ในช่วงต้นปี 2019 มีสองเหตุการณ์สำคัญที่แสดงความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญของความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) คือ การที่อิตาลีร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจกับจีนภายใต้กรอบ BRI เป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7 และสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ใน BRI Forum ครั้งที่ 2 ซึ่งระบุถึงทิศทางนโยบายการเปิดตลาดในประเทศจีนมากขึ้น
ท่าทีของผู้นำจีนสะท้อนถึงความพยายามผนวก EU เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ BRI และการลดแรงตอบโต้และคำวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเกี่ยวกับอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดจีน ไม่ว่าจะเป็น ความไม่โปร่งใสของกฎระเบียบการลงทุนในประเทศจีน สิทธิและโอกาสที่ไม่เท่าเทียมระหว่างธุรกิจของจีนและธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในจีน
ถึงแม้ว่า BRI ดูเหมือนมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ในความเห็นของผม BRI ยังอาจทำให้เกิดผลกระทบมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ อย่างน้อย 3 ประการดังต่อไปนี้
ประการแรก ความไม่พอใจภายในประเทศกำลังพัฒนา
การที่รัฐบาลปักกิ่งได้แสดงท่าทีการเปิดตลาดในประเทศมากขึ้น เป็นการตอบสนองข้อเรียกร้องต่อกลุ่มประเทศใน EU แต่จีนยังไม่ได้แสดงท่าทีอย่างจริงจังต่อข้อวิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบของโครงการลงทุนภายใต้ BRI ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ความไม่โปร่งใส การคอร์รัปชั่น กับดักหนี้ ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แรงงานและธุรกิจท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งผลกระทบดังกล่าวได้ปรากฏแล้วในบางประเทศ เช่น ศรีลังกา ปากีสถาน ลาว กัมพูชา เป็นต้น
ปัญหาข้างต้นมักเกิดกับประเทศกำลังพัฒนาที่ระบบสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจยังขาดความเข้มแข็ง ขาดแคลนองค์กรและบุคลากรที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ จึงทำให้ขาดองค์ความรู้และอำนาจต่อรองในการเจรจากับมหาอำนาจอย่างจีน ประกอบกับ BRI ยังขาดความเป็นสถาบัน และขาดกฎระเบียบที่ชัดเจน แต่เป็นเพียงวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ กรอบความร่วมมือจึงไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน แต่เปลี่ยนแปลงไปตามการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอาจเสียเปรียบจีนได้
แม้ BRI เป็นโอกาสสำหรับประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจการค้า และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนตามแนวเส้นทางสายไหม แต่ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการลงทุนภายใต้ BRI อาจทำให้เกิดกระแสการต่อต้านโครงการลงทุนจากประเทศจีน ธุรกิจจีน และบุคลากรจากจีน ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแนวเส้นทางสายไหมไม่ประสบความสำเร็จหรือเป็นไปอย่างเชื่องช้า
นอกจากนี้ การควบคุมความมั่นคงปลอดภัยในเส้นทางสายไหมทางบก โดยปกติไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว เพราะเส้นทางสายไหมทางบกพาดผ่านไปบนเขตอธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ที่มีกฎระเบียบ บริบททางการเมืองและสังคมแตกต่างกัน มีผลประโยชน์แห่งชาติของตนเอง หากประเทศเหล่านี้มีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ BRI หรือมีความเปราะบางเกี่ยวกับสิทธิของชนกลุ่มน้อย อาจเปิดช่องให้เกิดการแทรกแซงจากกลุ่มต่อต้านหรือขบวนการก่อการร้ายก็เป็นได้
ประการที่สอง ความแตกแยกภายในภูมิภาค
ที่ผ่านมา จีนได้เข้ามามีบทบาทและมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับ EU และประเทศในยุโรปมากขึ้น ซึ่งแม้การลงทุนจากจีนจะเป็นโอกาสสำหรับประเทศใน EU และยุโรป ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์หนี้ยูโรโซน แต่การรุกคืบของจีนเข้ามาในภูมิภาคนี้ ได้สร้างความหวาดระแวงแก่ประเทศใน EU ว่าจะทำให้สหภาพยุโรปเสียสมดุลทางอำนาจในภูมิภาค ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก คือ การสูญเสียอำนาจต่อรองของ EU เนื่องจากการแผ่อิทธิพลของจีนเข้ามาในกลุ่มประเทศยุโรป ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่จีนเข้ามาควบคุมท่าเรือที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของยุโรปใต้และยุโรปกลาง ซึ่งจีนจะสามารถควบคุมการค้าของยุโรปและเข้าสู่ตลาดยุโรปได้มากขึ้น
ประเด็นที่สอง คือ การสูญเสียความเป็นเอกภาพของสมาชิก EU เนื่องจากแนวทางของ BRI เป็นลักษณะการเจรจาต่อรองผลประโยชน์เป็นรายประเทศ อาจทำให้ถูกมองว่า จีนกำลังใช้ยุทธศาสตร์การแบ่งแยกเพื่อปกครอง ซึ่งผลประโยชน์จากจีนอาจทำให้สมาชิก EU ขาดเอกภาพ หรืออาจถึงขั้นเกิดการแยกตัวออกจาก EU ทั้งนี้ BRI ได้ทำให้เกิดความไม่มีเอกภาพของภูมิภาคต่าง ๆ บ้างแล้ว ดังกรณีที่กรีซยับยั้งมติของ EU เกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศจีนในปี 2017 ซึ่งคาดกันว่าเป็นเพราะอิทธิพลจากการลงทุนของจีนในท่าเรือและโครงการอื่น ๆ ในประเทศกรีซ เป็นต้น
ประการที่สาม การเผชิญหน้ากันของประเทศมหาอำนาจ
การแผ่ขยายอิทธิพลของจีน จะทำให้เกิดความหวาดระแวงของมหาอำนาจอื่น และเกิดความเสี่ยงในการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะความพยายามควบคุมเส้นทางการสื่อสารทางทะเลของจีน โดยการลงทุนพัฒนาท่าเรือ และการตั้งฐานทัพเรือยุทโธปกรณ์ทางการทหารในประเทศหรือดินแดนต่าง ๆ ที่อยู่ในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย ทำให้เกิดความพยายามสกัดกั้นอิทธิพลของจีน เช่น การจัดตั้ง Quad ซึ่งเป็นความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นต้น
ในทำนองเดียวกัน ความทะเยอทะยานของจีนที่พยายามเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคมทั่วโลก หรือ digital Belt and Road ได้ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและสิทธิการบริหารเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของโลกอยู่แต่เดิม (IPv4) แต่หลังจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ได้ลงมติมอบสิทธิดูแลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโลก (IPv9) เป็นเวลา 100 ปีให้กับจีน หลังจากที่สิทธิเดิมที่เป็นของสหรัฐอเมริกาสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 2020 ทำให้สหรัฐฯ ต้องทำสงครามสื่อ (media war) กับประเทศจีน
ไม่ว่าจะเป็นการล็อบบี้ไม่ให้ประเทศพันธมิตรใช้เทคโนโลยี 5G ของจีน โดยอ้างประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์ การจับกุมผู้บริหารบริษัทหัวเว่ย ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี 5G ของจีน ตลอดจนการที่สหรัฐฯออกประกาศฉุกเฉิน ห้ามบริษัทในประเทศใช้อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งทำให้กูเกิ้ลต้องยกเลิกการให้บริการในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ แก่อุปกรณ์ของหัวเว่ย เป็นต้น
จากผลกระทบดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้หมายความว่าจีนเป็นมหาอำนาจที่เลวร้ายกว่ามหาอำนาจอื่น ๆ แต่ผมเห็นว่า การดำเนินโครงการลงทุนภายใต้ BRI ยังจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง เพื่อให้มีการกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนาที่เท่าเทียมกันและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
ส่วนประเทศไทย ซึ่งมีความร่วมมือกับจีนภายใต้กรอบ BRI จำเป็นต้องเรียนรู้บทเรียนและผลกระทบของ BRI ในประเทศอื่น และกำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมืออย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อให้เราได้ประโยชน์สูงสุด และได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการเผชิญหน้ากันของมหาอำนาจ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com