‘Wellness Economy’ กับโอกาสไทย พลิกโฉมประเทศด้วย ‘เศรษฐกิจสุขสภาพ’

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และประธานสถาบันการสร้างชาติ โลกหลังการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศทั่วโลก โดยในปี 2593 ประชากรโลกกว่า 21.5% หรือประมาณ 2 พันล้านคน จะเป็นคนสูงอายุนั้น

ทำให้กระบวนทัศน์ด้านสุขภาพของโลกกำลังเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นการรักษาโรคและความเจ็บป่วย ไปสู่การป้องกันการเป็นโรคและการส่งเสริมการดูแลสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมและบูรณาการ ผู้คนจะให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น และทำให้ความต้องการสินค้าและบริการด้านสุขสภาพเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) จึงเป็นเศรษฐกิจที่เป็นดาวรุ่ง มีสัดส่วนถึง 5.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี 2565 ตลาดสุขภาพและสุขสภาพของโลก (global health & wellness market) มีมูลค่าประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์ และมีอัตราการขยายตัว 5-6% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2564-2573 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2 – 3%

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่าเมื่อเศรษฐกิจ Wellness เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ประเทศไทยจะต้องไขว่คว้าโอกาสนี้ไว้ให้ได้ เนื่องจากเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็น “เมืองหลวงสุขสภาพโลก” หากได้รับการส่งเสริม ผลักดันอย่างถูกต้อง

ประเทศไทยมีศักยภาพสูงเป็น wellness Hub

ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางด้านบริการทางการแพทย์ในภูมิภาค (Regional Medical Hub) ที่ได้รับการยอมรับอยู่แล้ว เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามารับบริการทางการแพทย์และศัลยกรรมอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงและคนไทยมีใจแห่งการบริการ เทคโนโลยีในการให้บริการที่ทันสมัย โรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานสากล โดยมีจำนวนโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน JCI มากเป็นอันดับ 4 ของโลกในปี พ.ศ.2562 และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสมเหตุสมผลและต่ำกว่าการบริการในประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (John Hopkins University) จัดอันดับโดยใช้ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก โดยประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับ 5 ของโลกและอันดับ 1 ของเอเชียในปี พ.ศ.2564

ประเทศไทยเป็นจุดหมายที่คนต่างชาติต้องการเข้ามารับบริการด้านสุขสภาพ โดย Wellness Tourism Initiative 2020 ได้ระบุว่า ประเทศไทยได้รับการโหวตให้เป็นประเทศที่ผู้คนอยากมาท่องเที่ยวเชิงสุขสภาพเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ขณะที่นิตยสาร International Living ได้จัดทำ 2022 Global Retirement Index โดยจัดให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย ในแง่ประเทศที่คนอยากมาใช้ชีวิตยามเกษียณอายุมากที่สุดในโลก

“เศรษฐกิจสุขภาพสอดคล้องกับจุดแกร่งของประเทศ ประเทศไทยมีทรัพยากรและปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทยที่มีชื่อเสียงเป็นรู้จักทั่วโลก วัตถุดิบอาหารมีความหลากหลายและมีคุณภาพ และมีมาตรฐานในการผลิตอาหารส่งออกที่ปลอดภัย

ประเทศไทยเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวระดับโลก เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ศิลปะและวัฒนธรรมที่น่าทึ่ง และคนไทยที่มีอัธยาศัยดีและมีใจบริการ ประเทศไทยยังมีชื่อเสียงด้านการนวดแผนไทย มวยไทย รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยกว่า 300 ชนิดในท้องตลาด ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากต่อยอดให้ดีจะสามารถเป็นเมืองหลวงศักยภาพระดับโลกได้”

ดัน ‘บลูโซน’ แห่งที่ 6 ของโลกในประเทศไทย

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ ได้เขียนในหนังสือเรื่อง “สุวรรณภูมิแห่งสุขภาพ สุขสถานะของศตวรรษนิกชน”เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจสุขภาพว่า ปัจจุบันดัชนีชี้วัดการเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านสุขภาพคือการมีคนอายุยืนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคนอายุ 90 ปีขึ้นไปซึ่งมีการศึกษาวิจัยและเรียกพื้นที่นี้ว่า “บลูโซน” ปัจจุบันมีอยู่ 5 พื้นที่ทั่วโลกคือ 1.เกาะซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี 2.เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น 3.ชุมชนเซเว่นเดย์ เมืองโลมาลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ 4.เกาะคิอาเรีย ประเทศกรีซ และ 5.คาบสมุทรนิโคยา ประเทศคอสตราริกา ซี่งหากพิจารณาจากเงื่อนไขของประชาชนกรและลักษณะทางพื้นที่ของทั้ง 5 พื้นที่แล้วพบว่าประเทศไทยก็มีพื้นที่แห่งโอกาสที่จะส่งเสริมให้เป็นบลูโซนแห่งที่ 6 ของโลก ซึ่งได้มีการนำเอานักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกลงมาเก็บข้อมูลและทำงานวิจัย อย่างต่อเนื่องพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพในประเทศไทยที่จะเป็นพื้นที่บลูโซนคือพื้นที่ อ.หัวไทรและพื้นที่ใกล้เคียง ใน จ.นครศรีธรรมราช

โดยมีองค์ประกอบสนับสนุนคล้ายกับพื้นที่บลูโซนทั้ง 5 แห่งของโลก ได้แก่ การอยู่บริเวณคาบสมุทรเป็นพื้นที่ราบติดชายทะเลและภูเขา พื้นที่มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีวัตถุดิบที่ทำอาหารได้มากมายทั้งอาหารทะเล ข้าว พืชผักที่มีการปลูกในพื้นที่หลากหลาย โดยวัฒนธรรมการกินอาหารมีการกินผักพื้นบ้าน วัตถุดิบสดจากทะเล และรับประทานแกงสมุนไพรอยู่บ่อยๆ

ขณะที่สภาพอากาศในพื้นที่สบายมีลมทะเลตลอดวันทำให้ปัญหาในการเผชิญกับฝุ่น P.M.2.5 มีน้อย และประการสุดท้ายคือการเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ช่วยให้ประชาชนมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีอารมณ์ที่มั่นคงผ่อนคลายทำให้อายุคนในพื้นที่ยืนนาน เช่นเดียว การมีสังคมที่ได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอๆ ในร้านน้ำชา สภากาแฟ ทำให้ยังคงมีความหมายในการมีชีวิตอยู่เสมอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *