ท่านอาจเคยได้ยินมาว่า นับตั้งแต่ปี 1991 ประเทศญี่ปุ่นตกอยู่ในหลายทศวรรษที่หายไป (lost decades) ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะงักงันเป็นเวลายาวนาน และเพิ่งจะผงกหัวขึ้นมาได้บ้างเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่ผมจะแจ้งข่าวร้ายแก่ท่านว่า ประเทศไทยก็อยู่ใน lost decades เช่นกัน และอยู่มานานหลายทศวรรษ
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ที่หายไป โดยทศวรรษที่ 1 คือ ช่วงปี 2540 – 2550 เราเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ทศวรรษที่ 2 คือ ช่วงปี 2550 – 2560 เราเข้าสู่วิกฤตการเมืองซ้อนวิกฤตเศรษฐกิจ และเรากำลังเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ซึ่งผมคาดว่า ประเทศไทยอาจจะเกิดวิกฤตสังคมซ้อนวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการเมือง โดยแสดงชัดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ผมคิดว่าเราไม่สามารถปล่อยให้ประเทศชาติถดถอยต่อไปอีกได้ เราจึงต้องลุกขึ้นมาแก้วิกฤตทั้ง 3 และทางที่ดีที่สุด คือ การมีส่วนในการสร้างชาติ
ประเทศไทยสร้างรัฐสำเร็จแล้วมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5 แต่ยังสร้างชาติไม่เสร็จ เพราะการสร้างชาติ คือ การสร้างศูนย์รวมใจคนด้วยอุดมการณ์แห่งชาติ แต่ประเทศไทยยังไม่มีอุดมการณ์แห่งชาติหรือระบบคิดหรือหลักคิดเบื้องหลังที่ชัดเจน ที่คอยผลักดันหรือจูงใจให้คนในชาติบรรลุความปรารถนาสูงสุดร่วมกัน
หากเราต้องการเห็นอุดมการณ์แห่งชาติและคาดหวังผลลัพธ์จากการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงประเทศมากกว่าที่เคยมี เคยเป็น เคยทำ เราต้องลงแรงคิด ใช้สติปัญญา และลงมือทำในระดับที่มากกว่าเดิม ซึ่งสถาบันการสร้างชาติ (Nation-Building Institute – NBI) เป็นรูปธรรมของความพยายามของผม ที่ลงแรงคิด ลงมือทำ ในระดับที่มากกว่าเดิม
ไม่มีสถาบันการสร้างชาติแล้วสร้างชาติไม่ได้หรือ? ทำไมต้องมีสถาบันการสร้างชาติ? เป็นคำถามที่ผมได้ยินมาตลอด จึงขออธิบายเหตุผลและให้คำตอบไว้ดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 ประเทศไทยไม่สามารถสร้างอุดมการณ์ครอบจากบนลงล่างได้ จำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน เพราะประเทศไทยขาดแคลนนักการเมืองที่มีคุณภาพ ระบบการเมืองปิดกั้นคนดี เก่ง กล้า ขึ้นไปมีอำนาจรัฐ แต่หากมีบางคนขึ้นไปมีอำนาจได้โดยความบังเอิญ ก็จะไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่ ต่อให้ลี กวน ยูมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ก็ยังยากที่จะทำให้ประเทศเคลื่อนไปข้างหน้า
การสร้างชาติเป็นหน้าที่และเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของภาครัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจ ไม่ใช่ของภาคกิจใดภาคกิจหนึ่ง แต่ต้องร่วมมือกัน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ สู่เป้าหมายการสร้างชาติร่วมกัน โดยสถาบันการสร้างชาติพยายามทำให้ภาครัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจ ร่วมมือกันอย่างบูรณาการเพื่อการสร้างชาติ โดยเริ่มต้นจากการจัดทำหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ ซึ่งนำผู้บริหารของทั้งสามภาคกิจ มาเรียนรู้และทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างชาติ
ทั้งนี้ การสร้างการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน เริ่มต้นจากการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ผมเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ เริ่มที่การต่อสู้ทางความคิด เปลี่ยนความคิดด้วยการโน้มน้าวใจ ให้เหตุผล ทำเป็นแบบอย่างให้ดู เมื่อคนเปลี่ยนความคิด ก็จะสามารถเปลี่ยนประเทศไทยได้
ประการที่ 2 ยังไม่มีประเทศใดในโลกจัดตั้งสถาบันการสร้างชาติ เนื่องจากเป็นโมเดลใหม่ที่ผมคิดค้นขึ้น จากการตกผลึกทางความคิดและประสบการณ์จากการศึกษาและการทำงานใน 4 ทวีปหลักของโลก (อเมริกา ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย) ด้วยระยะเวลาทำงาน 40 ปีหลังจบปริญญาเอกมา ผมพยายามค้นหามหาวิทยาลัยที่สอนศาสตร์แห่งการสร้างชาติ แต่ผมก็ยังไม่พบ เพราะศาสตร์การสร้างชาตินั้น ต้องอาศัยการบูรณาการสหวิทยาการเข้าด้วยกัน ผมจึงต้องริเริ่มออกแบบหลักสูตรและสร้างสถาบันการสร้างชาติขึ้นมาเอง
สถาบันการสร้างชาติถูกก่อตั้งเป็นองค์กรขับเคลื่อนหลัก เพื่อบุกเบิกการเรียนรู้ศาสตร์การสร้างชาติ เป็นแหล่งเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งอุดมการณ์ความรักชาติให้กับคนในสังคม เป็นแหล่งสร้าง ‘แกนนำคนสร้างชาติ’ และก่อกำเนิด ‘ชุมชนสร้างชาติ’ เพื่อช่วยกันดำเนินการตามพิมพ์เขียวการสร้างชาติที่ยอมรับร่วมกัน
มากกว่านั้น ผมได้วางแผนสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและโลกในระยะยาว ด้วยการสร้าง “มหาวิทยาลัยการสร้างชาติ (Nation-Building University)” ในอนาคต โดยตั้งเป้าให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก หรือเป็นฮาร์วาร์ดแห่งเอเชีย (Harvard of Asia) ที่เน้นการศึกษาศาสตร์และศิลป์การสร้างชาติอย่างบูรณาการ
ประการที่ 3 ความเป็นสถาบันจะนำไปสู่ความยั่งยืน เอาชนะเหนือกาลเวลา การจัดตั้งสถาบันการสร้างชาติเป็นความพยายามสร้างความเป็นสถาบันของขบวนการสร้างชาติ กล่าวคือ ทำให้การขับเคลื่อนการสร้างชาตินั้นอยู่ยั่งยืนยาวนาน โดยไม่ขึ้นกับตัวบุคคล เป็นความสามารถในการสืบทอดโครงสร้าง แนวคิด กฎเกณฑ์ ประเพณีปฏิบัติ ฐานเงินทุน ท่วงทำนอง จากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ โดยไม่ขาดตอน ทำให้อยู่รอดและอยู่ยาวนาน
สถาบันการสร้างชาติจะเป็นเสมือนเสาหลักในการพัฒนาองค์ความรู้และกำกับทิศทางการสร้างชาติ เพื่อให้อุดมการณ์และแนวทางการสร้างชาติจะยังคงอยู่ต่อไปในอนาคต ทำให้ทิศทางการสร้างชาติมีความสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคม ประเทศ และโลกในอนาคต สถาบันฯ ยังเป็นแกนในการจัดตั้งสถาบัน วิทยาลัย และศูนย์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างชาติอย่างเจาะจง อาทิ สถาบันการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Institute) สถาบันอาหารโลก (World Food Institute) วิทยาลัยส่งเสริมสมรรถนะขั้นพื้นฐานสากล (Universal Basic Competency College) ศูนย์ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความยากจน (Poverty Eradication Centre) ฯลฯ
สถาบันการสร้างชาติยังทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดชุมชนนักสร้างชาติที่รวมตัวกันเป็นมวลชนจำนวนมากที่มีพลัง ขยายออกทั้งในมิติพื้นที่ ประเด็น กลุ่มคน โดยสนับสนุนการจัดตั้งชมรมการสร้างชาติครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน ซอย ถนน ตำบล อำเภอ จังหวัด ครอบคลุมทุกประเด็น ทั้งการศึกษา สาธารณสุข การค้า สิ่งแวดล้อม การพัฒนาชุมชน เป็นต้น และครอบคลุมทุกกลุ่มคน ทุกวัย โดยชุมชนสร้างชาติทุกกลุ่มอยู่ภายใต้โครงสร้างใหญ่ คือ คณะกรรมการการสร้างชาติภายใต้สภาการสร้างชาติ
สถาบันการสร้างชาติต้องการรับภาระจะเป็นสถาบันหลักของชาติในการสร้างผู้นำที่ มีทั้งภาวะการนำ ภาวะการบริหาร และภาวะคุณธรรม มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมอารยะเป็นมรดกทิ้งไว้ให้แก่ลูกหลานและคนรุ่นต่อไป บรรพบุรุษของเราสละชีพสละเนื้อเพื่อชาติ คนรุ่นเราจะสละความรู้ความสามารถสานต่ออุดมการณ์สร้างชาติ วางรากฐาน เป็นไหล่ให้คนรุ่นใหม่เหยียบขึ้นไปในอนาคต ด้วยการวาดวิสัยทัศน์กว้างไกลว่า ประเทศไทยจะเป็นต้นแบบนานาอารยะประเทศในอนาคต
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com