ข้อเสนอการส่งเสริม Unicorns ในประเทศไทย

บทความที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงเนื้อหาเกี่ยวกับนิยามและลักษณะของ Unicorn ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญต่อการสร้างชาติไปแล้ว ในบทความนี้ผมจะนำเสนอสถานะของ Unicorn และข้อเสนอแนะในการส่งเสริมให้เกิด Unicorn ในประเทศไทยได้ในปัจจุบันประเทศไทยมี Unicorn 3 แห่ง ได้แก่ 1) Flash Express เป็น Unicorn แห่งแรกในปี 2564 เป็นธุรกิจขนส่งพัสดุ ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีเอง และใช้ Big Data ในการจัดการระบบภายในบริษัท ซึ่งเป็น Unicorn โดยใช้เวลาเพียง 3 ปี 2) Ascend Money (บริษัทในเครือของ CP Group) เป็นธุรกิจระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล (Digital wallet services) เป็น Unicorn ในปี 2564 ใช้เวลา 10 ปี และ 3) Line Man Wongnai
.
เป็นธุรกิจแอพพลิเคชั่นรีวิวอาหารและสั่งอาหารเดลิเวอรี่ เป็นการควบรวมระหว่าง LineMan และ Wongnai กลายเป็น Unicorn ในปี 2565 และยังมี Startup อื่น ๆ ที่มีโอกาสเป็น Unicorn เช่น Bitkup, SYNQA, Finnomena, Ookbee, Band Protocol เป็นต้น
.
ข้อสังเกตของผม คือ Unicorn ในประเทศไทย เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งโควิดเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) เนื่องจากผู้คนใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจที่ได้ประโยชน์ อาทิ ขนส่งพัสดุ, อาหารเดลิเวอรี่, ชำระเงินออนไลน์ เป็นต้น จากสถิติ Unicorn ในประเทศไทยยังมีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา 651 แห่ง จีน 174 แห่งและอินเดีย 70 แห่ง ฯลฯ สาเหตุมาจากปัจจัยสนับสนุน Unicorn ในประเทศไทยยังไม่เพียงพอ อาทิ จำนวนสตาร์ทอัพมีน้อยเมื่อเทียบสัดส่วนต่อประชากร
.
โดยจังหวัดที่ได้รับการส่งเสริมเป็นฐานการลงทุน ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งมีการกระจายตัวในหลากหลายอุตสาหกรรม และเงินลงทุนมีจำกัด แม้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 400 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 แต่เทียบกับประเทศชั้นนำ เงินลงทุนต่อหัวประชากรมีไม่เพียงพอในการพัฒนา
.
ประเทศไทยจึงมีความท้าทายในการพัฒนาความพร้อมด้านกำลังคนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาความสามารถการเป็นผู้ประกอบการ แผนธุรกิจ แผนการเงิน หาแหล่งเงินทุน และการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ผมจึงนำเสนอแนวคิดในการส่งเสริม Unicorn ในประเทศไทย ไว้ดังนี้
.
1. ส่งเสริม Startup สอดคล้องจุดแกร่งของประเทศ
ปัจจัยที่จะทำให้สตาร์ทอัพมีโอกาสเป็น Unicorn คือ การอยู่ในตลาดขนาดใหญ่ โดยแสวงหาตลาดที่มีศักยภาพ และมีคุณสมบัติเหมือนกันเพื่อดูดซับสินค้าและบริการ จากการวิเคราะห์จากค่าเฉลี่ยของ Unicorn ด้านซอฟต์แวร์ที่เข้าตลาดหุ้นระหว่างปี 2556 – 2563 พบว่า ต้องมีมูลค่ารวมของตลาดที่เป็นเป้าหมายของสตาร์ทอัพ เท่ากับ (25 พันล้านดอลลาร์ หรือ 8.25 แสนล้านบาท) โดยต้องมีรายได้เฉลี่ย 125 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.51 ของมูลค่ารวมของตลาด จึงจะทำให้สตาร์ทอัพมีรายได้เพียงพอที่จะเป็น Unicorn
.
ผมจึงเสนอแนวคิดให้ประเทศไทย เน้นการพัฒนาสตาร์ทอัพ สอดคล้องจุดแกร่งประเทศ ซึ่งผมเรียกว่า Thailand’s Niches หรือเมืองหลวงโลก 4 ด้าน ประกอบด้วยอาหาร (Food), ท่องเที่ยว (Tourism), สุขสภาพ (Wellness), อภิบาลคนชรา (Elderly Care) เนื่องจากเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ มีโอกาสแข่งขันได้สูง เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต ตัวอย่างสตาร์ทอัพที่ควรส่งเสริม เช่น FoodTech & AgTech, TravelTech, HealthTech & WellnessTech, AgeTech ฯลฯ
.

2. พัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมให้มีปริมาณมากถึงจุดมวลวิกฤต (Critical Mass)
ธุรกิจที่มีโอกาสเป็น Unicorn ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งมิติของความแตกต่างอาจมีได้หลายมิติได้แก่ คุณภาพ ความเร็ว ต้นทุน แต่ละมิติยังมีทางเลือกย่อย ๆ ในการสร้างความแตกต่าง และต้องเป็นผู้ที่มีทักษะรอบด้าน เช่น การสร้างนวัตกรรม การเป็นผู้ประกอบการ ดังนั้นการสร้าง Unicorn จึงต้องพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมให้มีปริมาณมากจนถึงจุดมวลวิกฤต (Critical Mass) ตัวอย่างเช่น การพัฒนานวัตกร ซึ่งผมได้เสนอกลุ่มความรู้ความเชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี 17 กลุ่ม ที่ผมตั้งชื่อว่า STEMMAD-CINDERELLA ประกอบด้วย
.
S คือ วิทยาศาสตร์ (Science), T คือ เทคโนโลยี (Technology)
E คือ วิศวกรรม (Engineering), M คือ คณิตศาสตร์ (Mathematics) และการคิดเชิงตรรกะ
M คือ การบริหารจัดการ (Management), A คือ ศิลปะ (Art)
D คือ ระบบออกแบบ (Design System), C คือ การคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
I คือ การจัดทำตัวชี้วัด (Indexation), N คือ การสร้างเครือข่าย (Networking)
D คือ การตัดสินใจ (Decision Making), E คือ การประกอบการ (Entrepreneurship)
R คือ การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (Research and Innovation)
E คือ ทักษะด้านภาษาอังกฤษ (English Skill), L คือ ทักษะการเรียนรู้ (Learning Skill)
L คือ ทักษะการนำ (Leadership Skill), A คือ ทักษะการปรับตัว (Adaptation Skill)
.
รวมถึงสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก โดยเน้นด้านนวัตกรรมให้เป็นที่ บ่มเพาะสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ สนับสนุนในการดึงดูดกลุ่มคนที่ทำงานอิสระโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก (Digital Nomad) ดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาทำงานและอาศัย “Big Push” และดึงดูดสตาร์ทอัพทั่วโลกมาจดทะเบียนบริษัท โดยการทำให้การจดทะเบียนตั้งบริษัทง่ายเหมือนประเทศเอสโตเนีย เป็นต้น
.
3. พัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจสำหรับ Unicorn Startup
ระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) ในประเทศไทย ยังไม่เพียงพอสำหรับ Unicorn แต่เป็นระบบนิเวศทางธุรกิจที่เพียงพอสำหรับสตาร์ทอัพทั่วไป โดยเฉพาะด้านเงินทุนที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากสตาร์ทอัพที่จะเป็น Unicorn ต้องระดมทุนได้ 212 ล้านดอลลาร์ แต่เงินลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งหมดในแต่ละปี ไม่ถึง 200 ล้านดอลลาร์ (มีเพียงปี 2563 เท่านั้น ที่เงินลงทุนเกือบ 400 ล้านดอลลาร์) ดังนั้นการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ ต้องเอื้อให้สตาร์ทอัพเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย เช่น การส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
.
มีการเชื่อมโยงกับระบบนิเวศทางธุรกิจของต่างประเทศ และพัฒนาแหล่งระดมเงินทุน (Crowd funding) หรือ เปิดโอกาสให้กองทุนขนาดใหญ่ลงทุนในสตาร์ทอัพ เช่น กองทุนประกันสังคม ฯลฯ และภาครัฐต้องทำให้กระบวนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่ รวดเร็ว อีกทั้งมีการสนับสนุนปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น การสนับสนุนด้านการตลาดและการขาย การสร้างสภาพแวดล้อมบริบทการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม
.
4. ส่งเสริมการควบรวมบริษัท Startup
การเร่งให้เกิด Unicorn อาจเกิดจากการควบรวม เช่น การควบรวมระหว่างสตาร์ทอัพ ด้วยกันเอง เช่นกรณี Lineman และ WongNai หรือการควบรวมโดยบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งUnicorn จำนวนมากเกิดจากการซื้อสตาร์ทอัพโดยบริษัทขนาดใหญ่ ในยุคภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Recession) บริษัทใหญ่เน้นการควบรวมมากกว่าลงทุนเอง เพื่อขยายสมรรถนะทางเทคโนโลยีและกำจัดคู่แข่งหน้าใหม่ เช่น Facebook ควบรวม WhatsApp และ Google ควบรวม Nest เป็นต้น
.
5. ส่งเสริมองค์กรสร้างชาติ Unicorn (Corporate Nation-Building: CNB Unicorn)
ในความเห็นของผม Unicorn ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรธุรกิจเท่านั้น แต่อาจเป็นองค์กรในภาคธุรกิจ รัฐกิจ และประชากิจก็ได้ มูลค่าองค์กร อาจไม่ได้พิจารณาเพียงผลตอบแทนเชิงพาณิชย์เท่านั้น
.
แต่ประเมินทั้งผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ และผลตอบแทนทางสังคม ซึ่งต้องประเมินผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงิน โดยที่ผู้ร่วมลงทุนมุ่งหวังผลตอบแทนทางสังคมด้วย เช่น ภาครัฐอาจลงทุนในรูปตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social Bond) หรือมูลนิธิที่มอบทุนในกับองค์กรอื่นที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม เป็นธุรกิจที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและมีส่วนในการสร้างชาติ ตามแนวคิดเกณฑ์การพิจารณาร่วมลงทุน: Dr. Dan’s Corporate Mission Spectrum ของผมที่ได้อธิบายประเภทของธุรกิจตามระดับการมีส่วนร่วมสร้างชาติไว้ดังนี้
.
CSR 0.0: Profit Makers = CPM (Corporate Profit Making) สร้างผลกำไร
CSR1.0: Donators = CSR (Corporate Social Responsibility) ทำกิจกรรมเพื่อสังคม
CSR2.0: Avoiders = CGG (Corporate Good Governance) มีธรรมาภิบาล
CSR3.0: Creators = CSV (Corporate Social Value) สร้างคุณค่าต่อสังคม
CSR4.0: Co-creators = CNB (Corporate Nation-Building) สร้างชาติ
.
ดังนั้นรัฐบาลควรส่งเสริมและรณรงค์ให้คนตัวใหญ่โตช่วยคนตัวเล็กน้อย ตามโมเดลของผมที่ได้เคยนำเสนอไว้ คือ คนที่มีมากช่วยคนที่มีน้อย หรือธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อเป็นการเร่งให้เกิด Unicorn จำนวนมากและรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยกขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผมเชื่อว่าเมื่อประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมทั้งด้าน คน ระบบ บริบท ย่อมเป็นคานงัดที่สำคัญในการสร้างชาติให้มั่นคงยั่งยืนต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *