การขาด “ธรรมาภิบาล” เป็นปัญหาสำคัญที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “ตลาดทุน” ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และยังเป็นแหล่งระดมทุนให้ภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยสร้างสมดุลให้ระบบการเงิน ก่อให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ และเป็นช่องทางการออมและการลงทุนสำหรับประชาชน
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาปัญหาการขาดธรรมาภิบาลในตลาดหลักทรัพย์ไทยมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการปั่นหุ้น การฉ้อโกง หรือการใช้ข้อมูลภายในแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งสะท้อนถึงคำที่ผมสร้างขึ้นมา “สันดานวิทยา” ของมนุษย์ที่มักเห็นแก่ตัวและแสวงหาประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวมดูได้จากกรณีกระแสข่าวเหตุการณ์ล่าสุด กรณีของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่ผู้บริหารถูกกล่าวหาว่าทุจริตเงินกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งต้องรอการพิสูจน์ทางศาลต่อไป แต่ก็ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับตลาดทุนไทยอย่างรุนแรง เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดและระบบเศรษฐกิจโดยรวม
ผมมองว่าการลงทุนทุกอย่างรวมทั้งในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะทุกการลงทุนล้วนมีความเสี่ยงแฝงอยู่เสมอ หลายคอร์สฝึกอบรมที่สอนเรื่องการลงทุนมักจะเน้นสอนวิธีหาผลตอบแทนสูงหรือเทคนิคการลงทุน แต่มักจะพูดถึงความเสี่ยงน้อยเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรตระหนักให้มาก ซึ่งในการประเมินหุ้นแต่ละตัว จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมอย่างรอบด้าน รวมถึงแรงจูงใจของผู้บริหารว่ามีโอกาสเกิดการทุจริตมากน้อยเพียงใด แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ที่ดูน่าเชื่อถือก็อาจมีปัญหาได้ ดังเช่นกรณีการกล่าวหา EA ซึ่งเคยเป็นบริษัทชั้นนำของไทยที่มีมูลค่าสูงถึงหลักแสนล้านบาท เคยติดอันดับ 10 บริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหุ้นไทย และได้รับการยกย่องในด้านบรรษัทภิบาล แต่ก็ยังเกิดปัญหาที่รอการตรวจสอบขึ้นได้ในกรณีนี้
นอกจากนี้การที่หุ้นมีราคาถูกไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโอกาสในการลงทุนเสมอไป โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นไทยกำลังติดกับดักมูลค่า (value trap) มาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ปัจจัยต่างๆ เช่น การกระตุ้นการท่องเที่ยวจากจีนที่ไม่เป็นไปตามคาด เศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ล้วนส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย
จากปัญหาที่เกิดขึ้นตลาดทุนไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านธรรมาภิบาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการพัฒนาตลาดโดยรวม ในฐานะที่ผ่านมาผมสอนหลักสูตร (Institute of Directors (IOD) ซึ่งมุ่งสร้างธรรมาภิบาลในคณะกรรมการบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และมีประสบการณ์ยาวนานเป็นประธานกรรมการบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฯลฯ ผมจึงขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อยกระดับมาตรฐาน ธรรมาภิบาลในตลาดทุนไทย ดังต่อไปนี้
- ปรับปรุงประสิทธิภาพการกำกับดูแลตลาดทุน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานสำคัญในการกำกับดูแลตลาดทุนไทย แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ประสิทธิภาพการทำงานดูเหมือนจะลดลง เนื่องจากการลาออกของผู้บริหารและพนักงานจำนวนมาก ส่งผลให้การทำงานไม่ทันต่อพัฒนาการของตลาด กรณีศึกษาของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน แม้ (ก.ล.ต.) เริ่มสอบสวนตั้งแต่ปี 2559 แต่กระบวนการใช้เวลานานถึง 9 ปี ในระหว่างนั้น นักลงทุนกว่าครึ่งแสนรายยังคงลงทุนในหุ้น EA และบริษัทที่เกี่ยวข้องโดยไม่ทราบถึงความเสี่ยง
เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า (ก.ล.ต.) จำเป็นต้องปรับปรุงกลไกการส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยยึดหลักการทำงานของผมที่เคยเสนอไว้ คือ Work Smart, Work Fast, Work Hard กล่าวคือ ทำงานหนักและอย่างรวดเร็ว และชาญฉลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ควร มุ่งเน้นการสร้างระบบที่ทำให้แม้แต่คนที่ไม่ได้มีเจตนาดีก็ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งจะช่วยรักษาความโปร่งใสและเสถียรภาพของตลาดทุนไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อนักลงทุนและระบบเศรษฐกิจโดยรวม
- ปรับเปลี่ยน ที่มา บทบาทหน้าที่ และการให้คุณให้โทษ กรรมการ
กรรมการเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในตลาดทุนไทย การได้กรรมการที่มีความรู้ความสามารถ มีเวลาในการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร จะส่งผลดีต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างมาก ซึ่งผมขอเสนอแนวทางดังนี้
ประการที่หนึ่ง กำหนดให้กรรมการบางส่วนต้องทำงานเต็มเวลา ซึ่งแนวคิดนี้ผมได้เสนอในบริษัทตลาดหลักทรัพย์เมื่อหลายสิบปีก่อน การกำหนดให้กรรมการทำงานเต็มเวลาและมีทีมงานสนับสนุนงานกรรมการ เพื่อกรรมการจะสามารถทุ่มเทเวลาและความสนใจให้กับการกำกับดูแลบริษัทได้อย่างเต็มที่ แนวคิดนี้มีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการ ลดการพึ่งพาผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และส่งเสริมให้กรรมการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประการที่สอง ปรับเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกกรรมการอิสระ ให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั่นคือการมีกลไกแบบแนวใหม่ในการเสนอชื่อและคัดเลือกกรรมการอิสระ และให้คณะกรรมการบริษัทและหน่วยงานกำกับดูแล ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างเข้มแข็ง โดยยึดหลัก “COLD” ได้แก่ Care (เอาใจใส่), Obedience (เชื่อฟังกฎระเบียบ,กฎหมาย), Loyalty (จงรักภักดีต่อองค์กร), Disclosure (เปิดเผยข้อมูล) พร้อมทั้งเน้นย้ำบทบาทของกรรมการอิสระในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายบริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ
ประการที่สาม เพิ่มบทลงโทษรุนแรง เมื่อผู้บริหารทำผิดธรรมาภิบาล โดยเฉพาะเรื่องการใช้ข้อมูลภายในและความผิดอื่น ๆ ในตลาดทุนซึ่งเป็นความผิดทางอาญา ต้องมีโทษทั้งจำและปรับที่รุนแรงพอเหมือนในต่างประเทศเพื่อไม่กล้าทำผิดอีก และควรนำประเด็นความผิดทั้งหมดมาพิจารณาเพื่อระบุว่าผู้ที่มีประวัติทำความผิดทางธรรมภิบาลนั้น ขาดคุณสมบัติและความเหมาะสมที่จะเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนจำนวนปีที่เหมาะสมรวมถึงบางรายหากผิดรุนแรงมากห้ามเป็นกรรมการตลอดชีวิต
- เพิ่มบทบาทของผู้ถือหุ้นรายย่อยและนักลงทุนที่ต้องตื่นตัว
ผู้ถือหุ้นรายย่อยและนักลงทุนควรทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงและพร้อมที่จะแสดงความเห็น โดยไม่ยอมให้มีการทำผิดธรรมาภิบาลเกิดขึ้น ที่ผ่านมาสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยและสมาคมบริษัทจัดการลงทุนได้แสดงบทบาทอันน่ายกย่องในการตอบสนองต่อประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดทุน การดำเนินการของทั้งสองสมาคมเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าชมเชยในฐานะเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยให้ธรรมาภิบาลในตลาดทุนไทยเกิดขึ้นจริงได้มากขึ้น
- พัฒนาหลักสูตรอบรมผู้บริหารและผู้กำกับดูแลที่เน้นการสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบ
การฝึกอบรมผู้บริหารและผู้กำกับดูแลต่างๆ ควรมุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบ แทนที่จะเน้นเพียงความรู้หรือการสร้างเครือข่ายสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว และเนื้อหาหลักสูตรควรประกอบด้วยกรณีศึกษาจริงเกี่ยวกับจริยธรรมและความรับผิดชอบในการบริหาร สอดแทรกแนวคิดด้านธรรมาภิบาลและความโปร่งใส รวมถึงพัฒนาวิธีการวัดผลที่มุ่งเน้นการนำความรู้ธรรมาภิบาลไปปฏิบัติจริง โดยประเมินจากโครงการหรือแผนงานที่ผู้เข้าอบรมนำไปใช้ในองค์กร เป็นต้น
การปรับปรุงหลักสูตรในลักษณะนี้จะช่วยสร้างผู้บริหารและผู้กำกับดูแลที่มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อองค์กรและสังคมในระยะยาว
- กิโยตินและปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ
ในยุคโลกาภิวัตน์ ตลาดทุนไทยเผชิญความท้าทายจากเทคโนโลยีก้าวหน้า โมเดลธุรกิจใหม่ และการแข่งขันรุนแรงทั้งในและต่างประเทศ ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว จึงจำเป็นต้องปรับตัวสู่มาตรฐานสากล โดยการปฏิรูปกฎหมายและระเบียบให้ทันสมัย ยืดหยุ่น และเอื้อต่อการแข่งขันตัวอย่างการปฏิรูปในต่างประเทศ เช่น (Edinburgh Reforms) ของสหราชอาณาจักร ที่ทบทวนกฎเกณฑ์สำคัญกว่า 30 เรื่อง เพื่อดึงดูดการลงทุน และสำนักงาน (ก.ล.ต.) ดำเนินโครงการ (Regulatory Guillotine) ระหว่างปี 2563-2566 เพื่อลดขั้นตอนและเอกสารที่ไม่จำเป็น พร้อมพัฒนาระบบอนุญาตให้สะดวกขึ้น
ล่าสุด TDRI ร่วมกับสำนักงาน (ก.ล.ต.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ทำวิจัย “กิโยตินกฎหมายตลาดทุน” เพื่อทบทวน วิเคราะห์ และเสนอแนะการปรับปรุงกฎหมาย ให้สอดคล้องกับหลักการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล พัฒนาองค์ความรู้ และส่งเสริมการออมพร้อมคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย การปฏิรูปนี้ครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น การยืนยันตัวตน การส่งเอกสารประชุมผู้ถือหุ้น การจัดการเงินปันผลคงค้าง การส่งเสริมสภาพคล่องตราสารหนี้ และการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยได้รับการสนับสนุนจาก (CMDF) และความร่วมมือจากองค์กรสำคัญในตลาดทุน ด้วยความพยายามนี้ ตลาดทุนไทยจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนและอุปสรรคทางธุรกิจ พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก นอกจากนี้ควรมีการปรับปรุงปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบที่เกี่ยวข้องให้ทันการเปลี่ยนแปลงโลกและมีประสิทธิผลในการกำกับอย่างมีธรรมาภิบาลที่แท้จริง
การสร้างธรรมาภิบาลที่ดีในตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจของประเทศ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง เราจะสามารถสร้างตลาดหลักทรัพย์ที่มีประสิทธิสภาพ น่าเชื่อถือ และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของสังคมได้อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป