ความสุขเกิดจากความสัมพันธ์ในชุมชนที่มีอุดมการณ์

“เส้นทางแห่งอุดมการณ์เป็นเส้นทางแห่งความสุข”

ผมนำเสนอความคิดดังกล่าวนี้ด้วยต้องการชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างการมีอุดมการณ์และการมีความสุข โดยอุดมการณ์ตามนิยามของผมดังกล่าวนี้หมายถึง อุดมคติ (สิ่งดีงามที่ยึดถือ เทิดทูน) + แนวทางปฏิบัติที่สอดรับ เช่น อุดมการณ์ทางการเมือง เป็นต้น

อุดมการณ์มีความสัมพันธ์ครบถ้วนกับทุกองค์ประกอบของชีวิตทั้ง จิต ใจ และกาย จิตคือ อุดมคติหรือสิ่งดีงามที่ยึดถือ เทิดทูน ใจคือ อุดมารมย์หรืออารมณ์ผูกพัน และกายคือ การปฏิบัติสมกับอุดมคติและอุดมารมย์ที่ตนเองมี[2] เช่น อุดมการณ์ประชาธิปไตย จิต ยึดมั่น เทิดทูน ในระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนหรือการถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ใจ มีอารมณ์ความรู้สึกผูกพันจนเกิดเป็นพันธะที่จะต้องปฏิบัติตาม และกาย แสดงออกเป็นการปฏิบัติภายนอกสอดคล้องกับอุดมคติและอุดมารมย์ที่มี เช่น การเคารพการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ การยินดีเปิดใจและรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง

การมีอุดมการณ์เป็นเส้นทางแห่งความสุขเพราะทั้ง จิต ใจ และกาย บูรณาการความเป็นตัวตนสอดสมตลอดทาง เริ่มต้นจากอุดมคติที่เป็นส่วนลึกสุดไหลสู่ใจและกาย เป็นตัวกำกับความคิด ตัวตน และการแสดงออก ของเราแต่ละคน เกิดเป็นความสัมพันธ์ภายในตนเอง หากสัมพันธ์กับตนเองดีย่อมง่ายในการสัมพันธ์ดีกับผู้อื่น การอยู่ร่วมกันในชุมชนที่แต่ละบุคคลมีอุดมการณ์ร่วมกันจึงเป็นเหตุให้เกิดความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่มีอุดมการณ์เสมอกัน เข้าใจในอุดมการณ์เดียวกัน แม้มีข้อพิพาทแต่จะน้อย ดังข้อคิดของผมที่ว่า “การมีอุดมการณ์เสมอกันจะช่วยให้มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง”

ความสุขจึงเกิดจากความสัมพันธ์ในชุมชนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน การผูกพันกันเฉพาะทางกายและทางใจหรืออย่างใดอย่างหนึ่งไม่สามารถเติมเต็มความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งได้ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มเป็นความสัมพันธ์ที่ผิวเผิน เปราะบาง ถูกกระทบกระเทือนได้ง่าย ไม่สามารถนำสู่ความสุขความอิ่มเอมใจแท้จริง ภายใต้สภาวะที่ปัจจัยเงื่อนไขอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องอยู่ภายใต้การควบคุม เช่น คนที่มีอุดมคติทางการเมืองแตกต่างกันอย่างมาก แม้จะมีความผูกพันทางกายและอารมณ์ความรู้สึก แต่ความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกันย่อมไม่สามารถแนบทับกันสนิท เพราะขาดความสัมพันธ์ลงลึกถึงระดับรากฐานคือ อุดมคติความดีงามที่ยึดถือ เทิดทูน  

ความสัมพันธ์ในชุมชนอุดมการณ์จึงเป็นต้นเหตุของความสุขแท้จริง ต่างคนต่างมีเป้าหมาย มีวิถีการดำเนินชีวิต มีโลกทัศน์ชีวทัศน์ และมีความเข้าใจ คล้ายคลึงกัน ความขัดแย้งในประเด็นหลักสำคัญที่มีแนวโน้มทำให้เกิดปัญหาจะน้อยลง ดังข้อคิดของผมที่ว่า “ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งเกิดจากการมีอุดมการณ์แบบแนบทับสนิทกันมากที่สุด” ครับ

 

[1] ผมนำเสนอความคิดดังกล่าวนี้ในการบรรยายหัวข้อ อารยสุข ณ การประชุมสมัชชาสยามอารยะ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561.

[2] เกณฑ์ความพอเพียงของความรัก ผมนำเสนอในการบรรยายหัวข้อ อารยะความรัก ณ ที่ประชุมสมัชชาสยามอารยะ วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560.