โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ฮาร์วาร์ด
ประธาน สถาบันการสร้างชาติ
การวิจัยทางการแพทย์พบว่า ถ้าคนเราทำสิ่งใดซ้ำ ๆ กัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 45 วัน สิ่งนั้นจะกลายเป็นนิสัยใหม่ได้ ในทำนองเดียวกัน การอยู่ในสภาพแวดล้อมของการระบาดของ COVID-19 ซึ่งผมคาดการณ์ว่า สถานการณ์อาจอยู่ยาวนานถึง 2 ปี
หรือจนกว่าจะคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จ สามารถผลิตและนำมาใช้ได้จริง และกระจายไปได้ทั่วโลก น่าจะนานพอที่จะสร้างสิ่งใหม่ในสังคมไทยและสังคมโลกได้
ในช่วงเวลาที่ยาวนานของสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ จะทำให้มนุษยชาติตระหนักว่า เรามีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญภัยจากโรคอุบัติใหม่เป็นระยะ ๆ ตลอดไป จนกลายเป็นความปกติใหม่ (new normal) ที่อยู่กับโลกมนุษย์ ตามโมเดล PANDEMIC New Normal ที่ผมได้ทำนายไว้
ความปกติใหม่ของโรคระบาด จะทำให้ทุกคนต้องเตรียมใจ เตรียมความพร้อม เกิดเป็นพฤติกรรม ความสัมพันธ์ วิถีการดำเนินชีวิต และการทำงานในรูปแบบใหม่ เพื่อให้สามารถปรับตัว ลดความเสี่ยงและเอาตัวรอดในภาวะวิกฤตได้ และจะส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว จนเกิดเป็นความปกติใหม่ของธุรกิจในมิติต่าง ๆ อาทิ
รูปแบบธุรกิจใหม่: ธุรกิจออนไลน์
มาตรการปิดเมืองทำให้บริษัทและห้างร้านต้องปิดตัวลงชั่วคราว ในขณะที่ผู้คนหันมาซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นจนกลายเป็นความคุ้นเคย องค์กรธุรกิจจึงต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและสอดรับกับพฤติกรรมใหม่ โดยการสร้างระบบและช่องทางการติดต่อสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์ การให้บริการ และการทำธุรกรรมออนไลน์กับลูกค้า รวมทั้งการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลกับคนและระบบต่าง ๆ ในองค์กร ทั้งการตลาด การขาย การจัดซื้อ การเงินและบัญชี การผลิต และโลจิสติกส์
รูปแบบการทำงานใหม่: การทำงานทางไกล
การรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้าน ทำให้แนวโน้มการทำงานจากบ้านและทำงานทางไกลกลายเป็นความปกติใหม่ องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องจัดเตรียมเทคโนโลยี และพัฒนาระบบบริหาร ระบบตรวจสอบ และระบบสนับสนุนการทำงานทางไกล ที่จะช่วยให้การทำงานจากบ้านมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาเทคนิค วิธีการ และทักษะแบบใหม่ในการทำงานทางไกล เช่น ทำอย่างไรให้การประชุมทางไกลมีคุณภาพเทียบเท่ากับการประชุมแบบหน้าต่อหน้า เป็นต้น
การจ้างงานแบบใหม่: การจ้างงานภายนอก
ความจำเป็นในการลดต้นทุนและรักษาผลิตภาพขององค์กร ทำให้รูปแบบการจ้างงานขององค์กรธุรกิจ จะเป็นลักษณะการจ้างานภายนอกระดับบุคคลมากขึ้น โดยธุรกิจอาจเปลี่ยนสถานะพนักงานที่ถูกขอให้ทำงานที่บ้านเป็นผู้ทำงานภายนอก (outsource) หรือแสวงหาคนทำงานอิสระจากแพลทฟอร์มบริการจ้างงานฟรีแลนซ์ออนไลน์ การจ้างงานจะมีลักษณะเป็นโครงการที่มีกำหนดเวลาชัดเจน หรือการจ้างงานเป็นชิ้นงาน ส่วนการทำงานแบบทีมจะต้องมีการจัดระบบการติดต่อประสานงานและพื้นที่จัดการประชุม เพื่อให้การทำงานเป็นทีมราบรื่นและมีคุณภาพ ส่วนการจ่ายค่าจ้างจะเป็นการจ่ายตามผลผลิต ชิ้นงาน และโครงการ
ปัจจัยการผลิตใหม่: หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์
องค์กรธุรกิจต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการปิดสำนักงานหรือหยุดการผลิต หากมีพนักงานหรือผู้มาติดต่อสำนักงานติดเชื้อ COVID-19 ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่ธุรกิจจะลดการปฏิสัมพันธ์แบบหน้าต่อหน้า และลดจำนวนพนักงานลง และแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานของธุรกิจในภาวะการแพร่ระบาดของโรค
มาตรฐานใหม่: มาตรฐานสุขอนามัย
องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องพัฒนามาตรฐานด้านสุขอนามัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า มาตรฐานดังกล่าวอาจรวมถึง มาตรฐานสุขอนามัยของตัวสินค้าและบริการที่ลูกค้าจะได้รับโดยตรง มาตรฐานสุขอนามันของกระบวนการผลิต มาตรฐานสุขอนามัยของบรรจุภัณฑ์ มาตรฐานเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ มาตรฐานสุขอนามัยในการเก็บรักษาและการจัดส่งสินค้า เป็นต้น ทั้งนี้ในอนาคต มีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจทั่วไปอาจสร้างจุดขาย โดยนำมาตรฐานด้านสุขอนามัย เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับธุรกิจผลิตอาหาร ยา หรือโรงพยาบาลมาใช้
สำนักงานแบบใหม่: สำนักงานสะอาด
สำนักงานขององค์กรธุรกิจอาจจำเป็นต้องปรับปรุงด้านความสะอาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มาติดต่อสำนักงาน และพนักงานที่ยังจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสำนักงาน อาทิ การออกแบบสำนักงานและอุปกรณ์สำนักงานที่ทำความสะอาดได้ง่าย การจัดที่นั่งพนักงานให้มีระยะห่างมากขึ้น การออกแบบระบบปรับอากาศที่ลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค การจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันโรคสำหรับพนักงานและผู้มาติดต่องาน การกำหนดแนวปฏิบัติในการทำความสะอาดสำนักงานและอุปกรณ์ และแนวปฏิบัติของพนักงานและผู้มาติดต่องาน เป็นต้น
การจัดการห่วงโซ่อุปทานใหม่: สร้างแหล่งทางเลือก
มาตรการปิดเมืองและจำกัดการเดินทางของประเทศต่าง ๆ ส่งผลทำให้เกิดการขาดตอนของห่วงโซ่อุปทานโลก ธุรกิจจึงไม่สามารถผลิตและส่งมอบสินค้าและบริการให้กับลูกค้าได้ ตามเวลา ปริมาณ คุณภาพ และต้นทุนที่กำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้ องค์กรธุรกิจจึงมีแนวโน้มจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบใหม่ โดยกระจายการพึ่งพาซัพพลายเออร์จากหลายแหล่งมากขึ้น และเน้นการซื้อปัจจัยนำเข้า (input) จากภายในประเทศมากขึ้น
การจัดองค์กรแบบใหม่: เล็กและยืดหยุ่น
ความเสี่ยงของโรคระบาดที่กลายเป็นความปกติใหม่ ทำให้องค์กรธุรกิจต้องปรับการจัดองค์กรใหม่ โดยการปรับขนาดองค์กรให้เล็กลง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจัดการ การวางโครงสร้างและระบบต่าง ๆ ให้ยืดหยุ่น และพร้อมปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว บุคลากรมีความสามารถหลากหลายสามารถเปลี่ยนไปทำงานอื่นได้ตามสถานการณ์ ซึ่งแนวโน้มนี้สอดคล้องกับแนวคิดในหนังสือ “SMEs หรือ SLEs?: แนวโน้มธุรกิจไทยในศตวรรษหน้า” ที่ผมเขียนเมื่อปี 1999 ซึ่งคาดการณ์ว่า ธุรกิจที่จะอยู่รอดในอนาคตจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือไม่ก็ขนาดเล็ก
การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นความไม่ปกติ ที่จะกลายเป็นความปกติใหม่ในอนาคต สถานการณ์นี้จึงเป็นเสมือนตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจเพื่อเข้าสู่บริบทโลกในยุคใหม่ ธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนองค์กรให้เข้าสู่ความปกติใหม่ของภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ ในโลกที่ไม่มีอะไรที่มั่นคงและแน่นอน