้หรือไม่ได้รับค่าตอบแทนก็ได้ และเป็นการกระทำที่ไม่ต่อเนื่อง เช่น งานที่ใช้แรงกาย งานตรากตรำ ค้าขาย งานฝีมือ ฯลฯ งาน (Work) เกิดจากโอกาสในการใช้แรงงานในทางที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะเน้นไปในทางการพยายามทำให้ได้ผลลัพธ์หรือผลการปฏิบัติการ เป็นต้น
.
2. Employment – เน้น Contract
การจ้างงาน (Employment) คือ สัญญาว่าจ้างให้ทำงานหรือบริการแลกค่าจ้างซึ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยทั่วไปจะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพการจ้าง เช่น ค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ ฯลฯ ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นสัญญาจ้างงาน จึงเห็นได้ว่าการจ้างงาน (Employment) จึงเน้นไปที่ สัญญาการจ้างงาน (Contract) เป็นหลัก
.
3. Job – เน้น Action
งาน (Job) คือ งานที่ทำนอกเหนือจากการทำงานในสำนักงาน เป็นเพียงแค่เพื่อให้ได้รายได้ เงินเดือน สวัสดิการ หรือผลประโยชน์ทางสังคมบางอย่างเท่านั้น คนที่ทำงาน (Job) จะโฟกัสไปที่ครอบครัว เพื่อน หรือ งานอดิเรกของตนเองมากกว่าการแสวงหาความรู้ในอาชีพ จะไม่ได้สนใจในการเพิ่มประสบการณ์หรือเห็นคุณค่ากับงานที่ทำ ผมจึงมองว่า “งาน (Job)” เป็นเพียงงานที่เน้นไปทางการลงมือ (Action) เพื่อได้ผลลัพธ์ตามความต้องการเท่านั้น
.
4. Career – เน้น Continuity
“สายอาชีพการงาน” (Career) คือ สิ่งที่ทำเพื่อตัวเอง ต่างกับ งาน (Job) ที่ทำเพื่อคนอื่น งาน (Career) ที่ทำก็ทำเพื่อรายได้ เงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่นกัน เพียงแต่ว่ามีแรงขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มโอกาส เพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อฝึกตัวเองให้สามารถสร้างความประทับใจกับคนอื่นและมีวิสัยทัศน์ที่อยากจะก้าวหน้าในอาชีพของตัวเองในระยะยาว มีการตั้งเป้าหมาย และสนุกไปกับการแข่งขันกับเพื่อนร่วมงาน อาชีพจึงต้องเน้นไปที่ความต่อเนื่อง
.
5. Occupation – เน้น Focus หมกมุ่น
“อาชีพ” (Occupation) คือ งานที่กระทำตามภาระและหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบ เช่น นักบัญชี ชาวประมง เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เป็นต้น ซึ่งจะเลือกอาชีพตามความชอบหรือความถนัด จึงเป็นการหมกมุ่นการงานเพื่อทำให้หมดเวลาโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นรายได้ ค่าจ้าง หรือเงินเดือน เป็นงานที่สุจริต ไม่ผิดศีลธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม ในมุมมองผมคำว่า “อาชีพ” (Occupation) จึงมุ่งเน้นไปที่การ หมกมุ่น (Focus) มากกว่า
.
6. Profession – เน้นมาตรฐาน (Standard)
“วิชาชีพ” (Profession) ในทางพุทธศาสนา คือการเป็นไปตามธรรมชาติตามสภาวะธรรม ตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงการเลี้ยงชีพอย่างเดียว แต่ต้องดูจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของอาชีพนั้น เช่น อาชีพแพทย์ ช่วยให้คนหายเจ็บป่วย หรืออาชีพนักกฎหมาย ช่วยให้คนได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น ผมจึงมองว่า วิชาชีพ (Profession) เป็นการพัฒนามาจากอาชีพ แต่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ความชำนาญขั้นสูงด้านสติปัญญามากกว่าการใช้กำลังด้านร่างกาย จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเรียนรู้ ฝึกฝนเป็นพิเศษ มีความรับผิดชอบสูงมากกว่างานในอาชีพทั่วไป ผมจึงเห็นว่า วิชาชีพ (Profession) จึงมุ่งเน้นมาตรฐาน (Standard) ที่ยึดมั่นทั้งในทางจริยธรรม และยึดมั่นในตนเอง และเป็นที่ยอมรับจากสาธารณชน
.
7. Vocation – เน้นรับจิตสำนึกจากเสียงเรียกภายใน (Inner Calling)
อาชีพ (Vocation) สะท้อนว่างานที่ทำสอดคล้องไปกับตัวตนทั้งในและนอกเวลาทำงาน รู้สึกมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งทั้งทางส่วนตัวและทางอารมณ์กับงาน ทั้งยังมีความกระตือรือร้นในการทำงาน มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน มีความพยายามที่จะทำงานหนักขึ้นและนานขึ้นเพื่อผลงานที่ดีกว่า มีความพึงพอใจในงาน มีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่จิตสำนึกบอกว่ามีคุณค่า งานจึงเป็นความรู้สึกเหมือนกับเป็นคุณค่าแห่งความหมายแห่งชีวิต ที่ทำให้เราแสดงออกความหมายชีวิตผ่านงานที่ทำ งานจึงไม่ใช่สิ่งที่ทำเพียงแค่เงิน หรือด้วยความจำใจ ฯลฯ สำหรับผม อาชีพ (Vocation) จึงเน้นไปที่การรับจิตสำนึกหรือเสียงเรียกในจิตใจ (Inner Calling)
.
ดังนั้นในมุมมองของผมคำว่า “งาน” จึงหมายความว่า “การรับจิตสำนึก” (Inner Calling) โดยให้น้ำหนักทั้ง 7 คำร่วมกัน แต่ให้น้ำหนักคำว่า (Vocation) หรือเสียงเรียกในจิตใจให้อุทิศตัวมากที่สุด เป็นการรับเสียงเรียกมาเป็นจิตสำนึก และ รับมาอย่างตั้งใจจะประกาศให้ทราบทั่วกันว่า จะอยู่ในเรื่องนี้ จะหมกหมุ่นอย่างต่อเนื่อง จะลงมือทำเหมือนเป็นสัญญา และจะพยายามอย่างถึงที่สุดจนกว่าจะเกิดผลลัพธ์
.
โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า
สิ่งที่ขับเคลื่อนให้ทำงาน คือ จิตสำนึก (ไม่ใช่เงินทอง, ตำแหน่ง, ชื่อเสียง ฯลฯ)
.
ความรู้สึกต่องาน คือ ความรักงาน (ไม่ใช่ เกลียดงาน ปฏิเสธงาน)
.
การตัดสินใจเลือกงาน คือ การเลือกสิ่งที่จะจดจ่อที่มีคุณค่าสูงสุด (ไม่ใช่ สิ่งที่มีมูลค่าเป็นหลัก)
.
เป้าหมายของการทำงาน คือ การ “สร้างชีวิตให้ดี เก่ง กล้า” (ไม่ใช่เพื่อ ‘สร้างเนื้อ สร้างตัว’)
.
ผลลัพธ์ของการทำงาน คือ ความสุข ชีวิตที่มีคุณค่าและความหมาย (ไม่ใช่ ตรากตรำ จำใจ )
.
หากต้องเลือกงาน ขอให้เลือกงานที่บูรณาการเข้ากับอุดมการณ์เป้าหมายในชีวิตได้ หากมีงานอยู่แล้ว ขอให้ปรับมุมมอง ความคิด ทัศนคติ ความรู้สึกต่องานที่ทำ ให้เป็นไปตามนิยามความหมายงานที่แท้จริงที่หมายถึง “การรับจิตสำนึก ไม่ใช่การรับจ้าง” และเป็นคุณค่าแห่งความหมายในชีวิตและเห็นผลลัพธ์เลอค่าจากงานที่ทำ ซึ่งตลอดชีวิตผมที่ผ่านมา ผมอุทิศเวลา ความรู้ เงินทอง ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อมีส่วนสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ให้กับโลกนี้ให้ได้มากที่สุด เฉกเช่นเดียวกันในการเลือกงาน ผมจะเลือกประเภทของงานที่สามารถปลดปล่อยศักยภาพในตัวออกมาได้มากที่สุด เป็นงานที่มีคุณค่าในชีวิตผมและมีคุณค่าเกิดประโยชน์ต่อคนในสังคมให้มากที่สุด นั้นแหละครับคือความหมายของงาน ที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่าที่แท้จริง