การแก้ปัญหาความยากจนเป็นวาระสำคัญของทั่วโลก จนถูกบรรจุไว้เป็นเป้าหมายลำดับที่หนึ่งใน 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) คือ “การยุติความยากจนทุกรูปแบบ” (end poverty in all its forms) ภายในปี 2030
แต่ความท้าทาย คือ เราจะทำอย่างไรเพื่อทำให้ความยากจนหมดไป ภายในเวลา 11 ปีข้างหน้า เพราะความพยายามของทั่วโลกในการแก้ปัญหาความยากจน ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าจะทำให้ความยากจนลดลงไปได้มาก แต่ยังไม่สามารถทำให้ความยากจนหมดไปจากโลกได้ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม
การยุติความยากจน เป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับแนวคิดของผม ซึ่งได้นำเสนอมาเป็นเวลานานแล้วว่า ต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูง ไม่มีความเหลื่อมล้ำมากจนเกินไป และไม่มีคนยากจน ยกเว้นคนยากจนโดยสมัครใจ
จากการสำรวจวรรณกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจน ผมพบว่ามีแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความยากจนอยู่หลายแนวคิด โดยมี 3 แนวคิดหลัก คือ การลดความยากจน (poverty reduction) การบรรเทาความยากจน (poverty alleviation) และการขจัดความยากจน (poverty eradication) ซึ่งมีการใช้ทดแทนและปะปนกัน ทั้งที่มีความหมายแตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี ผมเห็นว่า เราไม่สามารถใช้แนวคิดใดแนวคิดหนึ่งในการยุติความยากจนได้อย่างเบ็ดเสร็จ ผมจึงขอเสนอ “โมเดลตาข่าย 3 ชั้น เพื่อยุติความยากจน” ซึ่งเป็นการบูรณาการแนวคิดหลักในการแก้ปัญหาความยากจน เพื่อให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาความยากจนในทุกกลุ่มคนยากจนและทุกมิติของปัญหาความยากจน
ตาข่ายชั้นที่ 1 “การลดความยากจน” เป็นตาข่ายชั้นที่หยาบที่สุด เพราะเป็นการแก้ปัญหาความยากจนในเชิงปริมาณ โดยเน้นมาตรการในระดับมหภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งจะมีผลทำให้คนจำนวนมากหลุดพ้นจากความยากจน ผ่านการได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจ การไม่ถูกกีดกันทางสังคม และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย
การลดความยากจนเป็นแนวคิดที่ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวทางการพัฒนาของธนาคารโลกในช่วงทศวรรษ 1960 ที่เน้นการสะสมทุน โดยการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาอุตสาหกรรม (industrialization)
แนวคิดการพัฒนาเพื่อลดความยากจนได้มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสร้างสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อคนยากจน การปฏิรูปสถาบัน การลงทุนในทุนมนุษย์ การส่งเสริมการประกอบการ การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาชนบท การสร้างความเท่าเทียม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการจัดการสาเหตุของปัญหาความยากจน เช่น ความไม่สงบ การเมืองที่ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน เป็นต้น
การลดความยากจน แม้ว่าจะสามารถลดคนยากจนได้เป็นจำนวนมาก แต่กลุ่มคนที่จะหลุดพ้นจากความยากจนจากมาตรการนี้ มักจะเป็นผู้ที่มีสมรรถนะในระดับหนึ่ง ซึ่งจะทำให้มีโอกาสในการมีงานทำ ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้ และในความเป็นจริง ไม่มีประเทศใดที่สามารถรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระยะยาวได้ จึงจำเป็นต้องมีตาข่ายชั้นที่ 2 เข้ามารองรับ
ตาข่ายชั้นที่ 2 “การบรรเทาความยากจน” คือ การแก้ปัญหาความยากจนในเชิงคุณภาพ กล่าวคือ การลดความรุนแรงและความยากลำบากของกลุ่มคนที่ตกอยู่ในภาวะความยากจน โดยเน้นมาตรการเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม หรือตาข่ายรองรับทางสังคม (social safety net) ด้วยการจัดบริการสาธารณะ ทั้งในแบบถ้วนหน้า การประกัน และการสงเคราะห์
แนวคิดนี้มีเป้าหมายในการบรรเทาความยากลำบากสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงตกเป็นคนยากจน (vulnerable) กลุ่มคนยากจนตามสถานการณ์ (situational poor) และกลุ่มคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น
ถึงกระนั้น มาตรการบรรเทาความยากจนก็ยังไม่สามารถแก้ไขความยากจนได้ทุกกลุ่มคน เพราะยังมีกลุ่มคนยากจนอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ อันเนื่องจากความไม่รู้สิทธิ เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร หรือถูกกีดกันจากมาตรการช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม ซึ่งทำให้ต้องมีตาข่ายชั้นที่ 3 เข้ามารองรับ ซึ่งเป็นตาข่ายที่ละเอียดมากที่สุด
ตาข่ายชั้นที่ 3 “การขจัดความยากจน” คือ การกำจัดความยากจนในเชิงรุกและเชิงลึก เพื่อทำให้ความยากจนหมดไป หรือทำให้ความยากจนอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งในแง่จำนวนคนยากจนและความรุนแรงของความยากจน โดยเน้นมาตรการแบบเจาะจงไปยังกลุ่มคนยากจน หรือมาตรการแบบตัดเสื้อพอดีตัว (tailor-made)
แนวคิดนี้มีเป้าหมายช่วยแก้ปัญหาความยากจนแบบรุนแรง (extreme poverty) ความยากจนเรื้อรัง (chronic poverty) หรือความยากจนที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น (generational poverty) ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงหรือไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการลดและบรรเทาความยากจน อาทิ คนชายขอบในสังคม และเหยื่อของความไม่ยุติธรรมและการกดขี่ เป็นต้น
การแก้ปัญหาความยากจนให้ได้แบบเบ็ดเสร็จและมีประสิทธิภาพในเชิงต้นทุนนั้น จำเป็นต้องใช้ตาข่ายทั้ง 3 ชั้นอย่างบูรณาการกัน เพราะยิ่งตาข่ายละเอียดมากเท่าไร ยิ่งมีต้นทุนต่อหัวในการแก้ไขปัญหาความยากจนมากขึ้นเท่านั้น เราจึงจำเป็นต้องใช้ตาข่ายแต่ละชั้น ในการรองรับและคัดแยกคนยากจนแต่ละกลุ่มออกจากกัน เพื่อให้ต้นทุนในการแก้ปัญหาความยากจนไม่สูงจนเกินไป
นอกจากนี้ ตาข่ายทั้ง 3 ชั้น ยังช่วยให้เราสามารถกำหนดมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับคนยากจนแต่ละกลุ่มและความยากจนแต่ละมิติ เพราะการขจัดความยากจนให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนอันเนื่องมาจากสาเหตุหรือปัจจัยเฉพาะส่วนบุคคล ครอบครัว หรือชุมชน ในขณะที่ตาข่ายชั้นที่ 1 และ 2 เน้นแก้ปัญหาความยากจนในเชิงโครงสร้าง
โมเดลตาข่าย 3 ชั้น เป็นความพยายามในการสร้างกรอบแนวคิดในการยุติความยากจน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ นำไปใช้ในการแก้ปัญหาความยากจน แต่การยุติความยากจนจะสำเร็จได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริง ความทุ่มเท และความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคกิจในการพิชิตเป้าหมายนี้
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com