นวัตกรรมยุทธศาสตร์ภาคประชาชนเพื่อการสร้างชาติ

ภาคประชากิจเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญมากต่อสังคมสมัยใหม่ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ไม่ว่าจะในบทบาทการเป็นผู้ตรวจสอบ/เฝ้าระวัง (Watchdog) การเป็นผู้ให้การรณรงค์ สนับสนุน/ช่วยเหลือ (Advocate) เป็นผู้เชี่ยวชาญ (Expert) คือ เป็น Think Tank ซึ่งขาดไม่ได้ในสังคมที่พัฒนาแล้ว และเป็นผู้ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม (Citizenship champion) เป็นต้น

.
ผมได้เสนอทฤษฎี “สัญญาประชาคมใหม่ (Neo-Social Contract)” อธิบายให้เห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และความจำเป็นในการร่วมมือของแต่ละภาคกิจของไทย เพื่อให้แต่ละภาคกิจเกื้อหนุน และปลดปล่อยศักยภาพของกันและกันในลักษณะ “Small Government, Small Business but Big Civil Society” ซึ่งหมายถึง การที่ภาคประชาชนมีขนาดใหญ่ และ มีบทบาทสำคัญ เพราะผมเชื่อภาคประชากิจที่เข้มแข็งและมีขนาดใหญ่จะเป็นเหตุให้ประเทศชาติเจริญได้ โดยการประสานร่วมกับภาครัฐกิจและธุรกิจตามบทบาทที่เหมาะสม ซึ่งตามแนวทางนี้จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเห็นชาติไทยก้าวหน้าได้หากปราศจากกระบวนการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง
.
ในหลายประเทศได้มีบริบทที่เอื้อให้องค์กรภาคประชากิจทำบทบาทหน้าที่ของตนได้อย่างดี แต่ในประเทศไทยสถานการณ์หลายอย่างอาจยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของภาคประชากิจ เช่น การกระจุกอยู่ในองค์กรเพียงบางประเภท การขาดการจัดระบบขับเคลื่อนองค์กร อุปสรรคจากกฎระเบียบ การขาดแคลนเงินทุน และค่าตอบแทนบุคลากรต่ำ ไทยจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ภาคประชากิจที่สอดคล้องกับสภาพขององค์กรภาคประชากิจ และบริบทสังคม ทำให้องค์กรภาคประชาชนได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ โดยผมมีข้อเสนอดังนี้
.
1) วางระบบ Nation – Building Credit System
เป็นการวางระบบให้คนทำดีผมได้เสนอหลายปีก่อน เป็นการให้คะแนนจากพฤติกรรมที่ครอบคลุมทั้งพฤติกรรมลบและบวก มีการพิจารณาพฤติกรรมด้านต่าง ๆ ของชีวิต ผูกติดกับการให้คุณให้โทษ โดยบูรณาการเข้าไปในชีวิตประจำวัน และใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจจับพฤติกรรมและการประมวลผล เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมพฤติกรรมที่มีส่วนในการสร้างชาติและจำกัดพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อชาติ
.
2) พัฒนาแหล่งทุนสำหรับภาคประชากิจ
งานจำนวนมากที่มีคุณค่า แต่ไม่สามารถสร้างมูลค่าได้ เช่น การพัฒนาชุมชน การดูแลคนจน คนแก่ คนพิการ ทำให้ไม่จูงใจให้องค์กรเอกชนเข้าไปดำเนินการ เราจึงต้องพยายามให้มูลค่ากับงานที่มีคุณค่า โดยต้องมีการพัฒนาแหล่งทุนสำหรับภาคประชากิจ อาทิ การจับคู่ระหว่างผู้ให้เงินทุนกับองค์กรภาคประชาชน และหักภาษีบริจาคให้องค์กรภาคประชากิจแบบอัตโนมัติ เป็นต้น
.
