ประเทศไทยควรเข้าร่วม CPTPP หรือไม่?

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ดร.แดน)
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อยู่เวลานี้ รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะบริหารจัดการเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างไร เพื่อให้เกิดผลกระทบทางลบน้อยที่สุด ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลกำลังต้องเผชิญการตัดสินใจครั้งสำคัญ นั่นคือ ประเทศไทยควรจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) หรือไม่


CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่พัฒนามาจากความตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership) หลังจากที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไป เป็นความตกลงที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมความตกลงนี้ 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม


รัฐบาลไทยควรชั่งน้ำหนักให้รอบคอบก่อนตัดสินใจว่าประเทศไทยควรเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ผมมีความคิดเห็นดังนี้


ประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในสังคมที่สำคัญ ได้แก่ ประเด็นเรื่องสิทธิบัตร มาตรการ ณ จุดผ่านแดน (Border Measure) และการเข้าเป็นสมาชิกหรือปฏิบัติตามหลักการของ UPOV 1991 โดยประเด็นภายใต้ประเด็นสิทธิบัตรประกอบด้วยการขยายอายุสิทธิบัตร (Patent Term Extension) การผูกขาดข้อมูล (Data Exclusivity) และการเชื่อมโยงสิทธิบัตร (Patent Linkage)


ประเด็นสิทธิบัตร

การขยายอายุสิทธิบัตรเป็นการยืดระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ยาวนานขึ้น ในกรณีที่เกิดความล่าช้าในกระบวนการจดสิทธิบัตรหรือการขึ้นทะเบียนยา ซึ่งทำให้ระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรที่มีผลจริงสั้นลง ส่วนการผูกขาดข้อมูลเป็นการไม่อนุญาตให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนยา (สำหรับประเทศไทยคือ อย.) นำข้อมูลการทดลองยา (ข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการใช้งาน) ที่บริษัทยาต้นแบบยื่นแก่หน่วยงานขึ้นทะเบียนเพื่อขึ้นทะเบียนยาของตน ไปใช้เพื่อขึ้นทะเบียนยาให้แก่ยาสามัญเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น ระยะเวลา 5 ปี แต่หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว หน่วยงานขึ้นทะเบียนสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวขึ้นทะเบียนให้กับยาสามัญได้ ประเด็นทั้งสองนี้คาดว่าจะทำให้ประเทศมีค่าใช้จ่ายยาสูงขึ้น เนื่องจากยาต้นแบบจะมีระยะเวลาผูกขาดตลาดที่ยาวนานขึ้น ยาสามัญซึ่งมีราคาถูกกว่าออกสู่ตลาดช้าลง อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ไม่ถูกบรรจุในความตกลง CPTPP แล้วหลังจากสหรัฐอเมริกาถอนตัวจากการเจรจา ข้อกังวลในประเด็นหลังนี้จึงหมดไป ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าความตกลง CPTPP จะทำให้ไทยไม่สามารถใช้มาตรการ CL (Compulsory Licensing) พบว่า CPTPP มิได้ทำให้สิทธิในการทำ CL หมดไป ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นการยืนยันสิทธิในการทำ CL ของประเทศสมาชิก สอดคล้องกับกฎกติกาของ WTO

 

การเชื่อมโยงสิทธิบัตรเป็นการเชื่อมโยงกระบวนการขึ้นทะเบียนยาเข้ากับกระบวนการจดสิทธิบัตร กล่าวคือ โดยปกติ อย. สามารถขึ้นทะเบียนให้กับยาสามัญได้แม้ว่ายาที่เป็นต้นแบบของยาสามัญนั้นๆ ยังไม่หมดอายุสิทธิบัตร แต่ยาสามัญที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้แล้วจะยังออกวางตลาดไม่ได้จนกว่ายาต้นแบบจะหมดอายุสิทธิบัตร การเชื่อมโยงสิทธิบัตรคือการกำหนดให้เมื่อมีผู้มาขอขึ้นทะเบียนยาสามัญ อย. จะต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิบัตรยาต้นแบบทราบ หากอายุของสิทธิบัตรยังไม่หมด และให้เจ้าของสิทธิมีเวลาดำเนินการในการจัดการกับกรณีที่มีการละเมิดสิทธิบัตรก่อนที่จะมีการวางตลาด ซึ่งจะทำให้เจ้าของสิทธิบัตรสามารถป้องกันตนเองจากการถูกละเมิดสิทธิบัตรได้ดียิ่งขึ้น การแจ้งให้เจ้าของสิทธิบัตรทราบมิได้ส่งผลต่อการขึ้นทะเบียนของยาสามัญที่มิได้ละเมิดสิทธิบัตร จึงมิได้ทำให้ยาสามัญออกวางตลาดล่าช้าลง หรือสร้างต้นทุนให้แก่ภาครัฐเพิ่มขึ้นในการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตร เนื่องจากเป็นเพียงการแจ้งให้เจ้าของสิทธิทราบ

 

มาตรการ ณ จุดผ่านแดน คือการให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า แต่ไม่ครอบคลุมการละเมิดสิทธิบัตร ดังนั้นจึงไม่ครอบคุลมการตรวจจับยาซึ่งเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิบัตร ตามกฎหมายของศุลกากรไทยในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ศุลกากรมีอำนาจในการตรวจจับและมีแนวปฏิบัติในการตรวจสอบดังกล่าวอยู่แล้ว โดยเฉพาะสินค้าปลอมเจ้าหน้าที่ศุลกากรค่อนข้างทำงานแบบเชิงรุก (proactive) ดังนั้นประเด็นนี้จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อไทย

 


ประเด็น UPOV 1991
การคุ้มครองพันธุ์พืชมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาพันธ์พืชใหม่ๆ มากขึ้น เนื่องจากพันธุ์พืชใหม่จะทำให้ผลิตภาพในภาคเกษตรสูงขึ้น จากการมีพืชที่มีลักษณะที่ต้องการมากขึ้น เช่น ให้ผลผลิตมากขึ้น สามารถต้านทานโรค และทนทานต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้น โดยให้สิทธิแก่ผู้ที่สามารถพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ขึ้นมาได้ผูกขาดเชิงพาณิชย์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ เนื่องจากผู้พัฒนาได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น ดังนั้นการคุ้มครองพันธุ์พืชจึงหมายถึงการคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชที่มีผู้พัฒนาขึ้นมาใหม่ มิใช่พันธุ์พืชที่มีอยู่แล้ว ในกรณีที่เป็นพันธุ์พืชที่พัฒนาขึ้นโดยภาครัฐ ภาครัฐซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิย่อมมีสิทธิในการใช้ในเชิงพาณิชย์หรือเชิงสังคมตามต้องการ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ในประเทศไทยมิใช่สิ่งใหม่ เนื่องจากประเทศไทยได้ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่อยู่แล้ว ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542

 


UPOV 1991 กำหนดให้พันธุ์พืชที่มีเจ้าของสิทธิสามารถนำไปทำวิจัยพัฒนาต่อยอดจนได้พันธุ์พืชใหม่ โดยไม่ถือเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และผู้ที่นำพันธุ์พืชดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอดจนได้พันธุ์พืชใหม่ที่แตกต่างจากเดิม ไม่ต้องจ่ายค่าการใช้สิทธิ (royalties) แก่เจ้าของพันธุ์พืชเดิม เนื่องจากหลักการพื้นฐานของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาคือการส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ โดยผู้ประดิษฐ์จะต้องเปิดเผยข้อมูลการประดิษฐ์แก่สาธารณะมากเพียงพอที่สาธารณะจะพัฒนาเลียนแบบหรือต่อยอดได้ เพื่อแลกกับการที่ภาครัฐช่วยปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประดิษฐ์ โดยให้ผู้ประดิษฐ์มีสิทธิผูกขาดในการใช้ประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์นั้นแต่ผู้เดียวเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่สาธารณะยังสามารถนำข้อมูลการประดิษฐ์ไปใช้ในการวิจัยพัฒนาที่มิใช่ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แม้ในช่วงเวลาที่ยังมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ หลังผ่านพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ทรัพย์สินทางปัญญานั้นจะตกเป็นของสาธารณะ ซึ่งไม่ว่าผู้ใดก็มีสิทธิที่จะนำไปใช้

 

สำหรับข้อถกเถียงที่ว่า UPOV 1991 จะทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น ประเด็นภายใต้ UPOV 1991 ที่จะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายพันธุ์พืชหรือเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร ได้แก่ 1) การไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการขยายพันธุ์ในฟาร์มของเกษตรกรไว้ใช้เพาะปลูกในรอบการเพาะปลูกถัดไป ทำให้เกษตรกรต้องซื้อพันธุ์พืชหรือเมล็ดพันธุ์ใหม่ และ 2) การขยายอายุการคุ้มครองพันธุ์พืช จากเดิมที่ประเทศไทยให้การคุ้มครอง 15 ปี มาเป็น 20-25 ปี (ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช) ทำให้พันธุ์พืชยังคงมีราคาสูงยาวนานออกไปจนกว่าจะผ่านพ้น 20-25 ปี แทนที่จะลดลงหลังจากปีที่ 15

 

ปัจจุบัน ภาคการเพาะปลูกของไทยส่วนใหญ่พึ่งพาพันธุ์พืชที่มิได้มาจากการพัฒนาพันธุ์ของภาคเอกชน แต่ใช้พันธุ์พืชซึ่งมาจากการทำวิจัยพัฒนาของสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะพืชสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ยกเว้นพืชบางชนิดที่พึ่งพาพันธุ์พืชที่พัฒนาโดยภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ ผัก เป็นต้น ในกรณีการเพาะปลูกที่ใช้พันธุ์พืชที่พัฒนาโดยภาครัฐ จึงไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายพันธุ์พืชของเกษตรกรเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐเป็นเจ้าของสิทธิจึงมีอำนาจในการควบคุมหรือกำหนดราคาพันธุ์พืชหรือเมล็ดพันธุ์ หรือแม้เป็นพันธุ์พืชที่เกษตรกรซื้อจากเอกชน แต่มิใช่พันธุ์พืชที่เอกชนประดิษฐ์ขึ้น เอกชนเป็นเพียงผู้เพาะพันธุ์ขายเท่านั้น ก็ไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายพันธุ์พืชของเกษตรกรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีพืชหลายชนิดซึ่งเมื่อนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการขยายพันธุ์เองในฟาร์มไปปลูกต่อ จะทำให้ได้พืชที่มีคุณสมบัติที่แย่ลง จึงทำให้เกษตรกรมักซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ในทุกรอบการเพาะปลูกอยู่แล้ว ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้ค่าใช้จ่ายพันธุ์พืชของเกษตรกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่มากในกรณีนี้

 

สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐมีการลงทุนทำวิจัยด้านเกษตรจำนวนมากมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพันธุ์พืชต่างๆ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีความเข้มแข็งในด้านการพัฒนาพันธุ์พืช ทำให้มีศักยภาพในการเป็นผู้คิดค้นทรัพย์สินทางปัญญา มากกว่าการเป็นผู้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา การเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 จึงน่าจะทำให้เกิดนักปรับปรุงพันธุ์มากขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้การปรับปรุงพันธุ์เป็นสิ่งที่มิได้อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงหรือเงินลงทุนจำนวนมาก แต่อาศัยความรู้และประสบการณ์ในการปรับปรุงพันธุ์ การส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์จึงช่วยสร้างโอกาสให้แก่เกษตรกรที่แม้จะมิได้มีเงินทุนขนาดใหญ่ ก็สามารถเข้ามาเป็นนักปรับปรุงพันธุ์มากขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดพันธุ์พืชมากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้พันธุ์พืชมากขึ้นในราคาที่ต่ำลง

 

อย่างไรก็ตาม UPOV 1991 อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดข้อยกเว้นให้พืชบางชนิดเป็นพืชที่เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการขยายพันธุ์พืชในฟาร์มของตน ไปใช้ในการเพาะปลูกในรอบถัดไป หรือที่เรียกว่า Farm-Saved Seed ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการนำผลผลิตไปใช้เองของเกษตรกร ดังนั้นไทยจึงสามารถกำหนดให้พืชสำคัญๆ เป็น Farm-Saved Seed

 

ในกรณีของการขยายอายุการคุ้มครองพันธุ์พืชให้ยาวนานออกไป เนื่องจากมีการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ ออกมาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้พืชสามารถให้ผลผลิตสูงขึ้นและรองรับสภาพแวดล้อมหรือโรคต่างๆ ที่มีเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอายุการคุ้มครองเดิมอยู่ที่ 15 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่น่าจะยาวนานเพียงพอที่ทำให้มีพันธุ์พืชใหม่มาทดแทนพันธุ์พืชเดิม ดังนั้นอายุการคุ้มครองที่ยาวนานขึ้นจึงไม่น่าจะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายพันธุ์พืชหรือเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นมาก

 

โดยสรุปแล้วผมจึงเห็นว่าผลกระทบเชิงลบของ UPOV 1991 จึงมีแนวโน้มไม่มาก และด้วยศักยภาพด้านการพัฒนาพันธุ์พืชของหน่วยงานต่างๆ ของไทย ภาครัฐสามารถส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดพันธุ์พืช เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืชหรือเมล็ดพันธุ์โดยเอกชนจนทำให้ค่าใช้จ่ายพันธุ์พืชเพิ่มขึ้นจนสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรของไทย

 

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยในเชิงปริมาณ เนื่องจากงานวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะหาข้อสรุปเกี่ยวกับขนาดของต้นทุนที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้นกับค่าใช้จ่ายพันธุ์พืชของประเทศ เนื่องจากขาดข้อมูลที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลปริมาณและพฤติกรรมการใช้พันธุ์พืชใหม่ที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของเอกชนในพืชต่างๆ ของภาคเกษตร จึงควรเร่งเก็บข้อมูลและศึกษาวิจัยในประเด็นดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อสรุปซึ่งเป็นที่ยอมรับในเชิงวิชาการ นอกจากนี้ยังควรมีการวัดขนาดของผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นด้วย ซึ่งเกิดจากผลิตภาพของภาคเกษตรสูงขึ้น จากการส่งเสริมให้มีการคิดค้นพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่สามารถให้ผลผลิต และมีคุณสมบัติในการต้านทานโรคหรือทนต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้น ผลการศึกษาจะทำให้สามารถหาต้นทุนหรือผลประโยชน์สุทธิของ UPOV 1991 ได้อย่างแท้จริง

 


ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจาก CPTPP
ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับหากเข้าร่วม CPTPP ส่วนใหญ่เกิดจากการขยายตัวของภาคการส่งออกอันเนื่องมาจากการลดภาษีนำเข้าของประเทศสมาชิก แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวมีแนวโน้มไม่มาก เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิก CPTPP เป็นประเทศที่ไทยมี FTA ด้วยอยู่แล้ว ในขณะที่ต้นทุนที่สำคัญของการเข้าร่วม อาจเกิดขึ้นจากประเด็นการเข้าเป็นสมาชิกหรือการออกกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านการคุ้มครองพันธุ์พืช (UPOV 1991) ซึ่งจะทำให้ประเทศมีค่าใช้จ่ายด้านพันธุ์พืชมากขึ้น ในส่วนของพันธุ์ที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาใหม่

 

ในกรณีที่ไทยสามารถเจรจาให้ไม่มีข้อผูกพันเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกของ UPOV ย่อมมีแนวโน้มที่ไทยควรเข้าร่วม CPTPP เนื่องจากไทยไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่เกิดขึ้นจากประเด็นดังกล่าว ความสำเร็จของการเจรจาดังกล่าวย่อมขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่ประเทศสมาชิก CPTPP จะได้รับจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของไทย แม้ว่าไทยจะไม่ยอมรับข้อผูกพันในประเด็นทั้งสอง

 

แต่หากไทยไม่สามารถเจรจาเพื่อไม่ให้มีข้อผูกพันในประเด็นดังกล่าว การตัดสินว่าไทยควรเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ย่อมขึ้นกับขนาดของต้นทุนเมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์โดยรวมที่จะเกิดขึ้น จากงานศึกษาของกรมเจรจาการค้าฯ คาดว่า CPTPP น่าจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้นต้นทุนที่เกิดขึ้นจาก CPTPP จึงจะต้องต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท โดยในการพิจารณาต้นทุนที่เกิดขึ้นจะต้องครอบคลุมต้นทุนของการปรับตัว (adjustment cost) รวมทั้งการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP นอกจากนี้ยังจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมิติอื่นๆ ของเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างรอบคอบ นอกเหนือจากมิติการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ความยากจน การกระจายรายได้ ผลกระทบต่อแรงงานกลุ่มต่างๆ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศเป็นตัวส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

ผมคิดว่าประเด็นความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นในกรณีของ CPTPP นี้เกิดจากปัญหาความไม่ไว้วางใจภาครัฐของภาคประชาสังคม ซึ่งอาจเกิดจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐในอดีตอันยาวนาน ภาครัฐจึงควรจัดให้มีกระบวนการเจรจาข้อตกลงการค้าที่โปร่งใส ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่สังคม รวมทั้งสร้างข้อผูกพันที่ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA มั่นใจได้ว่าจะได้รับการชดเชย หรือได้รับความช่วยเหลือในการปรับตัว โดยอาศัยกลไกการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบที่เหมาะสม ซึ่งผมจะได้กล่าวถึงในบทความต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *