D-Commerce ย่อมาจากคำว่า Decentralized Commerce เป็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) หรือการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการบนอินเตอร์เน็ตรูปแบบหนึ่งในลักษณะ B2B (Business-to-Business) หรือ การซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างธุรกิจและธุรกิจ
ลักษณะของ D-Commerce เป็นรูปแบบที่ส่งเสริมการรวมตัวของผู้ซื้อรายย่อย เพื่อช่วยให้ผู้บริโภค ผู้ผลิตรายย่อย ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก สามารถรวมกันซื้อสินค้าและบริการหรือวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์รายหนึ่งหรือหลายรายได้โดยตรงและในเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่แตกต่างจากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบเดิม ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะรวมศูนย์ (centralized) กล่าวคือ ผู้ขายจะต้องเปิดร้านในแพลตฟอร์ม เช่น amazon, alibaba เป็นต้น และผู้ซื้อเข้าไปซื้อสินค้าจากเว็บเหล่านี้
ปัจจุบันบริษัทชื่อ BuyCo สร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มในการจัดซื้อ (buying cooperatives หรือ procurement coops) สามารถเชื่อมโยงซัพพลายเออร์กับผู้ซื้ออย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ พร้อมกับทำให้ค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด
แพลตฟอร์มนี้ทำให้ผู้ซื้อสามารถรวมกลุ่มกันซื้อได้ในเวลาสั้นมาก และตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่การสั่งซื้อ การบริหารจัดการซัพพลายเออร์ การตรวจสอบ การจัดเก็บและชำระเงินนั้นเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ผ่านระบบการทำสัญญาอัจฉริยะ (smart contracts) ที่สร้างบนเทคโนโลยี Ethereum Blockchain1
ปัจเจกบุคคลหรือธุรกิจที่ซื้อผ่านระบบของ BuyCo สามารถทำการซื้อขายได้ถึง 25 สกุลเงิน โดย BuyCo ได้พัฒนาระบบให้สามารถแปลงสกุลเงินโดยยึดอัตราแปลกเปลี่ยนของตลาด และชำระเงินให้กับผู้ขายทั่วโลกได้ทันที ไม่ว่าจะมูลค่าเท่าใดก็ตาม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
แท้จริงแล้ว การรวมกลุ่มกันซื้อเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด โดยใช้การซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตเคยมีแนวคิดทางธุรกิจในลักษณะนี้ เช่น Groupon ซึ่งเป็นการรวมกันของผู้บริโภค เพื่อซื้อสินค้าและบริการในราคาถูก เป็นการค้าอิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะ B2C (Business-to-Customer หรือ การซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างธุรกิจและผู้บริโภค) (ปัจจุบัน Groupon ในไทยปิดบริการไปแล้ว และในระดับโลกความนิยมน้อยลงไปมากเช่นกัน)
ถึงแม้ว่า D-Commerce ของ BuyCo จะอาศัยแนวคิดเดียวกัน คือ การรวมกลุ่มกันซื้อ แต่กลุ่มเป้าหมาย วัตถุประสงค์ เทคโนโลยีที่ใช้ และ โมเดลทางธุรกิจนั้นแตกต่างจากที่เคยมีมาในอดีต
ผมคิดว่าแนวคิดการร่วมกันซื้อและระบบ D-Commerce นี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อธุรกิจขนาดเล็ก เพราะ ในอดีตที่โลกไม่มีเทคโนโลยีนี้ ผู้ซื้อรายย่อยมักจะต่างคนต่างซื้อวัตถุดิบ เนื่องจาก รวมตัวกันได้ยาก การจะรวมกลุ่มกันเพื่อจัดซื้อต้องใช้เวลามากและใช้กำลังคนจำนวนมากในการจัดตั้งและดำเนินการ ทำให้ไม่สามารถซื้อวัตถุดิบจำนวนมาก ให้ได้ราคาถูก จึงไม่เกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale)
ธุรกิจขนาดเล็กจึงเสียเปรียบและไม่สามารถแข่งขันได้กับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ แต่ D-Commerce ที่ถูกพัฒนาขึ้นทำให้ธุรกิจรายเล็กสามารถซื้อวัตถุดิบได้ในราคาถูก (price) ในเงื่อนไข (term) และการบริการ (service) ที่ดี เพราะการซื้อร่วมกันทำให้ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองและเกิดการประหยัดต่อขนาด เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำให้ระบบเศรษฐกิจในภาพรวมได้ประโยชน์จากการทำให้เกิดประสิทธิภาพในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและลดกำแพงในการเข้าสู่ตลาด
ประเทศไทยมีธุรกิจรายย่อยจำนวนมาก เห็นได้จากในปี พ.ศ.2557 จำนวนผู้ประกอบการขนาดเล็ก (Small) มีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านราย2 ร้านค้าปลีกขนาดเล็กหรือโชว์ห่วย ประมาณ 250,000 ราย3 สหกรณ์ที่ยังคงดำเนินการ จำนวนประมาณ 6,800 แห่ง4 ธุรกิจเหล่านี้มีขนาดเล็ก และธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการไป เนื่องจาก ไม่สามารถแข่งขันได้กับธุรกิจขนาดใหญ่ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยอย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้นผมจึงคิดว่าภาครัฐควรส่งเสริมสนับสนุนการนำระบบ D-Commerce มาใช้ในประเทศไทย ส่งเสริมเอกชนไทยในการพัฒนาระบบขึ้นเอง หรือ เจรจากับเจ้าของเทคโนโลยีในการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทย เพื่อช่วยให้ธุรกิจรายย่อยของไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นและยืนอยู่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นต่อไปในอนาคต
รูปที่ 1 บริษัท BuyCo ผู้พัฒนา d-commerce
ที่มา: http://www.the-blockchain.com/2016/02/22/dcommerce-startup-buyco-io-pioneers-collective-purchasing-through-a-blockchain/
ภาพที่ 2 ตัวอย่างจากหน้าเว็บไซต์ของ Groupon ในขณะที่ยังทำธุรกิจในไทย
ที่มา: http://newdavich.in.th/wp-content/uploads/2010/12/mygroupon_blog_newdavich-640×353.jpg
ภาพที่ 3 ร้านค้าย่อยขอนแก่นรวมพล 13 ตุลาฯ ต้านอบต.ศิลาชงผังเมืองฯเปิดทาง “คาร์ฟูร์”
ที่มา: http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?newsid=9520000120494
1Blockchain คือ ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุมที่เก็บสถิติการทำธุรกรรม โดยตัดตัวกลาง เช่น สถาบันการเงินออกไป (เจษฎา สุขทิศ, 11 มี.ค.2559)
2สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. (2558). บทสรุปผู้บริหาร. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2559, จาก http://122.155.197.183/sme2015/Report/Summary
3มาดูกันว่า โค้กทำอะไรกับร้านโชว์ห่วย 2.5 แสนราย ในไทย. Positioningmag.com. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2559, จาก
http://positioningmag.com/58365
4กรมส่งเสริมสหกรณ์. (2559). จํานวนสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ในประเทศไทย ณ 1 มกราคม 2559. สืบค้น 25 พฤษภาคม 2559, จาก http://www.cpd.go.th/ewt_dl_link.php?nid=3244
ที่มา: Mix Magazine
ISSUE 116 July 2016
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://1.bp.blogspot.com/-EfBzo7Uk1Uo/VPYT7wcPKdI/AAAAAAAAABk/Rvon4jLk0Dk/s1600/Los-6-mejores-negocios-rentables1.jpg