3) เปลี่ยนวัตถุประสงค์ และรูปแบบการทำบุญ
สังคมไทยไม่ได้ขาดแคลนเงินบริจาคแต่เงินบริจาคส่วนใหญ่เป็นเงินทำบุญทางศาสนา ในขณะที่รูปแบบการบริจาค ส่วนใหญ่เป็นการบริจาคเงิน ในขณะที่มนุษย์มีทั้ง เวลา ความสามารถ และทรัพย์ คนไทยทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดจึงควรเปลี่ยนวัตถุประสงค์การให้ หรือทำบุญเป็นการทำบุญเพื่อสังคมมากขึ้น คือ นอกเหนือจากบริจาคให้วัดแล้ว ควรหันมาบริจาคให้องค์กรประเภทอื่นมากขึ้น เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล พรรคการเมือง หรือองค์กรที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่างแท้จริง เปลี่ยนบทบาทวัดและองค์กรศาสนาจาก ผู้รับเงินบริจาค เป็น ผู้รับและจัดสรรเงินบริจาคให้องค์กรอื่น เปลี่ยนรูปแบบเป็น บริจาคเวลาและความสามารถมากขึ้น เช่น กองทุนเวลา ที่จับคู่ระหว่างผู้ให้เวลา กับ องค์กรที่ต้องการอาสาสมัคร
.
4) นำกลไกตลาดมาใช้กับงานในภาคประชากิจ
ดังเช่นการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อได้คาร์บอนเครดิต (carbon credit) เพื่อทำให้เกิดตลาดของผลงานที่มีคุณค่า (แต่ไม่มีมูลค่า) ให้สามารถซื้อขายได้ เช่น พัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่จ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน (pay-for-success models) ทำให้ตลาดสำหรับงานในภาคประชากิจขยายตัวขึ้น
.
5) สร้างระบบจูงใจให้คน ‘ดี เก่ง กล้า’ ทำงานในภาคประชากิจ
พัฒนาระบบจูงใจ ดังตัวอย่าง ธนาคารเวลา ธนาคารความดี (ให้กู้ โดยพิจารณาความดีที่ได้ทำ) สมุดพกความดี (นำไปใช้สมัครเรียนต่อได้) โดยพัฒนาระบบลดหย่อนภาษีให้ผู้อยู่ในสายงานภาคประชากิจเพื่อจูงใจคนดี เก่ง กล้า เข้ามาแสวงหาความก้าวหน้าในสายงานในภาคประชากิจได้
.
6) สร้างเครือข่ายบุคลากรที่มีอุดมการณ์เพื่อสังคม
เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์และประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคม เช่น สถาบันการสร้างชาติ (NBI) จัดค่ายเยาวชนเพื่อการสร้างชาติเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ และทำโครงการจิตสาธารณะ ส่วนภาครัฐกิจ ธุรกิจ ให้เวลาพนักงาน ทำงานในภาคประชากิจ ในทุกวันหยุด และทุกช่วงปิดเทอม
.
7) ส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) 3 แสนองค์กร
โดยภาครัฐมีบทบาทในส่วนของการช่วยเหลือ และกำกับให้แต่ละองค์กรรับผิดชอบปัญหาต่าง ๆ อย่างเจาะจง องค์กรละ 1 เรื่อง ให้ครอบคลุมทุกเรื่อง ทุกปัญหา ทุกกลุ่มคน ทุกพื้นที่ และบูรณาการความร่วมมือร่วมกับรัฐกิจและธุรกิจ โดยเริ่มจากการพัฒนาองค์กรภาคธุรกิจให้ขยายเป้าหมายจากการแสวงหากำไรเป็นหลัก สู่การมีเป้าหมายเพื่อการสร้างชาติเป็นหลัก ซึ่งเมื่อชาติได้ประโยชน์ องค์กรย่อมเข้มแข็งไปด้วย
.
😎 จัดตั้งศูนย์ศึกษาภาคประชากิจ (Center of Non-Profit Organizations) ในมหาวิทยาลัย
เพื่อสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับภาคประชากิจ ซึ่งผมมีความตั้งใจจะจัดตั้ง Nation-Building International University (NBIU) เพื่อขับเคลื่อน 3 ภาคกิจ ซึ่งประกอบด้วยศูนย์ย่อย เช่น วิทยาภาคประชากิจสร้างชาติ (Nation-Building Civil Society College), วิทยาลัยภาคธุรกิจสร้างชาติ (Nation-Building Business College) และวิทยาลัยภาครัฐกิจสร้างชาติ (Nation-Building Government College) ในอนาคตอันใกล้นี้
.
