แนวคิดเรื่องการประกอบการ (Entrepreneurship) หรือ ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจาก เป็นผู้ที่ใช้ทักษะความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การคาดการณ์ความต้องการของตลาดและทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจมีการพัฒนาก้าวหน้า ซึ่งผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จก็จะได้รับรางวัลเป็นกำไรทางธุรกิจ ขณะที่ผู้ประกอบการที่ล้มเหลวก็จะขาดทุนและหายไปจากระบบในที่สุด
- การประกอบการในมุมมองทั่วไป
คำว่า “ประกอบการ” เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 มาจากคำในภาษาฝรั่งเศส คือ entreprendre หมายถึง “ลงมือกระทำ” (to do something) หรือ “รับหน้าที่” (to undertake) จนกระทั่งศตวรรษที่ 16 คำว่า ผู้ประกอบการ จึงถูกนำมาใช้ โดยหมายถึง ผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการในหน่วยธุรกิจ
ส่วนคำว่า “ผู้ประกอบการ” ถูกนำมาใช้ในทางวิชาการครั้งแรก ประมาณปี 1730 โดยนักเศรษฐศาสตร์ ที่ชื่อว่า ริชาร์ด คันทิลลอน (Richard Cantillon) ซึ่งให้ความหมายว่า บุคคลที่ยินดีรับความเสี่ยงทางการเงินของหน่วยธุรกิจ ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 คำนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายและเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยนักเศรษฐศาสตร์ 2 คน คนแรก คือ ฌอง แบบติสต์ เซย์ (Jean Baptiste Say) ที่ให้น้ำหนักกับผู้ประกอบการในฐานะ ผู้ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยการย้ายทรัพยากรจากจุดที่ไม่มีประสิทธิภาพไปยังจุดที่มีประสิทธิภาพมากกว่า อีกคนหนึ่ง คือ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ซึ่งให้ความหมายคำว่าผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลที่ยินดีรับความเสี่ยงและรับผิดชอบในการบริหารจัดการธุรกิจ
ในช่วงแรก นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้นำปัจจัยเรื่องผู้ประกอบการมาพิจารณาในแบบจำลองทางเศรษฐกิจของตนมากนัก โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิคและนีโอคลาสสิค เนื่องจาก มีข้อสมมติว่า ผู้เล่นทุกฝ่ายตัดสินใจอย่างมีเหตุผล และทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ (perfect information) ดังนั้นจึงไม่เหลือพื้นที่สำหรับการทดลองเสี่ยงหรือค้นหาสิ่งใหม่ ๆ จนกระทั่งช่วงกลางศตวรรษที่ 20 นักเศรษฐศาสตร์ถึงมีความพยายามที่จะนำการประกอบการเข้ามาคำนึงถึงในแบบจำลองเศรษฐกิจมากขึ้น
- การประกอบการในมุมมองของผม – การประกอบการเพื่อการสร้างชาติ
ผมคิดว่าการที่คำว่า การประกอบการ ถูกนำมาใช้และให้ความหมายเน้นหนักไปทางธุรกิจมาก เป็นเพราะ กลุ่มคนแรกที่นำคำนี้มาใช้และทำให้แพร่หลาย คือ นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผม การประกอบการที่เจาะจงเฉพาะในภาคธุรกิจนั้น อาจแคบเกินไป เนื่องจากหากพิจารณาจากรากศัพท์ภาษาฝรั่งเศสคำว่า entreprendre นั้นหมายถึง “การลงมือกระทำ” หรือ “การรับหน้าที่” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายโดยทั่วไปอาจจะใช้กับเรื่องใดก็ได้
การประกอบการสำหรับผมจึงหมายถึง การดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ซึ่งความต้องการของสังคมนี้อาจจะเป็นเรื่องสินค้าและบริการ (ภาคธุรกิจ) การแก้ปัญหาสังคม (ภาคประชากิจ) หรือ การให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น (ภาครัฐกิจ) เป็นต้น ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการนั้นต้องมีการวางแผน ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ และบริหารจัดการเพื่อให้กิจการที่ทำนั้น มีเสถียรภาพและมั่นคงยั่งยืนได้
นอกจากนี้ การประกอบการของบุคคลอาจมาจากแรงจูงใจหลายประการ เช่น เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเอง เพื่อจะมีอิสระในการทำสิ่งที่ตนเองต้องการ เป็นต้น แต่ผมคิดว่าแรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการประกอบการ คือ การประกอบการเพื่อการสร้างชาติ เนื่องจาก เป็นแรงจูงใจที่จะประกอบการบางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้ประเทศชาติเจริญงอกงามอย่างยั่งยืนในทุกด้าน ทั้งด้านวัตถุ จิตใจ และคุณธรรม และเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมอย่างกว้างขวางที่สุด ไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น
การประกอบการเพื่อการสร้างชาตินี้จึงเกี่ยวข้องกับทั้ง 3 ภาคกิจ คือ
1) การประกอบการรัฐกิจสร้างชาติ (Public Sector Nation-Building Entrepreneurship)
คือ การผลิตสินค้าและให้บริการสาธารณะ อย่างซื่อสัตย์สุจริต ทำอย่างมีอุดมการณ์ ไม่ใช่ทำเพียงเพื่อเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่เพื่อเป้าหมาย คือ การสร้างสวัสดิการสูงสุดให้แก่สังคม โดยใช้ทรัพยากรที่ดิน แรงงาน (ข้าราชการ ) ทุน (งบประมาณ รายได้จากการให้บริการ เงินบริจาค ฯลฯ) ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิสภาพสูงสุด ซึ่งการประกอบการที่เกิดขึ้นนี้อาจจะสร้างรายได้ให้ภาครัฐกิจ (เช่น โมเดลรัฐวิสาหกิจ การให้บริการภาครัฐที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ฯลฯ) หรือไม่ก่อให้เกิดรายได้ก็ได้ (เช่น การดำเนินนโยบายต่างๆ เป็นต้น)
2) การประกอบการธุรกิจสร้างชาติ (Private Sector Nation-Building Entrepreneurship)
คือ การดำเนินธุรกิจที่มีส่วนในการสร้างชาติทั้งโดยอ้อม เช่น การผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม มีการจ้างงานที่เป็นธรรม เป็นต้น และยังมีส่วนในการสร้างชาติทางตรง เช่น การตั้งเป้าหมายร่วมกับภาคกิจอื่น ๆ ในการขับเคลื่อนประเทศ การอุทิศกำไรหรือหุ้นของบริษัทในสัดส่วนที่ชัดเจนออกมาโดยเฉพาะ เพื่อสนับสนุนองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่มีส่วนในการสร้างชาติโดยตรง (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความของผมเรื่อง “ธุรกิจจะช่วยสร้างชาติได้อย่างไร”[1]) รวมทั้งการทำธุรกิจโดยยึดคาถาเศรษฐีของผม คือ หาเงินมากที่สุด (อย่างถูกจริยธรรม) ใช้ (เพื่อตัวเอง) น้อยที่สุด และบริจาค (เพื่อส่วนรวม) มากที่สุด เป็นต้น
3) การประกอบการประชากิจสร้างชาติ (People Sector Nation-Building Entrepreneurship)
คือ การทำกิจการที่สร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาสังคม โดยมุ่งให้เกิดความยั่งยืนในกระบวนการ เช่น การจัดตั้งองค์กรในลักษณะการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (social enterprise) ที่ใช้เครื่องมือทางธุรกิจ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมาเลี้ยงองค์กรและนำกำไรที่ได้ทั้งหมดไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคม หรือ กระบวนการดำเนินธุรกิจในตัวมันเองที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาสังคม เป็นต้น
ประเทศไทยควรส่งเสริมให้มีการประกอบการเพิ่มขึ้น และขยายขอบเขตในการส่งเสริมการประกอบการออกไป เนื่องจากงานวิจัยเชิงประจักษ์เกี่ยวกับเรื่องการประกอบการ พบว่า ประเทศที่มีจำนวนกิจกรรมการประกอบการมาก มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือความมั่งคั่งของประเทศ ดังนั้นผมเชื่อว่า หากประเทศไทยส่งเสริมให้เกิดการประกอบการเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ในภาคธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นการประกอบการในภาครัฐกิจและประชากิจด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการสร้างชาติ ผมเชื่อว่าจะมีส่วนส่งเสริมให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดได้ในอนาคต
[1] http://www.cioworldmagazine.com/dr-kriengsak-chareonwongsak-how-business-make-nation/
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com