อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า ?คนที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาด คือ คนที่ไม่เคยทำอะไรใหม่เลย? (?Anyone who has never made a mistake has never tried anything new.?)
ประวัติคนที่ประสบความสำเร็จในแวดวงต่าง ๆ ทั่วโลกจำนวนมาก มักมีส่วนหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน นั่นคือ ประวัติความผิดพลาด ล้มเหลว และต้องเดินอยู่บนเส้นทางอันเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม ก่อนที่จะคว้าความสำเร็จได้
ไม่ว่าจะเป็น เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) ก่อนที่จะก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ได้อย่างมั่นคง ต้องล้มเหลวถึงขนาดหมดเนื้อหมดตัวมาแล้วถึง 5 ครั้ง …วอลท์ ดิสนีย์ (Walt Disney) เจ้าพ่อแห่งโลกจินตนาการ เคยถูกไล่ออกจากงานหนังสือพิมพ์ ด้วยข้อกล่าวหาว่า ขาดจินตนาการและความคิดดี ๆ ในการสร้างสรรค์งานและเมื่อเริ่มธุรกิจของตน ก็เผชิญหน้ากับภาวะล้มละลาย หรือ ..โอปรา วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) ก็เคยถูกไล่ออกจากงานถึง 2 ครั้ง เมื่อครั้งทำงานเป็นผู้ประกาศข่าว และโปรดิวเซอร์รายการ
นอกจากบุคคลเหล่านี้แล้ว ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ล้มเหลว ไม่ท้อแท้ ท้อถอย แต่รวบรวมพลังความฝัน เดินหน้าลุกขึ้นสู้ต่อไป
ความผิดพลาดล้มเหลว ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ช่วยให้เราปรับมุมมอง วิธีคิด ปรับปรุงตนเอง และปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงาน เมื่อผสานกับความมุ่งมั่นตั้งใจ ไม่ย่อท้อ กล้าเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในอนาคต ส่งผลทำให้การก้าวไปสู่เป้าหมาย จึงเป็นไปด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และมั่นใจว่าจะไม่เกิดความผิดพลาดแบบเดิม ๆ ขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครอยากให้ความล้มเหลว ความผิดพลาด เกิดขึ้นก่อน แล้วจึงค่อยเรียนรู้ เพราะในบางเรื่องเมื่อล้มเหลวแล้ว อาจไม่มีโอกาสให้กลับมาแก้ตัวได้อีก
ทางที่ดีกว่า คือ เรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น การเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น ช่วยให้เราป้องกัน ระมัดระวัง ไม่ต้องย่ำลงไปในร่องความล้มเหลวที่มีผู้เคยตกลงไปแล้ว ซึ่งย่อมเป็นวิธีที่ ?ฉลาด? กว่า เพราะลดการเสียเวลา ลดความเสียหายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้
ยกตัวอย่างเช่น ผมได้เรียนรู้มุมหนึ่งจาก ?ความผิดพลาด? ของสตีฟ จอบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล ฉายาอัจฉริยะเปลี่ยนโลก หลายคนคงไม่รู้ว่า เขาเคยประเมินสถานการณ์ผิดพลาด เพราะเชื่อมั่นในการวิเคราะห์ด้วยหลักเหตุผลของตนเองเกินไป เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในปี 2008 เขาได้ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับการวางตลาด Kindle (เครื่องสำหรับอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์) ของบริษัทอเมซอน โดยมองว่า การผลิตเครื่องอ่านหนังสือนี้ เป็นความคิดที่ผิดพลาด เพราะเชื่อว่า คนจะไม่อ่านหนังสืออีกต่อไป
เขากล่าวว่า ?มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ผลิตภัณฑ์ (Kindle) นี้ มันดีหรือไม่ดี ความจริง คือ คนจะไม่อ่านอีกต่อไป เมื่อปีที่ผ่านมา (2007) 40% ของคนสหรัฐอ่านหนังสือ เพียง 1 เล่ม หรือน้อยกว่า?
ปรากฏว่า ความคิดของเขานั้น ?ผิด? คนไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลง ตรงกันข้าม มีผู้สั่งซื้อ Kindle ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก และทำให้สองปีต่อมา แอปเปิล ได้วางจำหน่าย iPad พร้อมกับแนวคิดส่วนหนึ่งคล้ายกัน คือ เป็นเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์..
สิ่งที่เรียนรู้จากความผิดพลาดในครั้งนี้ คือ ในการประเมินหรือคาดการณ์เรื่องต่าง ๆ อย่า ?มั่นใจ? ในความคิดของตนจนเกินไป ให้?เผื่อใจ? ไว้บ้าง เพราะเราอาจจะคิดไม่ครบ อาจมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ต้องนำมาประเมินร่วมด้วย เราต้องคิดหาเหตุผล ข้อมูล และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้รอบด้าน รวมทั้งในการคาดการณ์อนาคต เราอาจไม่สามารถฟันธงลงไปชัด ๆ ว่า จะเกิดเช่นนั้นได้
?คิดรอบคอบ? ก่อนตัดสินใจเสมอ ความผิดพลาดจะลดลง ถ้าเราคิดให้ครบทุกมุมก่อนที่จะตัดสินใจ เราควรผิดพลาดให้กับเรื่องที่ ?คาดไม่ถึง? หรือมีสถานการณ์บางอย่างที่ ?ควบคุมไม่ได้? แต่ไม่ควรผิดพลาด เพราะความประมาท การไม่คิดรอบคอบ หรือเชื่อมั่นในความคิดความรู้ประสบการณ์ของตนเองจนเกินไป
หากเราบอกกับตัวเองว่า ?อย่าทำผิด ในเรื่องที่คนอื่นเคยทำผิดมาแล้ว? และหมั่นสังเกตคนรอบตัว สิ่งที่เขาทำหรือไม่ทำนั้น ให้บทเรียนสอนเราอย่างไรบ้าง รวมทั้ง เรียนรู้จากชีวิตของผู้คนในแวดวงต่าง ๆ จากการติดตามข่าวสารและการอ่านหนังสือ ย่อมช่วยให้เราได้ข้อคิดดี ๆ นำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตของเราได้ โดยเราควรมีสมุดบันทึก ?บทเรียน? จากความผิดพลาด และข้อคิดที่ได้รับ จดบันทึกไว้ เพื่อทบทวนกันลืมและเป็นประโยชน์เมื่อต้องการนำมาใช้งาน
อย่างไรก็ตาม แม้บทเรียนจากความล้มเหลวของคนอื่นจะให้ข้อคิดที่ดีแก่เรา แต่ในโลกความเป็นจริง สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราแต่ละคน ต่างก็มี ?รายละเอียด? ที่แตกต่างกัน โอกาสที่เราจะต้องเผชิญหน้ากับความผิดพลาดล้มเหลวนั้นย่อมเป็นไปได้ เพราะเราอาจไม่รู้ว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด จนกว่าจะเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และได้รับผลกระทบที่ตามมา
ที่มา:?งานวันนี้
ปีที่ 17 ฉบับที่ 735 วันที่ 5-12 พฤษภาคม 2558
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,?http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ :?http://www.ka-net.org.uk/files/images/learning_support-logo.jpg