9) จัดอันดับ (ranking) องค์กรภาคประชากิจ
ในส่วนขององค์กรภาคประชาชนเอง ผมเห็นว่าทุกองค์กรจำเป็นต้องแสดงงบการเงิน แม้แต่วัด เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และสร้างการรับรู้ที่ดีต่อสังคมซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนที่เพิ่มขึ้น โดยต้องใช้ข้อกฎหมายมาบังคับเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด นอกจากนั้นองค์กรภาคประชาชนเองยังต้องพัฒนาแนวปฏิบัติสำหรับภาคประชากิจที่ดี ซึ่งใช้การจัดอันดับ (ranking) องค์กรภาคประชากิจมาเป็นตัวกำกับ เป็นต้น
.
10) จัดการประชุมเพื่อจัดทำเมทริกซ์ ส่งเสริมจัดตั้งกลุ่ม/องค์กรให้ครอบคลุมทุกประเด็น ทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มคน
ทุกภาคกิจต้องร่วมมือกันทั้งเสนอตัว พูดคุย จัดการประชุม เพื่อพิจารณาว่าในภาพรวมประเทศยังมีช่องว่างปัญหาที่ถูกละเลยอยู่หรือไม่ เพื่อส่งเสริมให้มีองค์กรรับผิดชอบในช่องว่างที่มีอยู่ โดยต้องพัฒนากลไกระดับชาติเพื่อกระจายความรับผิดชอบ
.
ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในมอบหมาย จูงใจ หรือขอความร่วมมือให้ภาคธุรกิจและประชากิจ ดำเนินงานแทนภาครัฐในบางด้าน โดยกำหนดความรับผิดชอบเจาะจงให้กับแต่ละองค์กร เช่น 1 องค์กร ช่วยพัฒนา 1 โรงเรียน และ 1 องค์กร รับผิดชอบ 1 ปัญหาสังคม เป็นต้น
.
11) จัดประชุมเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมงานภาคประชากิจระหว่างประเทศ
เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) สนับสนุนทรัพยากรและบุคลากรระหว่างประเทศ ดึงดูดการลงทุนของภาคประชากิจจากต่างประเทศ
.
12) จัดตั้งกระทรวงประชากิจ
ความจำเป็นของการขับเคลื่อนภาคประชากิจ ส่งผลให้หลายประเทศจัดตั้งเป็นกระทรวงที่ทำงานด้านนี้ขึ้นมาโดยตรง เช่น สหราชอาณาจักรมีกระทรวงประชากิจ (Ministry for civil society) และในคาซัคสถานมีกระทรวงกิจการศาสนาและประชาสังคม (Ministry for Religious and Civil Society Affairs) เป็นต้น
.
โดยบทบาทหน้าที่ของ “กระทรวงประชากิจ” ที่ควรทำ นอกจากจะเป็นศูนย์รวมข้อมูลภาคประชากิจของไทย และกำหนดนโยบายในการส่งเสริมภาคประชากิจตามข้อเสนอทั้ง 11 ข้อข้างต้นแล้ว กระทรวงควรสร้างกลไกอารยสนทนาเพื่อรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายก่อนการดำเนินนโยบาย เปิดโอกาสให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายพอใจ และเกิดประโยชน์สูงสุดเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งจะช่วยลดการเดินขบวนประท้วงนโยบายรัฐบาล และทำให้ประชาชนได้สิ่งที่ตนเองพึงพอใจมากที่สุด
.
คนไทยทุกคนล้วนอยู่และมีบทบาทในภาคประชากิจ แตกต่างกันเพียงมีบทบาทโดยตรงมากหรือน้อย ดังนั้นแม้บทบาทการขับเคลื่อนหลักจะต้องฝากความหวังไว้กับภาครัฐกิจ แต่เราทุกคนสามารถมีบทบาทสำคัญในแง่ของการริเริ่ม กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน ผมเชื่อว่าหากภาคประชากิจของประเทศไทยเข้มแข็ง เราจะเห็นการขับเคลื่อนประเทศไทยครั้งใหญ่ได้อย่างแท้จริง
.
ที่มา : นิตยสาร MIX

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *