ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando
เป็นที่ทราบกันดีถึงเหตุการณ์การประท้วงเรื่องการเหยียดสีผิวที่เกิดขึ้นหลายเมืองในสหรัฐอเมริกา อันเนื่องมาจากการใช้ความรุนแรงระหว่างเข้าจับกุมของตำรวจผิวขาว จนทำให้ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน – อเมริกันเสียชีวิต จนขณะนี้การประท้วงได้ทวีความรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นเหตุการณ์การจลาจล ทั้งการปล้นสะดมร้านค้า การเผาทำลายสถานที่และสิ่งของต่าง ๆ
สาเหตุที่ทำให้การชุมนุมประท้วงบานปลายจนนำไปสู่การก่อจลาจลนั้น เป็นเพราะปัญหาการเหยียดผิวที่ถูกสะสมมานาน จนทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองตามมา ประกอบกับความโกรธแค้นที่มีอยู่ในใจและรอวันปะทุ เพราะเหตุการณ์ในลักษณะนี้ยังคงเกิดขึ้นกับคนแอฟริกัน – อเมริกันอยู่เรื่อย ๆ อย่างที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
ในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมตะวันตก ประชาชนสามารถชุมนุม (Assembly) รวมถึงการเดินขบวน (Procession) ในที่สาธารณะได้ เพราะนับเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญของประชาชน ทั้งยังถูกยอมรับในทางสากลว่าเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการแสดงออกในสังคมประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นการชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง หรือหาข้อสรุปที่เหมาะสมจากข้อถกเถียงหรือประเด็นต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงเคลื่อนไหวเพื่อวัตถุประสงค์ทางเมืองบางประการอยู่เสมอ
การชุมนุมในที่สาธารณะเกิดจากสิทธิร้องทุกข์ (Right to Petition) และเกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออกกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Free speech) โดยการประท้วง (Protest) เป็นเสรีภาพที่พัฒนาต่อยอดมาจากสิทธิในการแสดงความคิดเห็น จากการแสดงความคิดเห็นโดยปัจเจกบุคคล มาสู่การแสดงความคิดเห็นแบบกลุ่ม ดังนั้น การประท้วง ก็คือ การชุมชนเพื่อแสดงความคิดเห็นแบบกลุ่มในที่สาธารณะ
แม้การประท้วงจะตั้งอยู่บนหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ได้เป็นสิทธิเด็ดขาด (Absolute Right) ที่จะทำอะไรหรือชุมนุมที่ไหนก็ได้ แต่สิทธิในการชุมนุมนั้นเป็นสิทธิสัมพัทธ์ (Relative Right) หมายความว่า สิทธิและเสรีภาพนั้นมีขอบเขต และสามารถถูกจำกัดได้ ตามมาตรา 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) กล่าวคือ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของชาติ (National Security) ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน (Public Order) การคุ้มครองด้านสาธารณสุขหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (Protection of Public Health or Morals) หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น (Protection of the Rights and Freedoms of Others)
ในความเห็นของผม ลักษณะการประท้วงที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อผู้ชุมนุมประท้วงและต่อประเทศชาตินั้น ผู้ประท้วงควรพิจารณาให้เป็นไปตามหลักปรัชญาปัจเจกอารยะและปรัชญาสังคมอารยะ ดังต่อไปนี้
การพิจารณาการประท้วงตามหลักปรัชญาปัจเจกอารยะ ประกอบไปด้วย
ดีแท้: ประเด็นหลักของการประท้วงหรือการเรียกร้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่อส่วนรวม สังคมหรือประเทศชาติเป็นหลักหรือไม่ หรือเป็นเพียงประเด็นที่เกี่ยวข้องการผลประโยชน์ของคนวงแคบ กลุ่มพวกพ้องหรือบางกลุ่มคณะเท่านั้น การประท้วงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้ทำทุกวิถีทางตามกฎกติกาที่วางไว้แล้ว แต่ผู้ถืออำนาจยังไม่เห็นและคงเพิกเฉยต่อประเด็นเรียกร้องเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะการประท้วงสร้างต้นทุนมหาศาล จึงไม่คุ้มค่าหากทำการประท้วงพร่ำเพรื่อ
งามแท้: ผู้ชุมนุมควรกำหนดรูปแบบหรือวิธีการประท้วงที่เป็นระบบระเบียบและอยู่ภายใต้ความสงบเรียบร้อย มีการตกลงร่วมกันถึงแนวทางในการประท้วง และสามารถชี้แจงแนวทางการรักษาความสงบปลอดภัยจากการประท้วงได้ การประท้วงที่งามแท้อาจทำได้โดยการใช้กลไกอารยะสนทนาในการเจรจากับเจ้าหน้าที่ผู้ถืออำนาจรัฐ หากมีการประท้วงโดยไม่ขอเจรจากับผู้มีอำนาจ ก็มิอาจทำให้ประเด็นต่าง ๆ ยุติหรือคลี่คลายลงได้
จริงแท้: การประท้วงควรตั้งอยู่บนเป้าหมายที่ชัดเจน มีตัวชี้วัดกำกับ และมีการกำหนดวัตถุประสงค์การประท้วงไว้อย่างสอดคล้องกับเป้าหมายที่มี และมีจุดยืนแยกเป็นรายประเด็น ไม่ปนกันจนไม่สามารถแยกแยะเรื่องได้ เพื่อจะทำตามได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน และป้องกันการยืดเยื้อหรือแตกประเด็นเป็นอื่นเลยจากประเด็นเริ่มต้นอย่างไม่สมควร ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์บานปลายได้ เช่น ผู้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงควรมีข้อเสนออย่างชัดเจนว่า ต้องการสิ่งใดจากภาครัฐ บนเงื่อนไขที่ว่ายินดีสลายตัวเมื่อข้อเสนอสัมฤทธิ์ผล หรือถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่เป็นธรรมและมีเหตุผล เป็นต้น
การพิจารณาการประท้วงตามหลักปรัชญาสังคมอารยะ ประกอบไปด้วย
เสรีภาพที่พึงประสงค์: เป็นความจริงที่ว่าการประท้วงย่อมส่งผลต่อประชาชนหรือกลุ่มคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมกับการประท้วงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ประชาชนไม่สามารถใช้พื้นที่สาธารณะในบริเวณที่มีการชุมชนได้ตามปกติ
ด้วยเหตุนี้ เสรีภาพที่พึงประสงค์ คือ ลักษณะการชุมนุมประท้วงต้องก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้อื่นน้อยที่สุด ผู้ประท้วงต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่ทำลายเสรีภาพคนอื่น ต้องไม่ทำร้ายสิ่งอื่น ๆ รอบตัว ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายตัวเอง เพราะการใช้เสรีภาพที่มากเกินขอบเขต อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง ผู้อื่น สังคม หรือขัดกับหลักคิดเชิงศีลธรรม
การประท้วงที่กระทำโดยเสรีภาพที่พึงประสงค์ จะเป็นการประท้วงอย่างสร้างสรรค์ สร้างพลังบวก ได้ปลดปล่อยศักยภาพ และนำความรู้ที่มีของทุกคนมารวมกันเพื่อขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดประโยชน์อย่างทวีคูณ
เสมอภาคที่พึงประสงค์: ทุกคนที่มาชุมนุมประท้วงควรได้รับการปฏิบัติระหว่างผู้ประท้วงด้วยกันเองอย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งชนชั้น และมีความเสมอภาคระหว่างสองฝ่ายที่มีความขัดแย้งกัน เช่นภาครัฐควรมีความเสมอภาคในการปฏิบัติต่อผู้ประท้วงกลุ่มต่าง ๆ กล่าวคือ ไม่เลือกปฏิบัติในการกีดกันการชุมนุมประท้วง เช่นไม่เลือกกีดกันการประท้วงของคนบางกลุ่มหรือเลือกกีดกันการประท้วงของบางประเด็นเท่านั้น แต่ควรมีหลักการที่เป็นแก่นสาระสำคัญ เพื่อพิจารณาการกีดกันการชุมนุม และปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ อย่างเสมอภาคกัน รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรใช้ความรุนแรงเกินเหตุกับผู้ชุมนุมประท้วง ในขณะเดียวก็ต้องรักษากฎหมายอย่างไม่มีข้อยกเว้น เพื่อผลระยะยาวของความศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมาย
ภราดรภาพที่พึงประสงค์: ทุกการประท้วงมีความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบเรียบร้อยได้เสมอ หากผู้ประท้วงและผู้ถูกประท้วง รวมถึงผู้ที่กำกับความสงบเรียบร้อยมองกันอย่างเป็นศัตรูมากกว่าเป็นญาติพี่น้องกัน เพราะฉะนั้น ผู้ประท้วงทุกคนต้องระมัดระวังจิตวิทยาจากการชุมนุม และอย่าปล่อยให้อารมณ์ครอบงำหรือนำหน้าเหตุผล และควรมองทุกคนอย่างเป็นพี่เป็นน้องกัน แม้จะมีความแตกต่างทางความคิด ทว่าควรยินดียอมรับความหลากหลาย เพราะความแตกต่างไม่ใช่ความแตกแยก รวมถึงในการปราศรัยในที่ชุมนุมประท้วงนั้น ควรใช้เหตุผลในการถกเถียงหรือโน้มน้าวใจ ไม่ควรมีการโจมตีตัวบุคคล ดูถูกเหยียดหยามเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง หรือบิดเบือนให้ร้าย ปรักปรำทำลาย หรือกล่าวผรุสวาทหยาบคายต่อผู้อื่น
ผมไม่ได้บอกว่าการประท้วงทำไมได้ หรือไม่ควรทำ แต่ผมกำลังบอกว่า การประท้วงสามารถทำได้หากประเมินแล้วว่า การประท้วงสามารถทำตามหลักปรัชญาปัจเจกอารยะและปรัชญาสังคมอารยะได้ และเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแสดงจุดยืนทางอุดมการณ์และเรียกร้องประเด็นสำคัญต่อรัฐบาลโดยตรง
นอกจากนี้ รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน ควรยอมรับว่า สิทธิต้องมาพร้อมกับหน้าที่เสมอ กล่าวคือ ทุกฝ่ายควรเคารพในสิทธิและหน้าที่ของกันและกัน หากเป็นเช่นนี้แล้วการประท้วงก็ย่อมทำได้ และการประท้วงจะไม่กลายเป็นการจลาจล
หลักปรัชญาอารยะควรเป็นเครื่องกรองและกรอบที่ใช้ในการดำเนินชีวิตในทุกเรื่องของคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เพียงกรอบแนวคิดเฉพาะเรื่องการประท้วงเท่านั้น เพื่อทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ บนพหุสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายนี้