ประเทศไทยมีแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ด้วยวงเงินลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างระบบราง ที่มีงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่นำมาใช้หลายด้าน อาทิ การศึกษาความเป็นไปได้ การประเมินผลกระทบ การก่อสร้างสถานี การก่อสร้างราง หัวรถจักรและตู้รถไฟ ระบบควบคุมการเดินรถ ระบบโทรคมนาคม ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบประตู ระบบตั๋วรถไฟ ระบบจ่ายไฟฟ้า การบำรุงรักษา อุปกรณ์อะไหล่ และบริการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทว่าเทคโนโลยีส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ
ผมจึงคิดว่า จะดีกว่าหรือไม่หากประเทศไทยใช้โอกาสนี้ เพื่อยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีในประเทศ เราควรใช้ประโยชน์สูงสุดจาก Megaproject เพื่อการสร้างชาติให้เป็นประเทศนวัตกรรม โดยผมมีความเห็นดังต่อไปนี้
(1) สร้างอำนาจต่อรองโดยทำให้เกิดการแข่งขัน
การลงทุนขนาดใหญ่ในระบบราง โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง มีการแข่งขันระหว่าง จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งเกาหลีใต้ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศต้องการขยายตลาดรถไฟความเร็วสูงใน ASEAN สถานการณ์การแข่งขันระหว่างประเทศผู้ผลิตรถไฟจะทำให้ประเทศไทยมีอำนาจต่อรองมากขึ้น
- จีน มีแหล่งเงินทุนจำนวนมาก และมีต้นทุนต่ำ (economy of scale) เพราะจีนทำรถไฟยาวที่สุดในโลก และต้องการผลักดัน One Belt One Road
- ญี่ปุ่น มีความน่าเชื่อถือทางเทคโนโลยี เพราะญี่ปุ่นทำรถไฟความเร็วสูงมานาน และยังมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งมีความคุ้นเคยกับการลงทุนในประเทศไทย
เกาหลีใต้ มีเทคโนโลยีเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น แต่มีข้อด้อยในแง่แพ็คเกจทางการเงิน จึงพยายามสู้ด้วยข้อเสนอการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเกาหลีได้รับสัญญาในโครงการระหว่างสิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ โดยเสนอเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย
สิ่งที่ประเทศไทยควรทำ คือ เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ แข่งขันกัน เพื่อให้ไทยได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด
(2) ตั้งเงื่อนไขอย่างชัดเจนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี
เราควรกำหนดกิจกรรม ความรับผิดชอบ และจัดระบบติดตามตรวจสอบอย่างชัดเจน เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากคู่สัญญาต่างประเทศ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาวิศวกร บุคลากร และสมรรถนะของบริษัทในประเทศ
(3) กำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่จาก megaproject
แผนของโครงการระบบรางต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ โดยการกำหนด local content ของโครงการระบบราง การกำหนดให้มีความช่วยเหลือ เพื่อพัฒนาฐานการผลิตในท้องถิ่น (localization) รวมถึงสนับสนุนบริษัทต่างชาติร่วมลงทุนกับบริษัทของไทย เพื่อตั้งฐานการผลิตในประเทศ
(4) กำหนดให้บุคลากรและบริษัทของไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม
คู่สัญญาในโครงการระบบรางอาจมีลักษณะเป็น consortium ซึ่งประกอบด้วยบริษัทต่างประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี และบริษัทของไทย ในแต่ละกลุ่มงาน หรือแต่ละผลิตภัณฑ์ในโครงการ โดยมีบริษัทต่างประเทศเป็นผู้นำกลุ่มงาน และเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และจะต้องมีบริษัทของไทยประกบอยู่ทุกกลุ่มงาน
(5) จัดระบบควบคุม ตรวจสอบ และประเมินผล
การดำเนินโครงการระบบรางต้องมีการจัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีควบคู่ไปกับแผนหลักของโครงการ และจัดระบบควบคุม ตรวจสอบ และประเมินผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีตลอดการดำเนินโครงการ
ดังตัวอย่าง การถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการรถไฟความเร็วสูง โซล-ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้[1] ที่เริ่มศึกษาในปี 1982 เริ่มก่อสร้างในปี 1994 แล้วเสร็จในปี 2004 ระยะทางรวม 430 กิโลเมตร กลุ่มบริษัทที่เป็นคู่สัญญาของโครงการ คือ “Korea TGV Consortium” (KTGVC) นำโดย ALSTOM และ EUKORAIL จากฝรั่งเศส ประกอบด้วยองค์กร 13 แห่งทั้งจากฝรั่งเศสและเกาหลีใต้
Consortium ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงาน คือ
(1) ระบบแกนกลาง
(2) ตัวรถไฟ
(3) ระบบควบคุมรถไฟ
(4) บริการที่เกี่ยวข้อง และ
(5) ระบบราง ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีบริษัทจากฝรั่งเศสเป็นผู้นำและบริษัทเกาหลีใต้เป็นสมาชิก โดยเกาหลีใต้มีลักษณะการใช้ประโยชน์สูงสุดจาก Megaproject ได้แก่
- ด้านที่ 1 การถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยจัดทำสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถ่ายทอด และผู้รับเทคโนโลยี กำหนดแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และจัดระบบการถ่ายทอดฯ โดยมีเป้าหมายการถ่ายทอดความรู้เฉพาะเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์นั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบแปลนของผลิตภัณฑ์ สเปกของผลิตภัณฑ์ รวมถึงสามารถจัดซื้อผลิตภัณฑ์นั้นได้ กล่าวคือ ซื้อแต่ละส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเหมือนกันหรือมีลักษณะจำเพาะทางเทคนิคจากแหล่งทั้งในฝรั่งเศสและเกาหลีใต้
- ด้านที่ 2 การทำให้เป็นท้องถิ่น (localization) อุตสาหกรรมระบบรางของเกาหลีใต้มีส่วนร่วมสูงมากในโครงการ โดยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญาแกนกลาง ถูกจัดสรรให้บริษัทเกาหลีที่อยู่ใน Consortium และการจัดสรรงานต่างๆ เป็นไปตามแผนแม่บททั่วไป ในขณะที่การผลิตเริ่มตามตารางเวลาที่เป็นไปตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมของประเทศ
- ด้านที่ 3 การจัดระบบควบคุมและประเมินผล โดยการจัดระบบสำหรับการควบคุมแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และทำให้เป็นท้องถิ่น (TT/Loc) รวมทั้งการตรวจสอบการส่งบุคคลากรไปฝึกอบรมในฝรั่งเศส และการให้ความช่วยเหลือในเกาหลีใต้ โดยในแต่ละกลุ่มจะมีระบบตรวจสอบการดำเนินงานและตรวจสอบ TT/Loc ของแต่ละผลิตภัณฑ์
ผลลัพธ์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการทำให้เป็นท้องถิ่นระหว่างประเทศฝรั่งเศสและเกาหลีใต้ คือ
- มีการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องในโครงการถึง 350,000 ยก (folios) หรือ 1,400,000 หน้า
- เกิดการฝึกอบรม 1,760 คน-เดือน ในฝรั่งเศส และ
- การให้ความช่วยเหลือ 1,400 คน-เดือน ในเกาหลีใต้ (รวมทั้งการสนับสนุนการจัดหา) จนเกาหลีใต้สามารถพัฒนารถไฟความเร็วสูงของตนเองได้ และสามารถส่งออกได้
ด้วยเหตุที่ทรัพยากรมีจำกัด การใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุดอย่างเกิดประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุดต่อประเทศชาติ เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรคิดคำนึงทุกครั้งไม่ว่าจะดำเนินโครงการใด
[1] Fournier, Etienne. (2011). Delivering a Turnkey High-Speed Rail System with a full Technology Transfer: The Korean TGV. Presented in World Bank Transport Forum 2011 50 years of Innovation in Transport Innovation and Technology, Washington DC, March 2011
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com