CCS นวัตกรรมศาสตร์สร้างชาติ : กรณีฮาร์วาร์ด

ผมเคยนำเสนอความคิด สถาบันการสร้างชาติ (Nation-Building Institute) ที่ผมเป็นประธานอยู่ ณ ปัจจุบัน (ปัจจุบันกำลังเปิดการเรียนการสอนมาถึงรุ่นที่ 4) เอาไว้ในหลายเวที โดยสถาบันการสร้างชาติดังกล่าวนี้มีเป้าหมายต้องการให้เป็นแหล่งสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางด้านการสร้างชาติที่เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละบุคคล สนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไปในอนาคต

สถาบันการสร้างชาติที่ผมกล่าวถึงนี้เปิดสอนหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ หรือ นสช. โดยให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมทำโครงการที่ผมเรียกว่า Cap-Corner Stone หรือ CCS อันเป็นโครงการขนาดเล็กแต่มีพลังขับเคลื่อนประเทศ เป็นโครงการวิจัยไหลสู่นวัตกรรม 3I ที่ผมเรียกว่า Dr. Dan Can Do 3I Innovation อันประกอบด้วย

  • นวัตกรรมความคิด (Ideation Innovation)
  • นวัตกรรมสิ่งปฏิบัติ (Implementation Innovation) และ
  • นวัตกรรมผลกระทบ (Impact Innovation)[1]

อันส่งผลมีส่วนพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ความเป็นอารยะหรือประเทศที่พัฒนาแล้วบางระดับ ในที่นี้อาจเป็นระดับจุลภาคหรือมหภาคอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองระดับร่วมกัน ด้วยว่าผมต้องการให้โครงการ Cap-Corner Stone ดังกล่าวนี้เป็นนวัตกรรมศาสตร์สร้างชาติที่เชื่อมต่อทฤษฏีและการปฏิบัติอย่างไร้รอยต่อหรือไร้รอยสะดุดมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

การจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดสะท้อนความคิดลักษณะดังกล่าวเช่นกัน ที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดมีแนวทางส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษามีส่วนร่วมทำโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสังคมตามศักยภาพของตน โดยโครงการดังกล่าวนี้มีส่วนนำการพัฒนามาสู่สังคมระดับจุลภาคและมหภาค เช่น วิชาห้องทดลองสิ่งมีชีวิตฮาร์วาร์ด (Harvard living lab course) สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา อันมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่อนาคตที่ปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน (carbon-free future)

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของวิชาห้องทดลองสิ่งมีชีวิตดังกล่าวนี้คือ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากสาขาวิชาต่าง ๆ หลากหลายรวมกลุ่มทำงานร่วมกันแบบสหวิทยาการ ทำวิจัยเชิงปฏิบัติจริง (hands-on research) ออกแบบโครงการที่มีความเหมาะสม ใช้ได้จริง และสามารถวัดได้ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยที่สุด 50,000 เมตริกตันในแต่ละปี โดยแต่ละทีมจะถูกร้องขอให้ใช้ต้นทุนในการดำเนินโครงการน้อยที่สุด ขณะที่โครงการต้องสร้างให้เกิดคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ มากที่สุด อีกทั้งต้องนำเสนอผลงานสุดท้ายของกลุ่มตนเองให้แก่คณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อตั้งคำถามและให้ข้อมูลสะท้อนกลับตามข้อมูลที่มีระบุไว้ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย[2]

วิชาห้องทดลองสิ่งมีชีวิตของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนับว่ามีส่วนสำคัญต่อการช่วยพัฒนานักศึกษาให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับโลกยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต รวมถึงมีส่วนร่วมแสวงหาทางออกในการพัฒนาสังคมการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ให้ดีมากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง มหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรการสร้างคนที่สำคัญควรเป็นผู้นำขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้

ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้นานมาแล้วว่า

“คนที่เปลี่ยนโลกคือคนที่มีอุดมการณ์ชีวิต…หากเราทำให้ผู้เรียนทุกคนมีอุดมการณ์อยู่ในใจ ผู้เรียนของเราจะไปทำให้โลกเปลี่ยนแปลง ประเทศเปลี่ยนแปลงแน่นอน”[3]

คำพูดของผมดังกล่าวนี้สะท้อนนัยของการศึกษาว่าต้องมีส่วนเสริมสร้างอุดมการณ์ชีวิตให้แก่ผู้เรียน ด้วยว่าการมีอุดมการณ์ชีวิตแม้เพียงน้อยนิดแต่จะมีพลังมหาศาลต่อการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องเริ่มต้นบ่มเพาะหล่อหลอมและพัฒนาต่อเนื่องตลอดทางอย่างเหมาะสม สอดประสานกันอย่างไร้รอยต่อมากที่สุดเท่าที่สามารถเป็นได้ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ (เช่น โครงการ Cap-Corner Stone) และการศึกษาตามอัธยาศัย

 

[1] ผมนำเสนออย่างเป็นทางการครั้งแรกในการปาฐกถานำเรื่อง “การศึกษาคือนวัตกรรม”  ในการประชุมงานวิจัยมหาวิทยาลัย จัดโดย ฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ณ ห้อง  Auditorium ชั้น 2 อาคาร 15 วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556.

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2017/11/harvard-living-lab-course-works-to-find-practical-alternatives-to-carbon/

[3] ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้ในการบรรยายหัวข้อ แนวทางการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในยุคการศึกษาไทย 4.0 จัดโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ณ โรงแรมคันทารี่ อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 23 วันศุกร์ 16 – พฤหัสบดี 22 กุมภาพันธ์ 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *