ในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้นำคณะนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ (นสช.) รุ่น 6 ไปศึกษาดูงานที่ประเทศมอลต้าและอิตาลี
อิตาลีเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นระดับโลกหลายด้าน อาทิ เป็นผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมอันดับ 2 ของยุโรป รองจากเยอรมัน (Eurostat, 2015) เป็นประเทศที่ประชากรมีสุขภาพดีที่สุดในโลก (Bloomberg Global Health Index 2017) มีอิทธิพลด้านวัฒนธรรมสูงที่สุดในโลก (USNEWS, 2017) มีสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ต่อพลังงานที่ใช้ทั้งหมดอันดับ 1 ของโลก (IEA & OECD, 2015) และเป็นศูนย์กลางสินค้าหรูหราอันดับ 4 ของโลก รองจากฝรั่งเศส สหรัฐฯ และสวิสเซอร์แลนด์ (ปี 2015 – 2016)
ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจอิตาลีกำลังมีปัญหาในปัจจุบัน โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงกว่าในอดีต ทว่าแนวทางการสร้างชาติของอิตาลียังสามารถเป็นบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ได้หลายประการ
ประการที่ 1 การส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (SMEs) ให้รวมกลุ่มเป็นเขตอุตสาหกรรม (Industrial Districts)
ในช่วงเริ่มแรก การรวมกลุ่มเกิดขึ้นเนื่องจาก ปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์มีความเหมาะสม และเอื้ออำนวยต่อการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภท ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ต่างก็พัฒนาทักษะเฉพาะตัวขึ้น เกิดเป็นความชำนาญและถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ต่อมา ภาครัฐของอิตาลีจึงเข้ามาส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งขึ้น ผ่านการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น
ในเขตอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีความสมดุลกันทั้งการร่วมมือกันและการแข่งขันกัน โดยเป็นการแข่งขันด้วยคุณภาพและนวัตกรรมมากกว่าการแข่งขันทางด้านราคา ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูง ขณะที่การร่วมมือกัน มีการแบ่งกระบวนการผลิตเป็นขั้นตอน (phases) ต่างๆ แต่ละบริษัทหรือโรงงานรับผิดชอบการผลิตในแต่ละขั้นตอนที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงมีการแบ่งปันความรู้ เทคโนโลยี และวิธีปฏิบัติงานให้แก่กันและกันด้วย
ผลที่เกิดขึ้น คือ การผลิตของวิสาหกิจขนาดเล็กและกลางในอิตาลีจึงมีประสิทธิภาพสูง ผลิตภาพของแรงงานสูงขึ้น สินค้ามีเอกลักษณ์ มีแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงมาก
ประการที่ 2 การพัฒนาเทคโนโลยีโดยการเลียนแบบ ปรับเปลี่ยน และวิศวกรรมย้อนกลับ (reverse engineering)
ในอดีต อิตาลีพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเยอรมันและสวิสเซอร์แลนด์ สาเหตุที่อิตาลีไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองได้ เนื่องจากการขาดแคลนปัจจัยนำเข้า (input) ที่จำเป็น (โดยเฉพาะในกรณีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรวิศวกรรมต่างๆ) ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจดั้งเดิมของอิตาลี คือ อุตสาหกรรมเกษตรและการแปรรูปอาหาร ไม่ได้ทำให้เกิดอุปสงค์ต่อสินค้าและอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มากนัก
อย่างไรก็ตาม อิตาลีเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง โดยการนำเข้าและเลียนแบบเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยได้รับการช่วยเหลือด้านเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญ และนโยบายส่งเสริมการผลิตเครื่องจักรเพื่อการผลิตสินค้า (Mass-production technologies) ทำให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับวิศวกรรม และทำให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก รวมทั้งทำให้การนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการพัฒนาทางเทคโนโลยีนี้มีส่วนทำให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
ประการที่ 3 การใช้นโยบายรัฐเป็นตัวนำการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม (state-led industrial sector)
รัฐบาลอิตาลีได้จัดตั้ง Institute for Industrial Reconstruction (IRI) เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนทางอุตสาหกรรม สถาบันนี้เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดความก้าวหน้าและทำหน้าที่ช่วยเหลือ ปรับโครงสร้าง ให้คำแนะนำและให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทเอกชนที่ประสบปัญหาเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
ทั้งนี้ IRI มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมและการพัฒนาประเทศ แม้จะดำเนินการเหมือนบริษัทเอกชน สามารถผลิตสินค้าและบริการที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก นอกจากนี้ IRI ยังมีบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกิจและธุรกิจในการดำเนินการด้านต่าง ๆ อีกด้วย
IRI เป็นตัวอย่างทางบวกของการที่รัฐเข้ามาแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงว่า ระหว่างนโยบายรัฐเป็นตัวนำหรือกลไกตลาดเป็นตัวนำ ควรจะใช้แนวทางใดจึงจะเหมาะสม ทั้งนี้ผมเห็นว่า การใช้แนวนโยบายแบบใดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และต้องมีการวิเคราะห์วิจัยอย่างรอบคอบ หากจะนำแนวนโยบายแบบรัฐเป็นตัวนำไปใช้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า รัฐควรจะเลือกส่งเสริมอุตสาหกรรมใดบ้าง
ประการที่ 4 การร่วมมือของภาคประชาชนในการจัดการกับองค์กรอาชญากรรม (Organized Crime)
ประเทศอิตาลีขึ้นชื่อเรื่องการมีองค์กรนอกกฎหมาย หรือที่เรียกว่ามาเฟีย โดยเฉพะเกาะซิซิลีที่เป็นต้นกำเนิดของมาเฟียหรือกลุ่มคนที่ทำผิดกฎหมายอย่างลับ ๆ โดยเชื่อกันว่า กลุ่มคนหรือองค์กรเหล่านี้เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงกลางของศตวรรษที่ 18
ประเทศอิตาลีมีความพยายามจัดการกับกลุ่มมาเฟียในอิตาลี โดยใช้หลายวิถีทาง อาทิ
ภาคประชาชนรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและกดดันภาครัฐให้จัดการกับมาเฟีย โดยประชาชนได้ลุกขึ้นต่อสู้ และปฏิเสธการจ่ายค่าคุ้มครองให้กับมาเฟีย ประชาชนได้ติดป้ายโปสเตอร์เพื่อตำหนิภาครัฐที่ไม่จัดการกับกลุ่มมาเฟีย ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนยังร่วมมือกับประชาชนในการต่อต้านการดำเนินการของมาเฟีย
การก่อตั้งโครงการคุ้มกันพยาน เพื่อหาพยานและหลักฐานในการจัดการทางกฎหมายกับกลุ่มมาเฟีย โดยการก่อตั้งโครงการคุ้มกันพยาน ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่เคยเป็นมาเฟีย ยอมออกมาให้การและเปิดเผยข้อมูลกับทางการมากขึ้น
การออกกฎหมายยึดทรัพย์มาเฟียและนำไปบริจาคให้องค์กรเพื่อสังคม เช่น การยึดทรัพย์สินมาบริจาคให้สหกรณ์ การนำที่ดินของมาเฟียเปลี่ยนเป็นศูนย์ชุมชน โรงแรม ฟาร์ม ไร่องุ่น สวนผลไม้ ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และทำให้คนท้องถิ่นมีความหวาดกลัวมาเฟียน้อยลง
ทุกบทเรียนการสร้างชาติปรากฏให้เห็นผ่านผลลัพธ์จากการลงมือทำของคนในชาติ ไม่ว่าปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นจะใหญ่โตเพียงใด หากทุกคนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยกันสอดส่องดูแลประเทศชาติของเรา และร่วมมือร่วมใจกันขจัดรากเหง้าของทุกปัญหาอย่างจริงจัง ก็ไม่มีสิ่งใดที่ยากเกินกว่าจะทำได้ ผมจึงปรารถนาให้ทุกคนลุกขึ้นมาร่วมสร้างชาติไทยด้วยกันครับ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com