การปฏิวัติพลังงานทดแทนโลก

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปร่วมการประชุม World Chinese Economic Forum ประจำปี 2018 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยประเด็นที่ผมรับผิดชอบดำเนินการประชุม คือ “Renewable Energy and Climate Change – Revolutionizing and Sustaining our Changing Planet”

ประเด็นการประชุมนี้มีที่มาจากการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างความประหลาดใจแก่คนทั่วโลก โดยการนำสหรัฐอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อกลางปี 2017

จีนที่มีแรงจูงใจในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลก จึงรีบฉวยโอกาสนี้ โดยแสดงบทบาทการเป็นผู้นำโลกในวาระเกี่ยวกับพลังงานทดแทนและสภาวะโลกร้อน โดยคาดหวังจะนำโลกก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิวัติพลังงานทดแทน (renewable energy revolution)

คำถาม คือ จีนมีความต้องการผลักดันให้เกิดการปฏิวัติพลังงานทดแทนจริงหรือไม่?

จีนเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานมากที่สุดในโลก โดยมีความต้องการใช้พลังงานถึงร้อยละ 23 ของความต้องการใช้พลังงานปฐมภูมิทั่วโลก แต่จีนต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิและเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก

จีนยังเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้สร้างมลภาวะทางอากาศอย่างรุนแรงในเมืองใหญ่ของจีน ประเทศจีนจึงมีความต้องการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งยืนยันได้จากการใช้พลังงานทดแทนของจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 22 ของการใช้พลังงานทดแทนของโลก

ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงทางพลังงาน ปัญหามลภาวะจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และความต้องการเป็นผู้นำของโลก จึงสรุปได้ว่า จีนมีความตั้งใจจะทำให้เกิดการปฏิวัติพลังงานทดแทนอย่างแท้จริง

คำถามต่อมา จีนมีศักยภาพเป็นผู้นำการปฏิวัติพลังงานทดแทนได้จริงหรือไม่?

รัฐบาลจีนมีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการใช้พลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลจากร้อยละ 11 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศในปี 2012 เป็นร้อยละ 15 ในปี 2020 และ ร้อยละ 20 ในปี 2030 และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 การบริโภคพลังงานทดแทนในประเทศจีนจะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ของการบริโภคพลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมดของจีน และร้อยละ 86 ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าของจีน

แต่ปัจจุบัน ประเทศจีนได้ขยายกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทะลุเป้าหมายของปี 2020 แล้ว โดยมีกำลังการผลิตสูงถึง 647 กิกะวัตต์ (เป้าหมายคือ 600 กิกะวัตต์) หรือประมาณร้อยละ 36 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของจีน  ทำให้จีนเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสูงที่สุดในโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั่วโลก

การเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทดแทนอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากการเร่งลงทุนของรัฐบาลจีนในการผลิตพลังงานทดแทน โดยจีนมีการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในประเทศมากกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งมากกว่าการลงทุนของสหรัฐฯและสหภาพยุโรปรวมกัน และมีการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในต่างประเทศมากกว่าทุกประเทศในโลก

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมีแผนการลงทุนในพลังงานทดแทนเป็นวงเงินมากกว่า 3.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จนถึงปี 2020  รวมทั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย ซึ่งจีนมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางการให้เงินกู้ และธนาคารเพื่อการพัฒนาของกลุ่ม BRICS ยังมีนโยบายให้เงินกู้ในโครงการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในวงเงินมหาศาล

ประเด็นสำคัญ คือ ประเทศจีนจะกลายเป็นแหล่งที่มาของเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน เนื่องจากบริษัทของจีนเป็นผู้นำในตลาดเทคโนโลยีพลังงานทดแทนของโลก อาทิ เป็น 5 ใน 6 ผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์ชั้นนำของโลก เป็น 5 บริษัทผู้ผลิตกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็น 6 ใน 10 บริษัทผลิตรถยนต์ที่มีแผนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า จีนยังเป็นผู้นำในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน รวมทั้งเป็นผู้นำด้านการลงทุนใน smart grid และเทคโนโลยีพลังงานทดแทนอื่นๆ

ปัจจุบัน เทคโนโลยีพลังงานทดแทนของจีนพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเทคโนโลยีโซล่าเซลล์ที่ผลิตโดยบริษัทของจีนมีต้นทุนต่ำกว่าเทคโนโลยีของสหรัฐฯประมาณร้อยละ 20 และเทคโนโลยีกังหันลมผลิตไฟฟ้าของจีนกำลังพัฒนาเข้าใกล้เทคโนโลยีชั้นแนวหน้าของโลกมากขึ้น

ด้วยแผนการลงทุนด้วยวงเงินมหาศาล และความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีพลังงานทดแทนของจีน จึงพอสรุปได้ว่า จีนมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นผู้นำการปฏิวัติพลังงานทดแทนของโลกได้

คำถามสุดท้าย การปฏิวัติพลังงานทดแทนจะส่งผลกระทบอย่างไร?

การที่จีน ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ เร่งขยายการลงทุนด้านพลังงานทดแทน โดยมีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการใช้พลังงานทดแทนภายในประเทศและต่างประเทศ จะส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานทดแทนมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากความประหยัดจากขนาด (economy of scale) การพัฒนาของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานทดแทนของโลก และการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนอย่างก้าวกระโดด

 เมื่อต้นทุนการใช้พลังงานทดแทนมีแนวโน้มลดลง จะส่งทำให้การใช้พลังงานทดแทนมีส่วนแบ่งเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้จีนตั้งเป้าหมายพึ่งพาตนเองได้ด้านพลังงานร้อยละ 80 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ หากจีนสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้จริง จะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เพราะความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะลดลง

การปฏิวัติพลังงานทดแทนจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภูมิรัฐศาสตร์และโครงสร้างเศรษฐกิจและการค้าของโลก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันจะเผชิญความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศที่เล็งเห็นอันตรายจากภัยคุกคามนี้ ต่างเร่งปฏิรูประบบเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน

อย่างไรก็ดี การปฏิวัติพลังงานทดแทนอาจยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตพลังงานทดแทนให้ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล  และให้สามารถผลิตได้มากเพียงพอกับความต้องการ รวมทั้งยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่มาทดแทนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า

เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ผลกระทบจากการปฏิวัติพลังงานทดแทนมีทั้งด้านบวกและลบ ด้านบวกคือการลดความไม่มั่นคงทางพลังงาน อันเกิดจากการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ แต่ในด้านลบอาจกลายเป็นการต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีพลังงานทดแทนจากจีนแทนการนำเข้าน้ำมัน

ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน หรือพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนของโลก ไม่เช่นนั้นแล้ว การปฏิวัติพลังงานทดแทนอาจเข้าทำนองที่ว่า ‘หนีเสือปะจระเข้’ และเป็นจระเข้ที่ตัวใหญ่มากเสียด้วย

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *