ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยมีพืชพันธุ์ที่หลากหลายรวมไปถึงกัญชง และกัญชา พืชทั้งสองเริ่มต้นกระจายอยู่บริเวณตอนกลางของทวีปเอเชีย และได้แพร่กระจายในทวีปยุโรปและทั่วโลก
.
กัญชงเป็นพืชหมุนเวียนที่ดี ใช้น้ำน้อย ทนทาน ให้ผลผลิตจำนวนมากและรวดเร็ว เมื่อเทียบกับพืชที่ให้ผลผลิตคล้ายกัน เช่น ฝ้าย สน ปอ เป็นต้น กัญชงสามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และให้ราคาต่อน้ำหนักผลผลิตที่สูงกว่าพืชหลายชนิด จากสถิติในปี พ.ศ. 2560 พบว่ากัญชงให้ราคาผลผลิตมากกว่ายางแผ่น (57 บาท/กิโลกรัม) สูงถึง 5 เท่า นอกจากนี้ทุกส่วนของกัญชงยังแปรรูปได้หลายผลิตภัณฑ์ อาทิ กระดาษ แผ่นไฟเบอร์ เชื้อเพลิง น้ำมันปรุงอาหาร ยา ปุ๋ย เป็นต้น
กัญชงมีบางส่วนที่แตกต่างจากกัญชา โดยเฉพาะสาร THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ซึ่งกัญชงจะให้สาร CBD ที่มากกว่า และมีสาร THC ที่น้อยกว่ากัญชา โดยที่สาร THC มีฤทธิ์ทำให้เมา ในขณะที่สาร CBD ช่วยควบคุมอาการลมชัก และลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ฯลฯ ในขณะเดียวกัน หากเสพกัญชงในปริมาณมากก็สามารถเมาจากสาร THC ได้ หรือการสูบก็ให้ฤทธิ์ที่รุนแรงกว่าการรับประทาน หรือการใช้กัญชงที่มีอายุมากก็ทำให้เมาเช่นกัน เนื่องจากกัญชงแก่มีสาร THC สูง นอกจากนี้การใช้ปริมาณสาร CBD ที่เข้มข้นก็สามารถส่งผลข้างเคียงได้ เช่น ความดันสูง เวียนหัว คลื่นไส้ เป็นต้น
.
กัญชง เคยเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเรื่อยมาในประเทศไทย จนกระทั่งได้รับอนุญาตให้ประชาชนปลูกได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 แต่ก็เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์เท่านั้น สำหรับการเปิดเสรีเพื่อสันทนาการนั้น แม้พบว่ามีหลายประเทศที่วางแผนทำให้กัญชาถูกใช้เพื่อสันทนาการได้มากขึ้น เช่น ลักเซมเบิร์ก ที่เตรียมพิจารณาเปิดเสรีกัญชาให้สามารถผลิตและบริโภคได้อย่างถูกกฎหมาย หรือเม็กซิโกที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาผลักดันร่างกฎหมาย ทำให้ฝ่ายสนับสนุนเห็นว่า การเปิดเสรีกัญชาเพื่อสันทนาการจะช่วยลดการค้ายาเสพติดผิดกฎหมายและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แก้ปัญหาด้านสุขภาพของผู้เสพอันเนื่องมาจากการใช้กัญชาคุณภาพต่ำ และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนผ่านการแปรรูปและส่งออก
.
แต่สำหรับจุดยืนของผมแนะนำว่ายังไม่ควรให้คนทั่วไป หรือผู้ป่วยปลูกกัญชงได้เอง เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีมาตรการใด ๆ มารองรับว่าจะมีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ หากเปิดให้ใช้กัญชงเพื่อสันทนาการ ก็อาจเกิดผลเสียต่อประชาชนเหมือนการเสพกัญชาได้ แม้ดูเหมือนว่าสาร THC ในกัญชงจะต่ำ แต่จากการศึกษาพบว่ามีความเป็นไปได้ว่ากัญชงอาจให้ผลเหมือนกัญชาได้ หากเสพปริมาณมาก ใช้วิธีสูบ หรือใช้กัญชงที่มีอายุมาก ดังนั้นเพื่อให้กัญชงมีส่วนในการสร้างชาติมากขึ้น ผมจึงขอเสนอแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
.
1. ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรและพื้นที่ที่เหมาะสม
การปลูกกัญชง กัญชาอาจเป็นเครื่องมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยควรให้หน่วยงานที่กำกับดูแลควบคุมว่าใคร พื้นที่ไหน ควรปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนสำคัญมากในการทำหน้าที่กระจายความมั่งคั่ง หากต้องการส่งเสริมให้กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีส่วนในการสร้างชาติ ควรส่งเสริมให้ปลูกโดยกลุ่มเกษตรกรที่ยากจน ในพื้นที่ที่ยากจน เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในขณะนี้ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เลือก จังหวัดสกลนคร เป็นพื้นที่ปลูกกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายแห่งแรกในไทย และอีก 6 จังหวัด 15 อำเภอที่กำหนดไว้เดิมให้ปลูกกัญชง แต่ภาครัฐควรส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่อื่นด้วย เช่น แม่ฮ่องสอน (อำเภออื่น นอกเหนืออำเภอเมือง ซึ่งได้รับอนุญาตอยู่แล้ว) อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ และปัตตานี ซึ่งยังเป็นกลุ่มจังหวัดที่รายได้น้อย เป็นต้น
.
2. เรียนรู้จาก Best Practice ในการส่งเสริมกัญชง
หลายประเทศเปิดไฟเขียวให้ใช้กัญชงและกัญชาเพื่อการแพทย์ได้ หรือเพื่อสันทนาการได้ เช่น แคนาดา อุรุกวัย อาฟริกาใต้ จอร์เจีย และอีกหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐบาลไทยควรจะมีการถอดบทเรียนจากประเทศเหล่านี้ให้ละเอียดว่า พวกเขาดำเนินนโยบายอะไร ปัจจัยแห่งความสำเร็จและปัจจัยแห่งความล้มเหลวคืออะไร การตรวจสอบไม่ให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้อย่างไร ฯลฯ เพื่อประเทศไทยที่กำลังเดินตามจะไม่ผิดพลาดซ้ำ
.
3. ส่งเสริมกัญชงเชิงพาณิชย์ โดยอาศัย Dr. Dan Can Do’s Strategy Law
กฎดังกล่าวระบุว่า ควรเลือก 1 ปัจจัย จาก 100 ปัจจัย ที่ทำให้ได้ผลลัพธ์ถึงร้อยละ 51.2 ดังนั้นจะต้องทราบว่าตัวแปรสำคัญทางยุทธศาสตร์คืออะไร และอยู่ที่ไหน ภาครัฐควรสนับสนุน หรือทุ่มไปกับ segment ใด เช่น ควรศึกษาผลิตภัณฑ์ที่ประเทศไทยจะสามารถเป็นเจ้าตลาดได้ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มดีในตลาดโลก หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง เป็นต้น ทั้งนี้อาจไม่จำเป็นต้องทำวิจัยและพัฒนาเอง แต่เริ่มจากการสำรวจสิทธิบัตรที่มีอยู่ทั่วโลกและต่อยอดขึ้นไป
.
4. ส่งเสริมทั้งระบบ ให้เกิดเป็นระบบนิเวศ
การสร้างระบบนิเวศโดยทำให้เป็นคลัสเตอร์กัญชง-กัญชา หรือ Hemp Valley of Thailand ตั้งแต่วิจัยพัฒนาพันธุ์ พัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ เพาะพันธุ์ ปลูก นำไปใช้เชิงพาณิชย์ โดยมีพื้นที่เพาะปลูก มีมหาวิทยาลัยในการวิจัยพันธุ์ หรือมีธุรกิจ รวมอยู่ในที่เดียว เกิดเป็นเหมือนซิลิกอนวัลเลย์ในประเทศสหรัฐ
.
5. ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการ “อารยสนทนา”
การที่กัญชงและกัญชาเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็อาจสร้างโทษได้ หากนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือมีการจัดการที่ไม่ดี พืชทั้งสองจึงยังเป็นประเด็นถกเถียงของสังคม กระบวนเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ดีที่สุดในการใช้ประโยชน์จากพืชดังกล่าว จึงไม่ควรเป็นผลมาจากแรงกดดันทางการเมืองเท่านั้น แต่ควรเกิดจากกระบวนการ “อารยสนทนา” ซึ่งทำให้เกิดการพูดคุย ปรึกษาหารือ และถกแถลงด้วยเหตุผล เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ดีที่สุดต่อส่วนรวม
.
6. สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
การจัดตั้งกลุ่มองค์กรกัญชงนานาชาติ ที่ไทยจะสามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนได้ เช่น หากประเทศจีนได้ปลูกกัญชงที่ถูกกฎหมายเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ประเทศไทยอาจจะต้องร่วมมือกับประเทศเหล่านี้ในการกำหนดมาตรฐานกัญชงโลก โดยการร่วมมือกันวิจัยพัฒนาสายพันธุ์กัญชง และร่วมมือกันแปรรูปกัญชงเชิงพาณิชย์
.
ชาติพันธุ์ม้งมีความเชื่อที่สืบสานกันมาว่า เทพเจ้า หรือ เย่อโซ๊ะ (Yawm Saub) ผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์ และได้ประทานสิ่งต่าง ๆ ให้มนุษย์ ทั้งพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืช เช่น “หมั้ง” หรือ “ม่าง” หรือ กัญชง เป็นพืชที่ประทานมาให้ใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ใช้สอย ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ กัญชงเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมประเพณีของพวกม้ง นับตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ซึ่งก็ไม่ได้เกินเลยจากความเป็นจริง เพราะในปัจจุบันกัญชงกลายเป็นพืชที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมในหลายด้าน ดังนั้นเมื่อธรรมชาติได้ประทานสิ่งที่ดีมากมายมาให้เราทุกคนต้องรู้จักนำมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างชาติมากที่สุด