กรุงเทพฯ: น้ำจะท่วม…ต้องเตรียมตัวอย่างไร

แต่กรุงเทพฯ จะต้องเผชิญความท้าทายด้านปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อไม่นานมานี้ Climate Central องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐนิวเจอร์ซีย์ของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยผลการวิจัยฉบับใหม่ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Communications โดยระบุว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นนั้น จะทำให้หลายเมืองโดยเฉพาะเมืองใกล้พื้นที่ชายฝั่งในแถบอาเซียนและประเทศใกล้เคียง มีความเสี่ยงถูกน้ำทะเลท่วม

ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่อยู่กับคนในกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน ผมติดตามการแก้ไขปัญหานี้มาตลอดหลายสิบปี อีกทั้งเสนอแนะแนวทางต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่กระบวนการคิดของผู้นำ จนถึงแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติ แต่ดูเหมือนว่า เรายังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างหมดจด อย่างไรก็ดี ผมเห็นความตั้งใจและความพยายามจากหลายฝ่ายเช่นเดียวกัน

ด้วยการคำนวณใหม่ โดยได้อาศัยวิธีการที่แม่นยำมากขึ้นเนื่องจาก เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมก่อนหน้านี้ ไม่สามารถแยกความสูงของตึกอาคารกับต้นไม้จากความสูงของระดับพื้นดินได้ จึงอาศัยเทคโนโลยีใหม่และนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สามารถระบุระดับความสูงของพื้นดินได้ พบว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่ได้คาดคะเนไว้ในวิจัยก่อนหน้านี้ อยู่ในแง่ดีเกินไป 

ที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมชายฝั่งมีเพียง 80 ล้านคน แต่งานวิจัยล่าสุดกลับพบว่า ประชากรโลกกว่า 300 ล้านคนจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมืองในปี 2050 และหากการปล่อยคาร์บอนยังไม่ลดลง ตัวเลขอาจเพิ่มสูงขึ้นเป็น 630 ล้านคนในปี 2100 โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ คือ ชาวเอเชีย ได้แก่ จีน เวียดนาม บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และไทย กล่าวคือ เพิ่มขึ้นจากเดิม 54 ล้านคนเป็น 237 ล้านคน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งใกล้กรุงเทพฯ ที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมในปี 2050 มากกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ไว้เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

นอกจากปัจจัยด้านระดับน้ำทะเลแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ส่งผลให้กรุงเทพฯ อาจกลายเป็นเมืองน้ำท่วมในอนาคต เช่น การทรุดตัวของแผ่นดินที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเติบโตของประชากรในอนาคต หรือการสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งจากการกัดเซาะของทะเล เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอแนวทางสำคัญ เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ดังต่อไปนี้

ศึกษาและวิจัยการสร้างเขื่อน แนวกั้นน้ำอย่างครบถ้วนรอบคอบ เพื่อเตรียมการป้องกันน้ำท่วมแบบถาวร โดยทำการศึกษาอย่างครอบคลุม ทั้งการจัดสร้างแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเล เพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่ง ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และลดความรุนแรงของคลื่น รวมถึงการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนจากการระบายน้ำตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล เป็นการควบคุมการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล ซึ่งอาจจะทำได้ด้วยการสร้างเขื่อนกั้นอ่าวไทยบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้สามารถควบคุมระดับน้ำที่อยู่เหนือเขื่อนได้ นอกจากนี้ อาจศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบแนวเขื่อนหรือคันกั้นน้ำ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ทำเป็นถนนคนเดิน หรือทางจักรยานเลียบน้ำ เป็นต้น

สร้างทางด่วนน้ำ อันเป็นการเปลี่ยนแนวคิดการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ จากการป้องกันมิให้น้ำเข้าสู่กรุงเทพฯ ด้วยการสร้างแนวป้องกันน้ำเข้าสู่กรุงเทพฯ เป็นการปล่อยให้น้ำไหลผ่านกรุงเทพฯ แล้วระบายออกสู่ทะเลได้มากขึ้นและเร็วขึ้น โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดผังเมืองควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน โดยเฉพาะในจุดที่เป็นเส้นทางน้ำไหลและแอ่งรองรับน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการก่อสร้างหรือถมที่ปิดกั้นทางไหลน้ำ หรือกำหนดให้ก่อสร้างในรูปแบบพิเศษ เช่น หมู่บ้านที่ขวางแนวทางไหลของน้ำผิวดิน อาจออกแบบบ้านให้น้ำไหลผ่านใต้บ้านได้ หรือกำหนดให้โครงการหมู่บ้านจัดสรรต้องจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม เช่น กำหนดให้มีพื้นที่รองรับน้ำและเส้นทางระบายน้ำท่วมของหมู่บ้าน

เพิ่มขนาดท่อระบายน้ำ ขยายขนาดคูคลอง ฟื้นฟูแนวคูคลองเก่าที่ไม่ได้ใช้งาน หรือขุดคูคลองเพิ่มเติม รวมถึงติดตั้งเครื่องเร่งความเร็วน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ระบบท่อระบายน้ำ ระบบคูคลอง และอุโมงค์ยักษ์ที่มีอยู่ อันเป็นโครงข่ายที่ค่อนข้างกระจายตัวทั่วถึงทำงานได้เต็มสมรรถนะยิ่งขึ้น

จัดตั้งวอร์รูม (War room) เพื่อใช้เป็นศูนย์บัญชาการในการติดตาม ตรวจสอบและสั่งการเกี่ยวกับภัยพิบัติและเรื่องอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ฯลฯ รวมถึงอาจมีการติดตั้งระบบตรวจสอบระดับน้ำเพิ่มเติม ในแม่น้ำ ในคลอง พื้นที่รองรับน้ำ และพื้นที่เสี่ยงภัย โดยข้อมูลเหล่านี้ จะถูกส่งเข้ามายังศูนย์ฯ โดยอัตโนมัติ และนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อจัดทำแบบจำลองวิเคราะห์และพยากรณ์ภาวะน้ำท่วม

นวัตกรรมบ้านหนีน้ำ โดยออกแบบบ้านและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการสร้างบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม นำไปใช้ในการก่อสร้าง เช่น การออกแบบอุปกรณ์หรือเฟอร์นิเจอร์ป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วม การปรับปรุงบ้านของคนที่อยู่ริมแม่น้ำ หรืออยู่นอกคันกั้นน้ำ ให้เป็นบ้านลอยน้ำ เป็นต้น

หากเราขาดการเตรียมการป้องกันปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ รัฐบาลอาจจะประสบปัญหาในการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อนำไปชดเชยความเสียหาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่องบประมาณในด้านอื่น ๆ หรือในอีกแง่หนึ่ง รัฐอาจจะไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการช่วยเหลือประชาชนก็เป็นได้ ซึ่งทำให้ประชาชนต้องประสบกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงต้องตระหนักและไม่ลืมวางแผนอย่างเป็นระบบในเรื่องนี้ด้วย 

แม้การวางแผนและแนวทางเพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ดีและสมควรทำยิ่ง แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การสร้างและปลูกฝังจิตสำนึกให้กับประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ การเห็นคุณค่าของธรรมชาติ เพื่อเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนในระยะยาว ซึ่งเป็นแนวทางเชิงรุกที่ควรทำควบคู่ไปกับการเตรียมการตั้งรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

เรื่องโลกร้อน น้ำท่วม ต้องเป็น “เรื่องร้อน” ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาพูดคุยและเตรียมรับมือ เพื่อกรุงเทพฯ ในปี 2050 จะเป็นเมืองน่าอยู่ โดยที่ชาวกรุงเทพฯ ไม่ต้องกลัวน้ำท่วม

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *