ผมได้รับเชิญไปบรรยายในการประชุมพลังงาน ทรัพยากร และการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งจัดโดย BOAO Forum for Asia และ Asian Strategy and Leadership Institute ที่ประเทศมาเลเซีย หัวข้อหลักของการประชุมในปีนี้ คือ “One Belt and One Road” & Asian Energy/Resources Cooperation”
“One Belt and One Road” (OBOR) เป็นความริเริ่มของรัฐบาลจีน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมในอดีต ซึ่งเชื่อมโยงทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเส้นทางสายไหมประกอบด้วย 2 เส้นทาง คือ เส้นทางทะเล (the Maritime silk road) และเส้นทางบก (the Silk Road Economic Belt)
รัฐบาลปักกิ่งได้ขับเคลื่อนความริเริ่มนี้ผ่าน 3 แผนงาน คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างประเทศ การจัดสรรแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย และกองทุนเส้นทางสายไหม และการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความริเริ่ม OBOR ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจีน ในการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ ไปสู่ภาคใต้และภาคตะวันตกของจีน ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการเข้าถึงทรัพยากรผ่านการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ
ภูมิภาคอาเซียนเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงสำหรับจีน ทั้งในแง่การเป็นแหล่งพลังงานและทรัพยากร ตลาด ฐานการผลิต และเส้นทางออกสู่ทะเล จึงไม่น่าแปลกใจที่จีนพยายามเชื้อเชิญให้อาเซียนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ OBOR โดยริเริ่มความช่วยเหลือและความร่วมมือด้านต่างๆ กับอาเซียน โอกาสสำหรับอาเซียน
ในการประชุมผู้นำจีน-อาเซียน เมื่อปี 2556 ที่ประเทศบรูไน นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ได้กล่าวถึงโครงการนี้เป็นครั้งแรก และกำหนดเป้าหมายในการขยายการค้าระหว่างกันเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2563 จากเดิม 4.436 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2556 และจะเพิ่มการลงทุนในอาเซียนจาก 5.74 พันล้านดอลลาร์ เป็น 1 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว
การผลักดันให้เป้าหมายเหล่านี้ประสบความสำเร็จ รัฐบาลจีนได้เสนอให้ยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เพื่อเปิดเสรีการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น รัฐบาลจีนยังส่งเสริมให้วิสาหกิจของจีนออกไปลงทุนต่างประเทศ และได้จัดตั้งเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าในต่างประเทศเพื่อรองรับการลงทุนจากจีน
อีกวัตถุประสงค์หนึ่งของความริเริ่ม OBOR คือ การเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยกระชับความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างกัน อาทิ การแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและแลกเปลี่ยนนักศึกษา ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (ปัจจุบันจีนและไทยกำลังพิจารณายกเลิกวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวระหว่างกัน) และการร่วมทำวิจัยและจัดประชุมวิชาการ
ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน จะสร้างโอกาสในการพัฒนาด้านการศึกษา และการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งทำให้การท่องเที่ยวระหว่างกันขยายตัวมากขึ้น ความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม จะทำให้เกิดการขยายตัวของการท่องเที่ยวรูปแบบอื่นๆ ด้วยเช่น การจัดประชุมสัมมนา การศึกษาและอบรมในต่างประเทศ การเดินทางไปศึกษาดูงาน เป็นต้น
ความริเริ่ม OBOR ยังเป็นตัวเร่งให้เป้าหมายการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) สำเร็จ เพราะแผนของ OBOR สอดคล้องกับแผนแม่บทการเชื่อมโยงของอาเซียน (Master Plan of ASEAN Connectivity) และแหล่งเงินทุนที่จีนจัดตั้งขึ้น จะทำให้อาเซียนมีทางเลือกมากขึ้น ในการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศและเชื่อมโยงระหว่างประเทศ
การรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมทางทะเล จะเป็นโอกาสสำหรับอาเซียนในการแก้ปัญหาการเดินเรือในภูมิภาคอาเซียน เพราะปัจจุบันเส้นทางการขนส่งทางทะเลในอาเซียนมีปัญหาหลายด้าน เช่น ภัยโจรสลัด ความคับคั่งของการเดินเรือในช่องแคบมะละกา การขาดประสิทธิภาพในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเดินเรือ
การแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจีนได้เข้าไปพัฒนาท่าเรือในหลายประเทศในอาเซียน และเอเชียใต้ และจัดตั้งกองทุนความร่วมมือทางทะเลระหว่างจีนและอาเซียน (China-ASEAN Maritime Cooperation Fund) เพื่อร่วมมือด้านการวิจัยทางทะเลและปกป้องสิ่งแวดล้อม การเดินเรือเพื่อความปลอดภัย การเชื่อมโยงเส้นทางเดินเรือ การค้นหาและการให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนการต่อสู้กับภัยคุกคามข้ามชาติ
อุปสรรคสำหรับอาเซียน
แม้ความริเริ่ม OBOR ตั้งอยู่บนฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ แต่การผลักดันความร่วมมือเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอุปสรรคเสียทีเดียว เพราะในอีกแง่หนึ่ง ยุทธศาสตร์นี้ของจีน อาจถูกมองว่าเป็นความพยายามแผ่ขยายอิทธิพลของจีน ทำให้หลายประเทศเกิดความวิตกกังวลและระมัดระวังในการร่วมมือกับจีน
การร่วมมือกับจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความคุ้มค่าในการลงทุนและการครอบงำโดยจีน เนื่องจากโครงการที่ริเริ่มและได้รับการสนับสนุนจากจีน อาจไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนเจ้าของประเทศ มากเท่ากับจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้กู้ หรืออาจต้องแลกกับผลประโยชน์อื่น ที่นำมาซึ่งการครอบงำหรือผูกขาดโดยวิสาหกิจของจีน
ดังตัวอย่างการลงทุนของจีน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเมียนมาร์ ที่กำหนดเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนเมียนมาร์แทบไม่ได้ประโยชน์ เช่น การใช้แรงงานจีน การใช้วัสดุอุปกรณ์จากจีน และการเอื้อประโยชน์ต่อวิสาหกิจของจีน เป็นต้น ดังนั้น ทันทีที่ตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรต่อเมียนมาร์ รัฐบาลเมียนมาร์จึงดูเหมือนถอยห่างจากจีนมากขึ้น
หรือกรณีโครงการเส้นทางรถไฟในลาวที่ได้รับเงินกู้จากจีน โดยใช้ทรัพย์สินของโครงการและรายได้จากเหมืองทองคำในประเทศลาวเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และโครงการนี้ยังบริหารจัดการโดยบริษัทจีน ซึ่งหมายความว่า จีนเป็นผู้บริหารแต่ไม่ต้องรับความเสี่ยงถ้าเกิดความเสียหายจาการบริหารผิดพลาด
การแข่งขันของมหาอำนาจเก่าและใหม่ ที่ต้องการเข้ามามีอิทธิพลในอาเซียน จะทำให้ประเทศในอาเซียนเกิดความพะว้าพะวังที่จะร่วมมือกับจีน เพราะหมายความว่าอาจต้องเผชิญแรงกดดันจากประเทศมหาอำนาจเดิมมากขึ้น สังเกตได้ชัดจากแรงกดดันจากชาติตะวันตก เมื่อไทยมีท่าทีใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น
อุปสรรคสำคัญคือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะปัญหาในทะเลจีนใต้ อาจเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือระหว่างจีนกับบางประเทศในอาเซียน และอาจทำให้ประเทศที่ขัดแย้งกับจีน หันไปพึ่งพาประเทศมหาอำนาจอื่นเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับจีน
ความริเริ่ม OBOR นำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน และช่วยสนับสนุนเป้าหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยอาศัยแหล่งเงินกู้ที่จีนจัดตั้งขึ้น เป็นสิ่งจูงใจให้ประเทศต่างๆ ปรารถนาที่จะเข้ามาร่วมมือกับจีน
อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ของจีนในการสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ตามเส้นทางสายไหม เป็นความร่วมมือบนความแตกต่างของอำนาจต่อรอง ความร่วมมือโดยมีอำนาจต่อรองต่ำกว่าหรืออยู่ภายใต้แรงกดดัน อาจทำให้โครงการความร่วมมือต่างๆ ไม่ได้ก่อประโยชน์อย่างแท้จริงกับประเทศที่ร่วมมือกับจีน
แน่นอนว่า ความริเริ่มของรัฐบาลจีนเป็นโอกาสที่อาเซียนและประเทศไทยต้องฉวยเอาไว้ แต่เราต้องพยายามสร้างอำนาจต่อรอง ทั้งโดยการร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเจรจากับจีนเกี่ยวกับแผนงานและโครงการภายใต้ OBOR และโดยการเปิดให้มีทางเลือกของความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจอื่นเข้ามาแข่งขัน หรือเปรียบเทียบกับความริเริ่มของจีน เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เป็นต้น
ประการสำคัญ เราต้องไม่ละเลยการศึกษาและพิจารณาโครงการต่างๆ ด้วยความรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.chinausfocus.com/wp-content/uploads/2015/03/china-silk-road.jpg