การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในยุคหลังโควิด (ตอนที่ 2): ข้อเสนอแนะในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

สาเหตุความล้มเหลวในการพัฒนา เศรษฐกิจชุมชน โดยรวมแล้วเกิดจากการแนวทางการพัฒนาที่ขัดแย้งกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ขาดความประหยัดจากขนาด ขาดความหลากหลายของกิจกรรมเศรษฐกิจ ขาดการต่อยอดบนฐานความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ รวมทั้งขาดบูรณาการในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น
.
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ทั้งในบทบาทภาครัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ โดยการเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลมาตลอด และโดยเฉพาะในยุคหลังโควิดเช่นปัจจุบัน ที่มีแรงงานจำนวนมากเลือกกลับไปหางานและสร้างอาชีพในบ้านเกิดของตนเอง จึงอยากเสนอยุทธศาสตร์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนมากที่สุด ดังนี้
.
1. สร้างเอกลักษณ์อัตลักษณ์สินค้าและบริการของชุมชน (Identity Creation)
เพื่อหลีกหนีจากการแข่งขันด้านราคา และลดข้อจำกัดด้านต้นทุนของการผลิต สินค้าและบริการของชุมชนจึงต้องมีความแตกต่างจากวิสาหกิจ หรือชุมชนอื่น เพื่อสร้างคุณค่าและความน่าสนใจในมุมองของผู้ซื้อ โดยผมแบ่งแนวทางการพัฒนาออกเป็น 3 ระดับ คือ
.
ระดับบุคคล: พัฒนาคนแบบ “ตัดเสื้อพอดีตัว” โดยพัฒนาความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ผ่านการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ บนจุดประสงค์เพื่อช่วยคนในชุมชนค้นหาศักยภาพของตน และพัฒนาจนเกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ไม่เหมือนใคร
.
ระดับองค์กร: พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ หรือมีคุณภาพสูง โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือแปรรูปด้วยวิธีการใหม่ ซึ่งอาจอาศัยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ภาครัฐ เอกชนในท้องถิ่นลงทุนวิจัยและพัฒนา ซึ่งสามารถสร้างพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างกรรมวิธีการเพาะปลูก หรือทำปศุสัตว์ หรือมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติที่ดี เป็นต้น
.
ระดับชุมชน: พัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นช่องว่างของตลาด (Niche Market) โดยแต่ละชุมชนร่วมมือกับภาครัฐ กำหนด จุดยืน (Positioning) หรือ จุดเฉพาะ (Niche) ของตน ส่วนรัฐต้องมีบทบาทในการเป็นผู้ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่มีเอกลักษณ์ของชุมชนให้มากขึ้น
เช่น พัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีกลิ่นและรสชาติพิเศษเฉพาะพื้นที่ ผลไม้ที่มีขนาด รูปทรง และสีลักษณะพิเศษเฉพาะพื้นที่ หรือพัฒนาปศุสัตว์ อาทิ วัว สุกร ที่มีเนื้อ และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์
ดังเช่น จังหวัดเฮียวโงะ ญี่ปุ่นทำ เนื้อวัวโกเบ ขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) จนกลายเป็นจุดขายของชุมชน หรืออาจสร้างสรรค์เมนูอาหารเฉพาะถิ่น ประเพณี วัฒนธรรม ศิลปะ ประจำถิ่น หรือสร้างแลนด์มาร์คที่มีเอกลักษณ์ เป็นต้น
.
2. สร้างพลังเสริมทวี (Synergization)
โดยใช้การบูรณาการความร่วมมือระหว่างบุคคล องค์กร และชุมชนในการส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มคุณค่าและความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) ความประหยัดจากขอบเขต (Economy of Scope) หรือความหลากหลาย
.
ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ บุคคล องค์กร และชุมชน เช่น วางแผนร่วมกันสร้างชุดโครงการเพื่อสร้างงานในชุมชนเพื่อให้เกิดการสนับสนุนซึ่งกันและกัน วางแผนร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของงาน อาชีพ หรือกิจกรรม ในชุมชนให้ครบวงจร เพื่อให้งาน อาชีพ หรือกิจกรรมต่างๆ เชื่อมโยงกัน พึ่งพากัน
และวางแผนร่วมกันพัฒนาตลาดระหว่างชุมชนที่มีสินค้าหลากหลายเป็นพื้นที่พิเศษ (Cluster) ของงาน อาชีพ หรือกิจกรรม ของชุมชน เช่น พัฒนาตลาดร่วมระหว่างชุมชนที่มีสินค้าหลากหลาย พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว ระหว่างชุมชน ซึ่งสามารถดึงดูดคนได้มากกว่า เป็นต้น
.
3. สร้างประโยชน์จากทรัพยากร (Utilization)
โดยการพัฒนาวิธีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ทุกประเภท ทุกที่ ทุกเวลา เช่น การใช้ประโยชน์จากขยะ ของเสีย เศษเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นต้น หรือ ใช้กระบวนการเพิ่มคุณลักษณะ รวมถึงความสามารถ (Functionalization) ใหม่ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agritourism) เป็นการเพิ่มฟังก์ชันด้านท่องเที่ยวไปในภาคเกษตร
.
หรือ วนเกษตร (Agroforestry) เป็นการเพิ่มลักษณะของงานด้านอนุรักษ์เข้าไปในภาคเกษตร หรือสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากทรัพยากร (Monetization) โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การนำวัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์มาสร้างเรื่องราว (Content) ด้านการท่องเที่ยว
.
รวมถึงพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน (Securitization) เพื่อพัฒนาชุมชน เช่น การแปลงไม้ยืนต้นเป็นทุน (ธนาคารต้นไม้) การแปลงทุนทางสังคมเป็นทุน (การให้กู้โดยค้ำประกันกลุ่ม) และการแปลงความดีเป็นทุน (ธนาคารความดี) เป็นต้น
.
4. สร้างความสามารถพึ่งพาตนเอง (Self-Reliance)
ในยุคโควิด การสร้างงานในชุมชน จำเป็นมากขึ้น เพราะคนว่างงานมากขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั้งประเทศ และทั่วโลกทำให้ตลาดนอกชุมชน มีกำลังซื้อลดลง ดังนั้น โครงการสร้างงานชุมชน ควรเน้นการสร้างงานที่พึ่งพาตนเองได้
.
ยุทธศาสตร์ คือ ส่งเสริมการผลิตแบบพึ่งตนเองก่อน (Self-Reliance First) เช่น การส่งเสริมการรวมตัวเป็นหน่วยภราดรภาพ (Fraternity Unit) เพื่อทำเกษตรแบบพึ่งตนเองก่อน ผลผลิตที่ส่วนเกินจากการบริโภคจึงนำออกจำหน่าย เริ่มจากร่วมมือกันปรับแนวคิดการผลิตในชุมชนร่วมกันให้เน้นความยั่งยืนด้วยตัวเอง (Self-Sustained Communities – SSC)
.
เพื่อปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจชุมชน เน้นการผลิตเพื่อตลาดภายในชุมชนมากขึ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายในชุมชนมากขึ้น เช่น การส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายของการผลิตในชุมชนเพื่อให้เกิดตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเองในชุมชน กระทั่งพัฒนาต่อยอดความร่วมมือสู่ความเชื่อมโยงระหว่างชุมชน (Linked Self-Sustained Communities)
.
5. สร้างสมรรถนะทางเทคโนโลยี (Technologization)
เทคโนโลยี ช่วยให้ชุมชน ลดข้อจำกัด เพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพ มาตรฐานการผลิต ทำให้สามารถเข้าถึงตลาดและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
.
ดังนั้นท้องถิ่นควรส่งเสริมการสร้างสมรรถนะทางเทคโนโลยีในการผลิตให้มากขึ้น เช่น การรวมพื้นที่เพาะปลูกให้กลายเป็นเครื่องจักรกลฟาร์ม (Mechanization) หรือการให้เกษตรกรรายย่อยร่วมมือกันบริหารจัดการฟาร์ม เพื่อให้สามารถใช้เครื่องจักรในการผลิตได้อย่างคุ้มค่า
สามารถใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ (เช่น Big Data, IoT, Sensor, AI) ในการผลิตได้ง่ายขึ้น โดยในอนาคตชุมชนจะสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าและทำการตลาดในระบบออนไลน์ การระดมทุน และการควบคุมคุณภาพสินค้าได้
.
6. สร้างกิจการที่มีเจ้าของร่วมรูปแบบใหม่ (Neo – Mutual Business)
โดยการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างภาคธุรกิจและวิสาหกิจชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการถือหุ้น และอำนาจในการออกเสียง เช่น การใช้กฎ 50+1 โดยให้สมาชิกถือหุ้นร้อยละ 50+1 และให้นักธุรกิจเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกิน ร้อยละ 49 เพื่อให้สมาชิกยังถือหุ้นใหญ่ แต่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจนำผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจจากภายนอกเข้ามาเป็นผู้บริหาร กรรมการ หรือที่ปรึกษาได้ด้วย
.
7. สร้างคุณค่าเพื่อสังคม (Social Value)
โดยใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เช่น การมีผู้ผลิตมีบรรษัทภิบาลทำเพื่อประโยชน์สังคม เป็นจุดขายด้านการตลาด ต่อยอดไปสู่การพัฒนาธุรกิจสร้างชาติ (Corporate Nation-Building – CNB, อ่านเพิ่มเติม ธุรกิจจะช่วยสร้างชาติได้อย่างไร) เพื่อช่วยเหลือชุมชนอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาระบบอาสาสมัครเพื่อชุมชน เช่น การสร้างประเพณีให้บัณฑิตจบใหม่ ลงไปพัฒนาชุมชน 2 ปี เป็นต้น
.
ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมยังมีอยู่มากในชนบท เราจึงไม่สามารถพัฒนาชนบทด้วยวิธีการแบบเดิมได้ การทำงานหนักและมีหลักวิชาที่ถูกต้องคือทางรอดเดียวหากเราต้องการยกระดับชนบทให้พ้นจากความยากจน และยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ครับ
.
ที่มา cioworldbusiness.com
วันที่ 27 ธันวาคม 2565

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *