เมื่อไม่นานนี้ ผมได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง “ทิศทางและความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ เพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 5.0” ในงานประชุมวิชาการระดับชาติภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดโดย วิทยาลัยพาณิชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
คำถามที่เกิดขึ้นจากหัวข้อการบรรยาย คือ ประเทศไทย 5.0 คืออะไร ในเมื่อทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กำลังมุ่งไปสู่ยุค 4.0 เท่านั้น
เพื่อตอบคำถามนี้ ผมขออธิบายด้วย “ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทางสังคม : คลื่นอารยะ 7 ลูก” ที่ผมได้เสนอไว้ในหนังสือ คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม : สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 (2542) ซึ่งกล่าวถึงคลื่นอารยธรรม 7 ลูก ตั้งแต่คลื่นลูกที่ 0 ถึง 6 ได้แก่ สังคมเร่ร่อน สังคมเกษตร สังคมอุตสาหกรรม สังคมสารสนเทศ สังคมความรู้ สังคมปัญญา และสังคมความดี
ปัจจุบันโลกอยู่ในคลื่นลูกที่ 3 คือ สังคมสารสนเทศ และกำลังเคลื่อนเข้าสู่คลื่นลูกที่ 4 คือ สังคมความรู้ และคลื่นลูกที่ 5 คือ สังคมปัญญาในอนาคต ดังนั้นประเทศไทย 4.0 ในความหมายของผม คือ สังคมความรู้ และประเทศไทย 5.0 ก็คือ สังคมปัญญา ซึ่งปัญญา ในความหมายของผม คือ การรู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ให้เหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา ถูกโอกาส ถูกสถานการณ์ ถูกบริบท และถูกระบบแวดล้อม
การเปลี่ยนแปลงของคลื่นอารยธรรมโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่ออธิบายทิศทางการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ผมจะเปรียบเทียบลักษณะสำคัญในมิติต่าง ๆ ของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจตั้งแต่ยุค 2.0 ถึง 5.0 ดังนี้
- จาก “แข่งขัน” สู่ “ร่วมมือ”
การผลิตและบริโภคในยุค 2.0 เป็นการผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญในองค์กร และบริโภคโดยฝูงชน มีการแยกบทบาทระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ผู้ผลิตแข่งขันกันเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภคผ่านกลไกตลาด
ในยุค 3.0 เป็นการผลิตและบริโภคโดยฝูงชน บุคคลและองค์กรเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร โดยแข่งขันกันผลิตและนำเสนอเนื้อหา เพื่อดึงดูดจำนวนผู้เข้าชม หรือแข่งขันกันเสนอซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ
ในยุค 4.0 เป็นการร่วมผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม บริโภคโดยฝูงชน องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเกิดจากกระบวนการร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) นวัตกรรมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในระบบนิเวศน์นวัตกรรม
ในยุค 5.0 จะเป็นการร่วมผลิตโดยผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากปัญญาเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ทางความคิด และการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ธุรกิจจะมีบุคลากรเชี่ยวชาญหลายสาขามาทำงานร่วมกัน ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัล จะเอื้อให้ผู้คนเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- จาก “รวมศูนย์” สู่ “กระจาย”
องค์กรในยุค 2.0 เป็นแบบลำดับชั้นและรวมศูนย์ การขับเคลื่อนองค์กรใช้การสั่งการ กฎระเบียบ การควบคุม และวัดผลงานจากปัจจัยนำเข้า (input) เช่น จำนวนชั่วโมงทำงาน เนื่องจากงานส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้แรงกายและทำแบบเดิมซ้ำ ๆ
ในยุค 3.0 มีการกระจายอำนาจมากขึ้น หรือเป็นโครงสร้างแบบเมทริกซ์ (matrix) เพื่อให้เกิดการไหลของข้อมูลและการประสานงานข้ามสายงาน การขับเคลื่อนองค์กรใช้กระบวนการทำงานหรือระเบียบวิธีปฏิบัติงาน และวัดผลงานจากกระบวนการ (process) และผลผลิต (output) เช่น แนวปฏิบัติที่ดี วิธีปฏิบัติทางเทคนิค เนื่องจากงานส่วนใหญ่ใช้ความรู้มากขึ้น เช่น การวัดและประมวลผลข้อมูล การสื่อสารข้อมูล เป็นต้น
ในยุค 4.0 องค์กรมีลักษณะเป็นเครือข่าย เพื่อเอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งในและระหว่างองค์กร การขับเคลื่อนงานใช้วิสัยทัศน์ เป้าหมาย ตารางเวลาส่งมอบงาน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน ส่วนการวัดผลใช้ผลผลิต และผลลัพธ์ (outcome) เนื่องจากงานมีลักษณะเป็นการสร้างนวัตกรรม และมีการทำงานทางไกลมากขึ้น
ในยุค 5.0 องค์กรเป็นระบบที่ซับซ้อนและมีพลวัตร องค์ประกอบต่าง ๆ เชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยกัน ดังระบบนิเวศน์หรือระบบสมอง ทำให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยน เพื่อบรรลุผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและสร้างสมดุลของเป้าหมายต่าง ๆ การขับเคลื่อนงานใช้อุดมการณ์และค่านิยมร่วม การอำนวยการ ความร่วมมือ การท้าทายและสร้างแรงบันดาลใจ ส่วนการวัดผลใช้ผลลัพธ์ ผลลัพธ์ที่เลอค่า (outdo) การขยายผลลัพธ์นอกขอบเขต (outbound) การทวีคูณผลลัพธ์ (outburst) และความยั่งยืนของผลลัพธ์ (outlast)
- จาก “ทำกำไร” สู่ “ทำเพื่อสังคม”
ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในอนาคต จะมีเป้าหมาย (bottom line) เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผู้มีส่วนได้เสียที่มีอิทธิพลต่อธุรกิจเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณค่าอื่น (extrinsic value) นอกเหนือจาก คุณค่าจากตัวสินค้าและบริการ (intrinsic value)
การอธิบายแนวโน้มเป้าหมายของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ผมจะใช้ “Dr. Dan’s Corporate Mission Spectrum” ซึ่งอธิบาย ระดับของธุรกิจที่มีส่วนในการสร้างชาติ 5 ระดับ ได้แก่
- ยุค 2.0 ธุรกิจสร้างกำไรเป็นหลัก ธุรกิจในสังคมอุตสาหกรรมเน้นการผลิตจำนวนมาก เพื่อสร้างผลกำไรเป็นหลัก แต่ละเลยผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
- ยุค 3.0 ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม เมื่อสังคมเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ทำให้เกิดแรงกดดันต่อภาคธุรกิจ ให้ต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ธุรกิจจะพยายามทำกิจกรรม CSR เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และพัฒนาไปสู่การหลอมรวม CSR ในทุกกระบวนการของธุรกิจ ขณะที่ผู้บริโภคยินดีจ่ายแพงขึ้น เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง
- ยุค 4.0 ธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล คนในสังคมมีความรู้มากขึ้น และเรียกร้องให้ภาคธุรกิจไปไกลกว่าความรับผิดชอบต่อสังคม กล่าวคือ มีธรรมาภิบาล ในขณะเดียวกัน ยังมีการพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิตและดำเนินธุรกิจที่ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคม เช่น เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาตรฐานด้านธรรมาภิบาล และแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น
- ยุค 5.0 ธุรกิจที่สร้างคุณค่าต่อสังคม ธุรกิจในสังคมปัญญาไม่เพียงไม่สร้างผลกระทบเชิงลบ แต่ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในทุกกระบวนการขององค์กรด้วย ธุรกิจต้องเข้าใจบริบทและความต้องการของท้องถิ่น และสามารถประยุกต์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายได้
ผมขอคาดการณ์ไปถึง ธุรกิจในสังคมความดี หรือยุค 6.0 ซึ่งจะเป็น ธุรกิจเพื่อการสร้างชาติ คือ ธุรกิจที่จัดตั้งขึ้น โดยที่ทุกสิ่งในธุรกิจมีผลต่อการขับเคลื่อนการสร้างชาติสู่ “สยามอารยะ” และไม่ได้แสวงหากำไรเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่นำกำไรที่ได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
เราไม่ได้อยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง แต่เรากำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงยุค การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น แต่การมีความเข้าใจแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็เป็นเพียงมีความรู้ แต่ไม่มีปัญญา ดังคำกล่าวที่ว่า “ความรู้ที่ปราศจากการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ปัญญา”
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com